SHARE
SCB EIC ARTICLE
20 กันยายน 2012

Insight “พม่า” ก่อนเดินหน้าปักธงลงทุน

จากการเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อจีนและอินเดีย ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนตลาดบริโภคขนาดใหญ่และแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ทำให้ "พม่า" เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง แต่นโยบายปิดประเทศภายหลังความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและการถูกคว่ำบาตรได้ทำให้ช่องทางธุรกิจของชาวต่างชาติมีจำกัด

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center

29-1.jpg


การเปลี่ยนแปลงเชิงบวกย้ำให้เห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในพม่า

จากการเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมต่อจีนและอินเดีย ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนตลาดบริโภคขนาดใหญ่และแรงงานราคาถูกจำนวนมาก ทำให้ "พม่า" เป็นประเทศที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง  แต่นโยบายปิดประเทศภายหลังความล้มเหลวทางเศรษฐกิจและการถูกคว่ำบาตรได้ทำให้ช่องทางธุรกิจของชาวต่างชาติมีจำกัด  

ดังนั้น การกลับมาเปิดประเทศอีกครั้งเมื่อต้นปี 2011 ทำให้พม่าได้กลายเป็นจุดสนใจของนักธุรกิจทั่วโลก โดยการเดินหน้าแก้ไขกฎหมายการค้าการลงทุนให้เอื้อต่อธุรกิจต่างชาติมากขึ้น รวมถึงการมุ่งหน้าปฏิรูปประเทศควบคู่ไปด้วยนั้น นอกจากจะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของพม่าแล้ว ยังช่วยฉายภาพลักษณ์เชิงบวกสู่สายตาประชาคมโลก และทำให้การคว่ำบาตรต่อพม่าได้รับการผ่อนปรนอย่างเป็นรูปธรรม จนพม่าอาจกลายเป็นจุดหมายของการลงทุนอันดับต้นๆ ของโลกในไม่ช้า

พม่าคือเสือตัวใหม่ของเอเชีย ?

แนวโน้มการค้าการลงทุนที่จะร้อนแรงมากขึ้นส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจพม่าและผลักดันให้ประเทศมีโอกาสก้าวสู่การเป็นเสือตัวใหม่ของเอเชียในอนาคต  เห็นได้ชัดจากประมาณการอัตราการเติบโตของพม่าสำหรับช่วงปี 2012-2015 ที่จัดทำขึ้นโดย IMF นั้น มีการปรับตัวเลขสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีการปฏิรูปประเทศ  จากเดิมเมื่อปลายปี 2010 ที่ IMF เคยประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ของพม่าไว้ที่ประมาณ 5% สำหรับช่วงปี 2012-2015 นั้น ทาง IMF ได้ปรับขึ้นเป็น 5.5-5.7% ในการประมาณการเมื่อปลายปี 2011 และล่าสุดปรับขึ้นอีกครั้งอยู่ที่ 6.0-6.2% เมื่อเดือนเมษายน 2012 ที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศอื่นในอาเซียนถูกปรับลดอัตราการเติบโตของ GDP ลงเกือบทั้งหมดจากผลพวงเศรษฐกิจโลกซบเซาที่มีแนวโน้มเรื้อรัง 

ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจนี้เองจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงความสำเร็จของนโยบายเปิดประเทศที่จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับรัฐบาลในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปในเชิงบวก ในส่วนนักลงทุนต่างชาติก็จะมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของธุรกิจที่ได้ลงทุนไปแล้วมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ความมั่งคั่งของประชากรจากการเติบโตของเศรษฐกิจจะส่งผลให้พม่ากลายเป็นกำลังบริโภคที่สำคัญของภูมิภาคในอนาคต หากรายได้ต่อประชากรของพม่าสามารถเติบโตขึ้นเป็น 3 เท่าในราว 10-15 ปีข้างหน้า ก็จะเทียบเท่าได้กับประเทศฟิลิปปินส์ในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบความต้องการของผู้บริโภคระหว่างสองประเทศแล้วนั้น ก็หมายถึงความสามารถในการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นอีก 1.5 ล้านคัน อินเทอร์เน็ตบรอดแบรนด์เพิ่มอีก 1 ล้านจุด และการใช้ไฟฟ้าต่อคนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6 เท่าตัว เป็นต้น

