SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 ตุลาคม 2012

ค้าชายแดน…โอกาสใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าเสรีมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาการของกรอบความร่วมมือและความตกลงทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มอนุภูมิภาค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประโยชน์ที่เกิดจากการค้าชายแดนนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความใกล้ชิดและความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center

  31-1.jpg

 
ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศมีอัตราการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้มีการปรับเปลี่ยนมาดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าเสรีมากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาการของกรอบความร่วมมือและความตกลงทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในกลุ่มอนุภูมิภาค ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยส่งเสริมให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประโยชน์ที่เกิดจากการค้าชายแดนนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณชายแดนเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความใกล้ชิดและความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ มากขึ้นอีกด้วย

ราว 80% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในรูปการค้าชายแดน (Border trade) โดยพบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนของมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากถึงเกือบ 20% (YOY) ทั้งนี้ แม้ว่าการค้าชายแดนจะมีสัดส่วนเพียงแค่ราว 3-5% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย แต่หากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับไทยทั้ง 4 ประเทศคือ กัมพูชา ลาว พม่า (CLM) และมาเลเซียแล้วพบว่า มากถึงราว 80% ของธุรกรรมทางการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดอยู่ในรูปของ Border trade ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันซึ่งมีมูลค่าไม่สูงมากนัก เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตรบางชนิด และสินค้าที่หาได้จากธรรมชาติ เป็นต้น โดยพบว่าปัจจุบันไทยมีจุดการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา ทั้งในส่วนของจุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว และจุดผ่อนปรนทางการค้า รวมแล้วกว่า 70 จุด ซึ่งกระจายตัวอยู่ในกว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศ

31-2.jpg

 โดยพบว่าในบรรดาประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งหมด "มาเลเซีย" คือประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของไทย โดยมีสัดส่วนการค้ามากถึงกว่า 2 ใน 3 ของมูลค่าการค้าชายแดนรวม ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาเลเซียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด และมีการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจและการค้าที่เสรีมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยพบว่าการค้าชายแดนเกือบทั้งหมดคือ มากถึงราว 98% เป็นการค้าผ่านด่านศุลกากรสะเดาและปาดังเบซาร์ ในจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด่านสะเดา หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ด่านนอก" ซึ่งปัจจุบันได้กลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีความน่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานประกอบการธุรกิจหลายหลายประเภท โดยเฉพาะสถานบันเทิงเริงรมย์ต่างๆ ทำให้ในแต่ละวันมีชาวมาเลเซียเดินทางเข้า-ออกด่านแห่งนี้จำนวนมากถึงวันละหลายพันถึงหลักหมื่นคน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลไทยกำลังเตรียมพัฒนาด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่และปรับปรุงด่านสะเดาเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาให้เป็นด่านต้นแบบในการให้บริการด้านเศรษฐกิจการค้าชายแดนอย่างเต็มรูปแบบซึ่งมีความทันสมัย รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะมีปริมาณการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นมาก 

รูปที่2 จุดการค้าชายแดนสำคัญระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ

31-3.jpg
คลิกเพื่อขยายภาพ

ที่มา: ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะประเทศในกลุ่ม CLM พบว่า "พม่า" เป็นตลาดค้าชายแดนที่มีลู่ทางสดใสและมีศักยภาพในการเติบโตสูงสุด โดยพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่ามีมูลค่าเฉลี่ยมากถึงกว่าปีละแสนล้านบาท ซึ่งนับว่ามากที่สุดในกลุ่ม CLM ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดต่อกันยาวถึงกว่า 2,400 กิโลเมตร ที่ช่วยเอื้อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างประชาชนตามแนวชายแดนทั้ง 2 ประเทศได้ค่อนข้างสะดวก สำหรับช่องทางการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญที่สุดคือ ด่านแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งมีปริมาณการค้าราว 50% ของมูลค่าการค้าชายแดนทั้งหมด โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การค้าชายแดนผ่านด่านศุลกากรแม่สอด-เมียวดี มีมูลค่าสูงถึงเกือบ 20,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงราว 90% (YOY) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเติบโตด้านเศรษฐกิจของพม่าที่เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะนโยบายของรัฐบาลพม่าที่ต้องการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีและเปิดรับกับโลกภายนอกมาก

