ส่องโมเดลการเกษตรสไตล์บราซิล … อีกหนึ่งความท้าทายและโอกาสที่ต้องจับตา
เมื่อเอ่ยถึงประเทศบราซิล เชื่อว่าสิ่งแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ หรือแม้แต่ประเทศซึ่งครองแชมป์บอลโลกหลายต่อหลายสมัย ในขณะที่บางคนอาจนึกถึงการได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี 2014 ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ … แต่สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากความเก่งกาจในเรื่องลีลาเตะบอลแล้ว บราซิลยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบเกษตรกรรมที่มีความก้าวหน้าและโดดเด่น รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญและอำนาจต่อรองในเวทีสินค้าเกษตรโลกสูงอีกด้วย
ผู้เขียน: โชติกา ชุ่มมี
เมื่อเอ่ยถึงประเทศบราซิล เชื่อว่าสิ่งแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง คงหนีไม่พ้นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาใต้ หรือแม้แต่ประเทศซึ่งครองแชมป์บอลโลกหลายต่อหลายสมัย ในขณะที่บางคนอาจนึกถึงการได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี 2014 ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ... แต่สิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือไปจากความเก่งกาจในเรื่องลีลาเตะบอลแล้ว บราซิลยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีระบบเกษตรกรรมที่มีความก้าวหน้าและโดดเด่น รวมทั้งยังมีบทบาทสำคัญและอำนาจต่อรองในเวทีสินค้าเกษตรโลกสูงอีกด้วย
ปัจจุบันบราซิลเป็นหนึ่งในประเทศที่มีภาคเกษตรใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนการค้าสินค้าเกษตรคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของการค้าสินค้าเกษตรทั่วโลก ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะโดยพื้นฐานแล้ว บราซิลจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านการเกษตรค่อนข้างสูง เนื่องจากมีพื้นที่ที่มีศักยภาพสำหรับทำเกษตรกรรมที่มากถึงราว 2,500 ล้านไร่ โดยพบว่าปัจจุบันยังมีการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพียงแค่ 425 ล้านไร่ หรือราว 17% เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึงช่องว่างในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้อีกมากในอนาคต นอกจากนี้ บราซิลยังมีปริมาณน้ำฝนที่มากเพียงพอต่อการเพาะปลูก แถมส่วนใหญ่ยังตกในบริเวณพื้นที่ทำการเกษตรอีกด้วย ซึ่งความได้เปรียบดังกล่าวนี้ ทำให้ผลผลิตของอุตสาหกรรมด้านการเกษตรของบราซิลมีปริมาณมากเพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงประชากรในประเทศ และเหลือส่งออกเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่หลายๆ ประเทศต่างอดอิจฉาไม่ได้
โดยในช่วง 30 ปีมานี้ บราซิลได้พัฒนาตัวเองจากการเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าอาหารให้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลก ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้บราซิลสามารถก้าวกระโดดและประสบความสำเร็จอย่างงดงามในภาคเกษตรกรรมคือ "ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" โดยบราซิลจัดเป็นประเทศที่ใช้ประโยชน์จาก biotechnology อย่างค่อนข้างเข้มข้น ทั้งในแง่การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรม ผ่านการปรับปรุงคุณภาพดิน (soil management) โดยบราซิลสามารถเปลี่ยนพื้นที่ภูมิประเทศแบบทุ่งหญ้า (grasslands) ซึ่งมีอยู่มากมายในประเทศให้กลายมาเป็นพื้นที่เพาะปลูก จนทำให้ทุกวันนี้พื้นที่แถบทุ่งหญ้าในบราซิลได้กลายมาเป็นพื้นที่ทำการเกษตรราว 70% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดที่มีอยู่ หรือแม้แต่การใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์พืชด้วยวิธีตัดแต่งทางพันธุกรรม หรือ GMOs เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (yield) และลดการใช้ยาฆ่าแมลง จนทำให้ปัจจุบันนี้บราซิลกลายเป็นประเทศที่มีผลผลิตทางการเกษตรจาก GMOs มากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ โดยพบว่ามากถึงราว 230 ล้านไร่ หรือ 54% ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดในบราซิลถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืช GMOs โดยเฉพาะ ซึ่งด้วยความก้าวหน้าดังกล่าวนี้ ส่งผลให้บราซิลสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรชั้นนำของโลกหลากหลายชนิด