นักธุรกิจไทยควรเริ่มต้นที่การค้าชายแดน

ในการทำธุรกิจกับพม่านั้น  ไทยมีข้อได้เปรียบชาติอื่นหลายประการโดยเฉพาะความคล้ายคลึงกันทางศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณี แต่เราก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะภายหลังการปลดล็อคการคว่ำบาตรและเมื่อกฎหมายลงทุนได้รับการแก้ไขเสร็จสมบูรณ์แล้ว อาจเกิดการไหลทะลักของนักลงทุนตะวันตก และทำให้การแข่งขันดุเดือดมากขึ้น  โดยไทยควรเริ่มต้นที่การทำการค้าชายแดนที่เรามีความถนัด เนื่องจากไทยได้ประโยชน์จากแนวพรมแดนยาวร่วม 2,000 กิโลเมตร และด่านศุลกากรมากกว่า 10 ด่าน ประกอบกับองค์ความรู้ท้องถิ่น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การค้าชายแดนไทย-พม่ามีความเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด (มีมูลค่ากว่า 90% ของการค้าไทย-พม่าทั้งหมด)

การค้าชายแดนเป็นธุรกิจที่ไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องอาศัยระบบธนาคาร และความเสี่ยงสิ้นสุดลงเมื่อสินค้าเปลี่ยนมือ และการที่รัฐบาลไทย-พม่าร่วมมือกันพัฒนาระบบขนส่งภายในเพื่อเชื่อมโยงตลาดและฐานการผลิต (อาทิ เส้นทางทวาย-แหลมฉบัง) ก็จะเป็นตัวแปรที่เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการตื่นตัวของภาคเอกชนในการสร้างแหล่งความรู้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับนักธุรกิจหน้าใหม่ที่ยังขาดข้อมูลการค้าชายแดน เช่น สินค้าที่เป็นที่ต้องการ หรือวิธีการหาคู่ค้า โดยสภาหอการค้าจังหวัดตาก และสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่จัดเป็นหน่วยงานที่มีความกระตือรือร้นมากที่สุด เพราะมีการจัดอบรมสัมมนาบ่อยครั้ง และเปิดโอกาสให้นักธุรกิจเข้าร่วม roadshow ในพม่าเพื่อหาคู่ค้าผ่านกลไกการพบปะเชิงธุรกิจแบบ business matching อีกด้วย

Business matching เป็นเพียงจุดเริ่มต้น

การพบปะเชิงธุรกิจแบบ business matching เพื่อหา partner ก่อนการตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศนั้น กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากการมี partner ที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มองค์ความรู้ด้านการตลาด กฎระเบียบท้องถิ่น และระบบการกระจายสินค้าและการบริการหลังการขายที่เหมาะสม  สำหรับพม่าแล้ว เนื่องจากแต่ละบริษัทในพม่ามักมีธุรกิจหลากหลาย จึงมีโอกาสสูงที่นักลงทุนไทยจะค้นพบผู้ประกอบการในภาคธุรกิจที่ตนเองสนใจในระหว่างการพบปะเชิงธุรกิจเช่นนี้  อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การมีส่วนร่วมใน business matching ที่ผ่านมาพบว่า ผู้จัดงานมักไม่สามารถจับคู่นักลงทุนได้ล่วงหน้าเนื่องจากข้อจำกัดในด้านการติดต่อสื่อสาร  ส่งผลให้ในระหว่างการ matching เกิดการกระจุกตัวของนักลงทุนไทยในกลุ่มธุรกิจพม่าที่มีศักยภาพสูงและตรงกับความเชี่ยวชาญของไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน อาหาร และรถยนต์ จึงทำให้โอกาสการพูดคุยเชิงธุรกิจอย่างจริงจังทำได้ไม่เต็มที่เท่าที่ควร