การเปลี่ยนแปลงในพม่า นับเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับไทยในการขยายช่องทาง การค้า ไปยังตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึงร่วม 60 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยที่จำเป็นในชีวิตประจำวันซึ่งเป็นที่ต้องการและได้รับความนิยมอย่างมาก เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวพม่ามีความเชื่อมั่นในตราสัญลักษณ์และคุณภาพของสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว กอปรกับปัจจุบันพม่ายังไม่สามารถผลิตสินค้าเหล่านี้ได้มากเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้างซึ่งมีการขยายตัวอย่างโดดเด่นนับตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาจากอานิสงส์ของการเปิดประเทศและเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคภายในประเทศของพม่า ซึ่งน่าจะช่วยเกื้อหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในพม่ามีความคึกคักมากขึ้น หรือแม้แต่ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือยและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ในชีวิต เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้าน อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความสวยความงามและการดูแลสุขภาพที่มีแนวโน้มเติบโตดี ตามพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและกำลังซื้อของชาวพม่าที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายช่องทางการค้าชายแดนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการในตลาดพม่าที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

รูปที่3 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLM ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าในกลุ่มอุปโภคบริโภค ยกเว้นเพียงมาลเซียที่ราว 60% เป็นการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นอย่างยางพาราและผลิตภัณฑ์

 31-4.jpg

ที่มา: ข้อมูลจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

นอกจากนี้ จุดผ่านแดนชั่วคราวบ้านพุน้ำร้อน และด่านระนอง -เกาะสอง ก็เป็นอีกเส้นทางการค้าที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง เพราะในอนาคตพื้นที่ชายแดนบริเวณนี้จะมีบทบาทและความสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้นทุกขณะในฐานะประตูเชื่อมโยงเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างไทยกับพม่าและประเทศอื่นๆ ในอ่าวเบงกอล โดยเฉพาะช่องทางบ้านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี ซึ่งถือเป็นจุดผ่านแดนที่น่าสนใจที่สุดในขณะนี้ เนื่องจากมีชายแดนที่อยู่ใกล้ท่าเรือน้ำลึกทวายมากที่สุด นอกจากนี้ ปัจจุบันรัฐบาลไทยยังกำลังอยู่ระหว่างการผลักดันให้กาญจนบุรีเป็นศูนย์กลางภาคตะวันตกและพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดชายแดนแห่งแรกของไทย เพื่อเชื่อมโยงกับโครงการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกทวายในประเทศพม่ารองรับการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ในอาเซียน เช่นเดียวกับด่านศุลกากรระนองที่กำลังจะกลายเป็นจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสำคัญของภูมิภาค เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากท่าเรือระนองในการเป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าส่งออก-นำเข้าในอ่าวเบงกอล ซึ่งในที่สุดจะทำให้ทั้งกาญจนบุรีและระนองกลายเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญในการติดต่อค้าขายและการลงทุนภายในภูมิภาคนี้ รวมทั้งจะมีผลให้มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทย-พม่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากในอนาคต

ในขณะเดียวกัน โอกาสทางการค้าชายแดนกับลาวที่ยังมีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันการค้าชายแดนระหว่างไทย-ลาว จะยังมีมูลค่าไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ แต่หากดูจากแนวโน้มการเติบโตจะพบว่า ลาวเป็นตลาดเพื่อนบ้านที่มีความน่าสนใจและยังมีโอกาสทางการค้าชายแดนอีกมาก สะท้อนได้จากมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับลาวในปีที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวสูงถึงกว่า 27% (YOY) ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของลาวและมีส่วนแบ่งตลาดมากถึง 45% เพราะชาวลาวส่วนใหญ่นิยมใช้สินค้าไทยและมีการรับรู้ต่อตราสินค้า (Brand recognition) ของไทยค่อนข้างสูง เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดี โดยพบว่าราว 60% เป็นการค้าผ่านด่านศุลกากรจังหวัดหนองคาย ซึ่งถือเป็นด่านที่มีความเชื่อมโยงและเข้าถึงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของลาวคือ นครหลวงเวียงจันทน์โดยตรง

ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ไทยหลายรายที่เริ่มเข้าไปบุกตลาดและขยายธุรกิจในลาวแล้ว เพื่อตอบสนองกับวิถีชีวิตและการใช้จ่ายของคนลาวที่กำลังเริ่มเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัยและมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน การซื้ออาหารสำเร็จรูปแทนอาหารสด สินค้าแฟชั่น รวมทั้งอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ผ่านสื่อไทย ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และสิ่งพิมพ์ จึงทำให้ชาวลาวมีค่านิยมในการบริโภคสินค้าและบริการที่คล้ายคลึงกับคนไทย และช่วยให้ผู้ประกอบการไทยทำการตลาดในลาวได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันสินค้าซึ่งน่าจะเป็นที่ต้องการของตลาดลาวมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและกำลังซื้อของคนลาวที่เพิ่มสูงขึ้นคือ สินค้าฟุ่มเฟือยประเภทรถยนต์ บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในการหาช่องทางการค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกในตลาดลาวต่อไป

นอกจากโอกาสในการบุกตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคแล้ว ภาคบริการเองก็มีโอกาสสูงในลาวเช่นเดียวกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ การเปิดสถานบริการด้านความงามและการดูแลรักษาผิวพรรณอย่างวุฒิ-ศักดิ์คลินิก ซึ่งได้เข้าไปเปิดสาขาแรกในลาวเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มลูกค้าระดับกลางในลาวที่กำลังมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ปัจจุบันวุฒิ-ศักดิ์คลินิกมีสาขาในลาวรวมทั้งสิ้น 3 แห่งแล้วคือที่ เวียงจันทน์ ปากเซ และหลวงพระบาง สะท้อนให้เห็นว่า ธุรกิจที่มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงในลาวนั้นจะต้องมีแบรนด์ที่ชัดเจน รวมทั้งมีรูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business model) และกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมด้วย ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยมองเห็นโอกาสและช่องทางในการ
ทำธุรกิจเหล่านี้ก็สามารถประสบความสำเร็จในลาวได้ไม่ยาก

เช่นเดียวกับการค้าชายแดนระหว่างไทย -กัมพูชาที่มีแนวโน้มเติบโตดี โดยได้รับปัจจัยหนุนจากความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เริ่มคลี่คลายดีขึ้นเป็นลำดับ หลังจากที่มีการถอนทหารทั้งสองฝ่ายออกจากพื้นที่พิพาทบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนภาวะการค้าตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ให้ขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศได้ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้นเฉลี่ย 30% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2012 - 2015  โดยพบว่าช่องทางการค้าที่สำคัญที่สุดและมีสัดส่วนของมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดคือ "ตลาดโรงเกลือ" ที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้วที่เชื่อมต่อกับด่านปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนเจย ซึ่งถือเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของกัมพูชา ทั้งนี้ นอกจากตลาดโรงเกลือจะเป็นจุดการค้าสำคัญและเป็นแหล่งรวบรวมสินค้านานาชนิดทั้งจากไทยและกัมพูชาแล้ว ยังเป็นแหล่งเพิ่มพูนรายได้และสร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดสระแก้วอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลทั้งสองประเทศยังมีการขยายกรอบความร่วมมือและเร่งพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมระหว่างประเทศให้มีความสะดวกมากยิ่งขึ้น รวมทั้งความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสและความน่าสนใจให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจค้าชายแดนในบริเวณนี้ 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องคำนึงถึงควบคู่กันไปด้วยคือ ข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความไม่สงบตามแนวชายแดนซึ่งอาจนำไปสู่การปิดจุดผ่านแดนบ่อยครั้ง หรือแม้แต่อุปสรรคที่เกิดจากกฎระเบียบและขั้นตอนการชำระเงิน ปัญหาด้านการขนส่งสินค้าและ่เกิดจากตามการบริหารจัดการด่าน ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นความเสี่ยงและความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญและเตรียมพร้อมรับมือ แต่อย่างไรก็ดี ไทยควรใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ในการขยายธุรกิจและรุกตลาดที่กำลังเติบโต โดยควรเริ่มมองหาโอกาสและลู่ทางตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่คู่แข่งจากชาติอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาติตะวันตกจะเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งเค้กในประเทศเหล่านี้ ซึ่งเราเชื่อว่าการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในอีกไม่ถึง 3 ปีข้างหน้าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่มีส่วนช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและส่งเสริมให้เกิดการกระชับความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นอย่างแน่นอน และนั่นย่อมหมายถึงโอกาสทางธุรกิจใกล้ตัวที่ผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้าม! 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