หนึ่งในตัวอย่างซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จอย่างงดงาม คือ การวิจัยและพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์อ้อยให้มีผลผลิตสูงและต้านทานต่อโรคพืชได้ดี โดยกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตน้ำตาลของบราซิลได้ร่วมมือกันและประสบผลสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์อ้อยเพื่อให้ใช้ในเชิงพาณิชย์ได้มากถึง 500 สายพันธุ์ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะภูมิอากาศในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ละโรงงานสามารถใช้พันธุ์อ้อยถึง 15 สายพันธุ์ในการผลิตน้ำตาลและเอทานอล มีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมการให้น้ำในการเพาะปลูก ควบคุมระยะห่างของต้นอ้อย และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด นอกจากนี้ บราซิลยังมีการออกแบบและพัฒนากระบวนการแปรรูปจากอ้อยให้เป็นน้ำตาลและเอทานอลอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยการใช้คอมพิวเตอร์อีกด้วย เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตสูงสุดและให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุดอีกด้วย จนทำให้บราซิลกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน
นอกจากเทคโนโลยีด้านเกษตรกรรมที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยแล้ว รัฐบาลบราซิลยังมีนโยบายสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่องอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านการเกษตร ผ่านโครงการจัดโซนนิ่งการเพาะปลูกตามความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ (agricultural zoning of climatic risk) การประกันภัยด้านการเกษตร ซึ่งจะดำเนินการคล้ายการทำประกันภัยกับบริษัทเอกชน แต่มีรัฐบาลเป็นผู้รับประกัน โดยเกษตรกรจะจ่ายเบี้ยประกันเพื่อประกันค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการผลิตและเพาะปลูกในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ โรคระบาดพืช รวมทั้งความเสียหายแก่ทรัพย์สินของเกษตรกร รวมทั้งโครงการสินเชื่อชนบท ซึ่งประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อการผลิต สำหรับเป็นต้นทุนในการเพาะปลูก 2) สินเชื่อเพื่อการลงทุน เพื่อใช้ซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการเกษตรที่ถาวรและใช้ระยะเวลานานในการคืนทุน และ 3) สินเชื่อเพื่อการตลาด เพื่อเป็นหลักประกันว่าเกษตรกรและสหกรณ์ต่างๆ จะมีทรัพยากรเพียงพอในการเก็บรักษาผลผลิตในกรณีที่ราคาพืชผลตกต่ำ ซึ่งเกษตรกรและสหกรณ์การเกษตรต่างๆ สามารถกู้ยืมสินเชื่อทั้ง 3 ประเภทได้พร้อมกัน หรือแม้แต่การประกันรายได้เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง และลดความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรในประเทศ ซึ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐในการช่วยสนับสนุนให้เกษตรกรบราซิลมีผลผลิตสูงและแข่งขันในตลาดโลกได้
ขณะเดียวกัน เม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) คือ อีกหนึ่งแรงเสริมสำคัญซึ่งมีส่วนช่วยให้อุตสาหกรรมการเกษตรของบราซิลเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ศักยภาพด้านการเกษตรของบราซิล ทั้งในเรื่องความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ความอุดมสมบูรณ์และหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ ตลาดภายในประเทศที่มีขนาดใหญ่ รวมทั้งแนวพรมแดนที่เชื่อมต่อกับเกือบทุกประเทศในแถบลาตินอเมริกา คือ แม่เหล็กอันทรงพลังที่ช่วยดึงดูดให้มีการลงทุนด้านการเกษตรในบราซิลในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่จำนวนมากจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในดินแดนแห่งนี้ และได้นำพาความรู้และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมทางการเกษตรติดไม้ติดมือเข้าไปด้วย ซึ่งช่องทางนี้เปรียบเสมือนทางลัดที่ช่วยให้ภาคเกษตรกรรมของบราซิลเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งยังทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เครื่องจักรกลทางการเกษตร เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นตามไปด้วย
ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จและศักยภาพในการพัฒนาภาคเกษตรของบราซิลได้เป็นอย่างดี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในโมเดลต้นแบบที่ประเทศเกษตรกรรมอย่างไทยควรเรียนรู้และนำมาปรับใช้ในการยกระดับภาคการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตต่อไป นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยซึ่งมีศักยภาพและความพร้อมด้านเงินทุน ก็อาจพิจารณาเข้าไปร่วมลงทุนกับบราซิลในลักษณะ joint venture โดยอาศัยความรู้ความชำนาญในการแปรรูปสินค้าเกษตรที่เรามีอยู่เป็นใบเบิกทางที่ดีในการเข้าสู่ตลาดบราซิล ซึ่งเรามองว่ายังเป็นช่องว่างที่ไทยมีความได้เปรียบอยู่ค่อนข้างมากในปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งจากโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศที่ไม่เพียงพอ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าจ้างแรงงาน หรือแม้แต่แรงกดดันและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้นทุกขณะ ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องคำนึงถึง หากคิดจะเข้าไปแสวงโชคในดินแดนแซมบ้าแห่งนี้