SHARE
SCB EIC ARTICLE
27 มีนาคม 2013

ปรับโฟกัสการค้าชายแดนไทย … โอกาสหรือความท้าทาย?

กว่า 80% ของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในรูปการค้าชายแดน หรือ “Border trade” โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่า (CLM) และมาเลเซีย มีมูลค่ารวมกันกว่า 9 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 30% จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า!

ผู้เขียน: SCB Economic Intelligence Center (EIC)

 145832270.jpg

ปรับโฟกัสการค้าชายแดนไทย ... โอกาสหรือความท้าทาย?

กว่า 80 % ของธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในรูปการค้าชายแดน หรือ "Border trade" โดยในปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่า (CLM) และมาเลเซีย มีมูลค่ารวมกันกว่า 9 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 30% จากช่วง 5 ปีก่อนหน้า ! 

พม่า ... ตลาดค้าชายแดนที่กำลังมาแรงและเนื้อหอมที่สุดในเวลานี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด "พม่า" ดูเหมือนจะเป็นประเทศที่มีเส้นทางการเติบโตที่ค่อนข้างโดดเด่นและน่าจับตามองมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการปฏิรูปทางการเมืองและการพลิกโฉมประเทศในหลากหลายมิตินับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการเปิดประเทศของพม่าในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสทองสำหรับประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งอย่างไทยในการเข้าไปเปิดเกมรุกและขยายตลาดการค้าชายแดนในพม่า

"แม่สอด-เมียวดี"  เขตเศรษฐกิจพิเศษคู่ขนานที่ต้องจับตา หากไม่นับรวมมูลค่าการค้าที่ผ่านด่านศุลกากรด้านจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากพม่าแล้ว จะพบว่าด่านแม่สอด จังหวัดตาก นับเป็นช่องทางการค้าที่มีความสำคัญที่สุดระหว่างไทยกับพม่า เพราะเชื่อมต่อโดยตรงกับเมืองเมียวดีซึ่งเป็นเมืองชายแดนที่สำคัญและเป็นจุดกระจายสินค้าหลักทางภาคตะวันออกของพม่า รวมทั้งยังมีการขยายตัวของชุมชนเมืองที่ค่อนข้างรวดเร็ว โดยในปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนที่ผ่านด่านแห่งนี้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 80% จากปีก่อนหน้า และมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 40,000 ล้านบาท โดยได้รับปัจจัยหนุนจากแผนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในอำเภอแม่สอด เพื่อสอดรับกับการพัฒนาและจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดี (Myawaddy Special Economic Zone) ในรัฐกะเหรี่ยงของพม่าที่คาดว่าจะพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2015

ยิ่งไปกว่านั้น อำเภอแม่สอด ยังมีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาค เนื่องจากเป็นเส้นทางที่อยู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก หรือ East-West Economic Corridor (EWEC) และเป็นเมืองหน้าด่านที่เป็นประตูสู่อันดามันอีกด้วย เส้นทางนี้จึงถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเส้นทางการค้าสำคัญในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภูมิภาคนี้ผ่านไปยังทวีปยุโรปและตะวันออกกลาง สะท้อนได้จากราคาที่ดินในพื้นที่บริเวณอำเภอแม่สอดที่พุ่งขึ้นหลายเท่าตัวและมีความคึกคักมากขึ้นเป็นพิเศษ โดยปัจจุบันพบว่า มีบริษัทเอกชนของไทยบางรายได้เข้าไปเปิดศูนย์ฝึกอบรมแรงงานพม่าที่อำเภอแม่สอด เพื่อรองรับการเปิดธุรกิจคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และการให้บริการด้านโลจิสติกส์ เพื่อเชื่อมต่อกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฝั่งเมียวดีแล้ว

คำถามต่อมาคือ ... แล้วตลาดค้าชายแดนพม่าจะเติบโตร้อนแรงต่อไปได้อีกนานแค่ไหน? แม้ว่าห้วงเวลานี้จะเรียกได้ว่าเป็น "จังหวะทอง" ในการค้าชายแดนกับพม่าก็ตาม แต่เราเชื่อว่าในอีกราว 3-4 ปีต่อจากนี้ เมื่อนโยบายของรัฐบาลพม่า รวมไปถึงกฎระเบียบต่างๆ มีความชัดเจนและโปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ภายในพม่ามีความพร้อมและเอื้อต่อการลงทุนมากขึ้น เราน่าจะเริ่มเห็นกระแสการย้ายฐานการผลิตของผู้ประกอบการไทยไปยังฝั่งพม่ามากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และแรงงานราคาถูกในพม่า ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนคือ แผนการลงทุนและขยายตลาดของบริษัทในเครือสหพัฒน์ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งโรงงานผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งอาหาร บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เสื้อผ้า รวมทั้งเครื่องสำอาง กว่า 100 โรงงาน เพื่อรองรับโอกาสและความต้องการของผู้บริโภคในพม่าที่กำลังเติบโตตามการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองและความเจริญต่างๆ ที่กำลังผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมทั้งเพื่อเป็นฐานการผลิตสำคัญเพื่อป้อนตลาดนอกภูมิภาคอีกด้วย ซึ่งหากภาพเหล่านี้เกิดขึ้นจริง ก็มีความเป็นไปได้ที่เราอาจจะเห็นปริมาณและมูลค่าการค้าชายแดนไทย-พม่า ที่เริ่มลดความร้อนแรงลง


