OUTLOOK:IN FOCUS
22 เมษายน 2019

In focus : มุมมองต่อสถานการณ์ ผลิตภาพแรงงานไทยในปัจจุบัน “ยังไม่แย่ แต่ไม่พอ และน่ากังวล”

กำลังแรงงานของไทยมีทิศทางลดลงต่อเนื่อง จากการที่ไทยเข้าสู่สังคมชราภาพ ซึ่งส่งผลให้อัตราการเติบโตตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทยมีทิศทางลดลงไปด้วย

iStock-659493016.jpg

มุมมองต่อสถานการณ์ ผลิตภาพแรงงานไทยในปัจจุบัน “ยังไม่แย่ แต่ไม่พอ และน่ากังวล”


จากการศึกษาพบว่า สถานการณ์ด้านผลิตภาพแรงงานช่วงปัจจุบัน “ยังไม่แย่” สะท้อนจากอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในช่วงปัจจุบัน (2011-2015) มีค่าใกล้เคียงกับในช่วงก่อนหน้า (2003-2007) อย่างไรก็ดี การเติบโตของผลิตภาพแรงงานยัง “ไม่พอ” เพราะยังไม่สามารถผลักดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยอีไอซีประเมินว่า หากไม่มีการปรับปรุงผลิตภาพแรงงานให้ดีขึ้น ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ปรับลดลง และต้องใช้เวลา 30 ปีหรือมากกว่าในการก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางกลายเป็นประเทศรายได้สูง (High-income country)


ข้อน่ากังวล
แม้ว่าสถานการณ์ผลิตภาพแรงงานในปัจจุบันจะยังไม่แย่ แต่ก็ยังมีข้อน่ากังวลหลายประการ ได้แก่


1) ระดับผลิตภาพแรงงานที่มีการคำนวณกันทั่วไปอาจเป็นค่าที่สูงเกินจริง เนื่องจากยังไม่ได้รวมผลของแรงงานต่างชาติในการคำนวณ – ในหลายงานศึกษาการคำนวณผลิตภาพแรงงานจะใช้เพียงจำนวนแรงงานไทยเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ตลาดแรงงานไทยพึ่งพาแรงงานต่างชาติมากพอสมควร (ข้อมูลเฉลี่ยปี 2011-2018 มีจำนวนแรงงานต่างชาติมากถึง 4% ของการจ้างงานทั้งหมด) โดยจากการศึกษาพบว่า หากรวมแรงงานต่างชาติในการจ้างงานรวม จะทำให้ผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนจะลดลงจาก 250,064 เป็น 240,253 บาทต่อคนต่อปี หรือ ลดลงถึง -4.1% นอกจากนี้ อัตราเติบโตของผลิตภาพแรงงานก็ลดลงเช่นเดียวกันโดยลดลงจาก 3.1% เป็น 2.8%

2) ผลรวมการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละสาขาการผลิตมีทิศทางลดลง – การเติบโตของผลิตภาพแรงงานสามารถแบ่งได้ 2 องค์ประกอบคือ (1) การเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละสาขาการผลิต (Within-sector productivity) และ (2) การเคลื่อนย้ายแรงงานจากสาขาที่มีผลิตภาพต่ำไปยังสาขาที่มีผลิตภาพสูง (Labor Relocation) โดยอีไอซีพบว่า ในช่วง 2011-2015 ผลิตภาพแรงงานส่วนใหญ่เติบโตจาก Labor Relocation เป็นสำคัญ ขณะที่ผลรวมการเติบโตของผลิตภาพแรงงานในแต่ละสาขาการผลิต (Within-sector productivity) มีทิศทางลดลง ซึ่งเป็นข้อน่ากังวลสำคัญ เนื่องจากเป็นการสะท้อนว่าในช่วงที่ผ่านมาแรงงานในแต่ละสาขาการผลิตไม่ได้มีการพัฒนาเท่าที่ควร และในระยะต่อไป แนวโน้มการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เป็นประโยชน์นั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก เช่น ปัญหาแรงงานมีทักษะต่ำ ทำให้ไม่สามารถย้ายสาขาที่ต้องใช้ทักษะสูงกว่าได้ รวมถึงทักษะแรงงานไม่ตรงกับความต้องการตลาด (skill mismatch) เป็นต้น ดังนั้นเมื่อไม่สามารถพึ่งพาการเคลื่อนย้ายแรงงานที่เป็นประโยชน์ได้ การเพิ่มผลิตภาพรายสาขาการผลิตจึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาผลิตภาพแรงงานของประเทศในระยะต่อไปโดยปริยาย

3) เศรษฐกิจไทยมีแรงงานที่มีผลิตภาพสูงเป็นส่วนน้อยของกำลังแรงงานทั้งหมด – จากการศึกษาพบว่าระดับผลิตภาพแรงงานของไทยมีค่าต่ำกว่าระดับผลิตภาพแรงงานของประเทศพัฒนาแล้วอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงไทย มีการกระจุกตัวของแรงงานที่ระดับผลิตภาพต่ำ ต่างกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ผลิตภาพแรงงานมีการกระจายตัวมากกว่า ทั้งนี้การที่ระบบเศรษฐกิจมีสัดส่วนแรงงานที่มีผลิตภาพต่ำเป็นจำนวนมาก นัยหนึ่งอาจสะท้อนได้ว่าระดับทักษะหรือการศึกษาของแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว แรงงานเหล่านี้ก็อาจจะปรับตัวไม่ทัน ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะต่อไป

4) ทรัพยากรแรงงานและทุนของไทยมีการจัดสรรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ – การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพหมายถึงการนำทรัพยากรไปให้กับสาขาการผลิตที่ใช้ทรัพยากรนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอีไอซีพบว่า เศรษฐกิจไทยจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพในหลายสาขา โดยหากพิจารณาด้านการจัดสรรทรัพยากรแรงงาน พบว่าแรงงานในภาคเกษตรมีมากเกินไป จึงควรมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตของภาคเกษตรให้มีการใช้แรงงานลดลง และแรงงานที่ออกจากภาคเกษตรควรไปกระจายอยู่ในสาขาการผลิตที่มีผลิตภาพดีกว่า เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคค้าส่งค้าปลีก และภาคขนส่งและคมนาคม ซึ่งจำเป็นต้องเน้นการปรับทักษะของแรงงานให้ตรงกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจใหม่ ขณะที่การจัดสรรด้านทรัพยากรทุนพบว่า ทุนในสาขาสาธารณูปโภคและสาขาขนส่งและโทรคมนาคมมีมากเกินไป สะท้อนว่าทั้งสองสาขามีประสิทธิภาพการใช้ทุนที่ต่ำกว่าสาขาอื่น ทั้งนี้หากสามารถจัดสรรทรัพยากรใหม่ให้มีความเหมาะสมตามประสิทธิภาพของแต่ละสาขาการผลิต จะทำให้ระดับ TFP เพิ่มขึ้นได้ทันทีถึง 20% โดยย่อมหมายถึงระดับ GDP ที่ดีขึ้น ซึ่งจะสามารถทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้เร็วมากกว่าเดิม

สาเหตุของการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดขึ้นได้จาก 1) นโยบายภาครัฐที่เน้นประคับประคองธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ โดยไม่มีการเพิ่มขีดความสามารถทางธุรกิจในระยะยาว ทำให้ธุรกิจมีลักษณะเป็น zombie ส่งผลให้ทรัพยากรไม่ได้รับการจัดสรรใหม่จากธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำไปยังธุรกิจที่มีผลิตภาพสูง รวมถึงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาหรือนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการผลิต 2) ภาคการเงินที่ยังไม่พัฒนา อาจทำให้การจัดสรรทรัพยากรทุนผ่านการให้กู้และการถือครองสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และ 3) ระดับการแข่งขันที่ต่ำ จะทำให้ภาคธุรกิจไม่จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด การเคลื่อนย้ายทรัพยากรเพื่อการพัฒนาขีดความสามารถจึงเกิดขึ้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แนวทางการเพิ่มผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคต


ระดับประเทศ
1) ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน – จากการศึกษาพบว่าไทยควรลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคน้ำและการขนส่งทางราง นอกจากนี้ ยังต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT อีกด้วย เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน

2) ปรับปรุงคุณภาพระบบการศึกษาและแก้ปัญหา skill mismatch ในตลาดแรงงาน – ควรปรับปรุงการศึกษาให้มีคุณภาพและสามารถนำไปใช้งานได้จริงมากขึ้น และควรผลิตนักศึกษาตามสายที่ตลาดแรงงานต้องการมากขึ้น
(demand-driven) เพื่อแก้ปัญหา skill mismatch ในตลาดแรงงานไทย

3) สร้างระดับการแข่งขันที่เหมาะสม – เนื่องจากการแข่งขันจะนำมาซึ่งการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ดังนั้นรัฐจึงควรลดการผูกขาดและส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมและเสรีมากขึ้น ซึ่งอาจรวมถึงการเพิ่มจำนวนการเปิดเสรีการแข่งขันจากภาคต่างประเทศ โดยควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้ทัน นอกจากนี้ ยังต้องมีการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

4) นโยบายช่วยเหลือธุรกิจผลิตภาพต่ำในระยะสั้น ควรใช้ควบคู่กับการส่งเสริมในระยะยาว – นโยบายช่วยเหลือระยะสั้นที่ให้กับภาคธุรกิจผลิตภาพต่ำ เช่น การพักหนี้เกษตรกร หรือการปล่อย soft loan ให้กับ SMEs จะนำมาซึ่งการกระจุกตัวของทรัพยากรในธุรกิจที่มีผลิตภาพต่ำ หากไม่มีนโยบายยกระดับคุณภาพของธุรกิจเหล่านั้นในระยะยาว เช่น การช่วยเหลือของภาครัฐผ่านเงินสนับสนุนหรือการให้คำปรึกษากับ SMEs เพื่อที่จะผลักดันให้ SMEs สามารถ
ยกระดับธุรกิจได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น

ระดับบริษัท
1) เพิ่มการลงทุนที่มีคุณภาพ – การลงทุนที่มีคุณภาพจะเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยตรง โดยนอกจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรปกติ (tangible asset) แล้ว ก็ยังจำเป็นต้องมีการลงทุนในระบบ ICT เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญต่อ R&D เนื่องจากจะเป็นกุญแจสำคัญของนวัตกรรมต่าง ๆ ของบริษัทในอนาคต

2) ฝึกอบรมแรงงานอย่างมีคุณภาพและสม่ำเสมอ – ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การฝึกอบรมแรงงานให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการทำงาน นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น และถือเป็นการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยตรง

3) เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานผ่าน data analytics – การวิเคราะห์ข้อมูล (data analytics) นอกจากจะสร้างโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น ผ่านการเสนอขายสินค้าได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย (customized product) แล้วนั้น ยังสามารถทำการลดต้นทุนผ่านการใช้ประโยชน์ของปัญญาประดิษฐ์ได้อีกด้วย เช่น การนำ chatbot มาใช้ตอบคำถามแทนพนักงาน เป็นต้น

Button-01.jpg




P84.jpg
Infographic2.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