นอกจากโอกาสในพม่าแล้ว "ลาว"... คืออีกหนึ่งตลาดที่ยังมีช่องว่างทางการค้าให้เติบโตได้อีกมาก  เพราะนอกจากจะเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของกลุ่มอาเซียนแล้ว ลาวยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนการของประชากรเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 22% ในช่วง 10 ปีก่อน มาอยู่ที่ราว 34% ในปัจจุบัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในลาวที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งย่อมมาพร้อมกับความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ ที่มีความทันสมัยและตอบสนองกับวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปสู่ความทันสมัยและมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น

นอกจากนี้ รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากร (GDP per capita) ของคนลาวยังปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่ม CLM อีกด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบัน GDP per capita ของลาวได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 2,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีแล้ว เทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่เพียงราว 1,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีเท่านั้น ซึ่ง IMF ประเมินว่า ภายในอีก 5 ปีนับจากนี้ ลาวจะหลุดพ้นจากการถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Lower-middle income และก้าวขึ้นมาเทียบชั้นกับไทยในกลุ่ม Upper-middle income class ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางในลาวที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงกำลังซื้อและอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่างๆ ที่มากขึ้นตามไปด้วย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ "คนลาวกำลังรวยขึ้น" นั่นเอง และนี่คือสิ่งที่นักธุรกิจไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เพื่อคว้าโอกาสก้อนโตจากตลาดที่กำลังเติบโตและมีอนาคตแห่งนี้ 

Chart: หากเปรียบเทียบเฉพาะกลุ่มประเทศ CLM ...จะพบว่า "ลาว" เป็นประเทศที่มี GDP per capita และสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรเมืองเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่ม

 32-1.png

32-2.png

เช่นเดียวกับการค้าชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาก็มีแนวโน้มเติบโตดีเช่นเดียวกัน โดยพบว่าช่องทางการค้าที่สำคัญและมีสัดส่วนของมูลค่าการค้าชายแดนสูงที่สุดคือ "ตลาดโรงเกลือ" อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเชื่อมต่อกับด่านปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของกัมพูชา ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของทั้งสองประเทศยังมีการขยายกรอบความร่วมมือและเร่งพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมระหว่างประเทศให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างกัน โดยตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 30% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2012 - 2015 ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสและความน่า สนใจให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจค้าชายแดนในบริเวณนี้ 

และต้องไม่ลืม "มาเลเซีย" คู่ค้าที่สำคัญที่สุดตลอดกาลของไทย ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด และมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าที่ค่อนข้างเสรีมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยการค้าชายแดนกับประเทศมาเลเซียเกือบทั้งหมดคือ มากถึงราว 98% เป็นการค้าผ่านด่านศุลกากรสะเดาและด่านปาดังเบซาร์ ในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ด่านสะเดา หรือ "ด่านนอก" ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความน่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ รวมทั้งยังเป็นจุดผ่านแดนที่มีชาวมาเลเซียเดินทางเข้า-ออก จำนวนมากในแต่ละวัน ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยกำลังอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาและปรับปรุงด่านศุลกากรสะเดาใหม่ เพื่อให้เป็นด่านต้นแบบและพื้นที่นำร่องในการให้บริการด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อรองรับปริมาณการค้าที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ภายหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในปี 2015 ซึ่งนั่นอาจหมายถึงยุคทองของการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้  

... ไทยจึงควรใช้โอกาสจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ในการขยายธุรกิจและรุกตลาดการค้าชายแดนที่กำลังเติบโตเหล่านี้ โดยควรเริ่มมองหาโอกาสและลู่ทางตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่คู่แข่งจากชาติอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติตะวันตกจะเข้ามาเปิดเกมรุกและแย่งชิงส่วนแบ่งเค้กแข่งกับเรา 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