การเข้าร่วม business matching ลักษณะนี้จึงต้องลดความคาดหวังลงไปบ้าง เนื่องจากเป็นไปได้ยากที่จะมีการตกลงทางธุรกิจได้ในทันที เพราะการหา partner ต้องใช้เวลาและความอดทนในการเลือกสรร ซึ่งอาจหมายถึงการเข้าร่วม business matching หลายครั้งก็เป็นได้ ควรมองการพบปะเชิงธุรกิจเช่นนี้เป็นการสร้าง contact point หรือการแลกเปลี่ยนนามบัตร และควรเปิดโอกาสการค้นพบช่องทางการทำธุรกิจที่น่าสนใจที่อาจไม่ได้อยู่ในสายธุรกิจปัจจุบันของตนหรือไมได้คำนึงถึงตั้งแต่ต้นด้วย  ขณะเดียวกัน โครงข่ายนักธุรกิจในพม่าที่สนใจร่วมทุนกับชาวต่างชาติปัจจุบันยังมีขนาดไม่ใหญ่มาก จึงจัดเป็นกลุ่มนักธุรกิจที่มีความคุ้นเคยกันดีและสามารถแนะนำนักลงทุนไทยให้รู้จักกับบริษัทที่มีความเหมาะสมในการเป็น partner ได้ดีกว่า สำหรับโอกาสการมาเยี่ยมเยือนพม่าในครั้งถัดๆ ไป

ค่าเช่าพื้นที่ทำธุรกิจสูงขึ้นเรื่อยๆ ใครมาก่อนได้ก่อน

สำหรับนักธุรกิจไทยที่พร้อมรับต้นทุนและความเสี่ยงที่สูงขึ้นจากการลงทุนโดยตรงในพม่าได้ ควรรีบเข้าไปจับจองพื้นที่ดำเนินธุรกิจในพม่าแต่เนิ่นๆ มิฉะนั้น อาจไม่มีตัวเลือกมากนักและต้องแบกรับภาระค่าเช่าสำนักงานที่สูงเกินไป เพราะนอกจากความต้องการสำนักงานในพม่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและทำให้ราคาปรับตัวตามไปด้วยแล้ว พื้นที่สำนักงานในพม่าก็มีอยู่จำกัด

อย่างไรก็ตาม ก็เริ่มมีแนวคิดการนำ "บ้านเดี่ยว" หรืออาคารเดี่ยวสูง 3-4 ชั้น มาประยุกต์ใช้เป็นสำนักงานแทน โดยจะมีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และสามารถนำมาตกแต่งให้มีห้องพักชั่วคราวได้ด้วย  ซึ่งราคาค่าเช่าบ้านเดี่ยวลักษณะนี้อยู่ที่ระดับ 8,000-10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (หรือราว 3 แสนบาทต่อเดือน) ขึ้นไป ในบริเวณใจกลางเมืองย่างกุ้ง ในขณะที่บริเวณรอบนอกใกล้สนามบินย่างกุ้งนั้น ราคาลดลงเกือบครึ่งและมีโอกาสสูงที่จะถูกจับจองไปก่อน

ปัญหาราคาค่าเช่าที่ดินจะลดความรุนแรงลงในบริเวณนิคมอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น นิคมอุตสาหกรรมของรัฐบาลพม่าจะมีการทำสัญญาเช่าที่ดินกับนักลงทุนครั้งละ 5 ปี ในอัตราค่าเช่าคงที่ที่ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตารางเมตรต่อปี หรือประมาณ 1.5 แสนบาทต่อไร่ต่อปี ซึ่งอายุสัญญาและราคาค่าเช่าไม่แตกต่างจากที่นิคมแหลมฉบัง  เพียงแต่เพดานการขึ้นค่าเช่าในการต่อสัญญาครั้งต่อไปอีก 5 ปีนั้น รัฐบาลพม่าตั้งไว้ที่ 15% ขณะที่นิคมแหลมฉบังตั้งไว้ที่ 10%

นอกจากนี้ พบว่าตลาดที่ดินในพม่ายังมิได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังเป็นธุรกิจใหม่สำหรับเอกชนพม่า จึงยังไม่มีมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่ตายตัว ตัวอย่างเช่น สัญญาเช่าสำนักงานในพม่ามักมีอายุเพียงปีเดียว และการต่อสัญญาเช่าจะมีการขึ้นค่าเช่าอย่างน้อย 10% ต่อปี แต่ก็เปิดช่องว่างให้เจรจาเพิ่มอายุสัญญาเช่าได้หากฝ่ายผู้เช่ามีข้อเสนอที่น่าสนใจ เช่นการจ่ายค่าเช่าล่วงหน้ามากกว่า 1 ปี หรือการให้ความช่วยเหลือชดเชยภาษีเงินได้จากที่ดิน เป็นต้น

ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานคือโจทย์สำคัญของนักลงทุน

การเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในพม่านั้นคงไม่ง่ายเสมือนการเดินถือกระเป๋าเข้าไป แต่จะต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือกับสภาพปัญหาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศและปรับโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับต้นทุนแอบแฝงที่จะสูงขึ้น ตั้งแต่การเตรียมเครื่องปั่นไฟให้พร้อมรองรับการตัดไฟฟ้าที่ยังพบเห็นได้ทุกวันวันละอย่างน้อย 4 ชั่วโมงแม้ในเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง  หรือการเพิ่มเทคโนโลยีบำบัดน้ำให้สะอาดในโรงงาน เนื่องจากน้ำสะอาดยังมีไม่พอใช้ในประเทศ 

ขณะเดียวกัน ยังต้องมีการวางแผนการขนส่งกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพที่สุดโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่อาศัยการขนส่งเป็นหลัก เพราะนอกจากพาหนะที่ใช้ขนส่งมักอยู่ในสภาพต่ำกว่ามาตรฐานแล้ว เส้นทางคมนาคมยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทำให้จำนวนรอบวิ่ง และเวลาที่ใช้ในการเดินทาเพิ่มมากขึ้น สิ้นเปลืองค่าน้ำมัน ค่ารถ ค่าแรงงาน และค่าผ่านด่านข้ามเมืองต่างๆ โดยปัจจุบันพบว่าอุตสาหกรรมอาหารซึ่งมีการขนส่งค่อนข้างสูงนั้น มีสัดส่วนของค่าขนส่งในพม่าสูงถึงราว 20% ของโครงสร้างต้นทุน ในขณะที่ค่าขนส่งมีสัดส่วนไม่ถึง 10% สำหรับอุตสาหกรรมอาหารในไทย

ยังมีปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ต้องตระหนักถึง เช่น การเข้าถึงระบบโทรศัพท์ไร้สายที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การติดต่อสื่อสารแม้ภายในประเทศพม่าเองยังคงเป็นอุปสรรค  นอกจากนี้ ยังต้องอาศัยความเป็นมืออาชีพในการดำเนินธุรกิจเพราะความไม่ชัดเจนของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ อาจทำให้นักลงทุนเสียเปรียบโดยไม่รู้ตัว  และท้ายที่สุด ต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบการเงินการธนาคารของพม่าที่ยังล้าหลัง ทำให้ยังต้องพึ่งการใช้เงินสดเป็นหลัก ในขณะที่การทำธุรกรรมผ่าน Letter of Credit (L/C) ยังมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและต้องใช้เงินสดจำนวนมากในการค้ำประกันเช่นเดียวกัน

แรงงานเยอะและถูก แต่ยังขาดทักษะ

แรงงานในพม่าจำนวนร่วม 30 ล้านคนสามารถเต็มเติมธุรกิจไทยที่ปัจจุบันขาดแคลนแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก และค่าจ้างแรงงานที่ต่ำที่สุดในอาเซียนก็จะช่วยรองรับการย้ายฐานการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเน้นแรงงานเช่น อุตสาหกรรมผลิตเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและอาหาร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแรงงานพม่ากว่า 75% เป็นแรงงานที่อยู่หรือเคยอยู่ในภาคการเกษตรมาตลอดจึงยังขาดทักษะ ทำให้อุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่ต้องใช้แรงงานทักษะสูงอาจยังไม่สามารถเติบโตในพม่าได้เท่าที่ควรในช่วงระยะสั้นถึงปานกลาง 

การขาดแคลนแรงงานทักษะเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการขาดการศึกษาและพัฒนาฝีมือ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการไหลของแรงงานฝีมือออกสู่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นไทย ที่มีโอกาสด้านค่าจ้างและความเจริญก้าวหน้าสูงกว่า แต่หากมองในทางกลับกัน นักลงทุนไทยก็มีข้อได้เปรียบชาติอื่นตรงที่เรามีแรงงานพม่าภายในประเทศจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้จัดเป็นแรงงานฝีมือที่ผู้ประกอบการไทยสามารถดึงเข้ามาร่วมงานในพม่าและคุมคนงานในพม่าได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม พม่าเองก็เริ่มเดินหน้าแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานทักษะเช่นกัน โดยมีการวางแผนเพิ่มจำนวนและขีดความสามารถของแรงงานฝีมือผ่านการเพิ่มสัดส่วนงบประมาณและการออกกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบการศึกษา รวมถึงการกำหนดข้อบังคับให้นักลงทุนต่างชาติว่าจ้างแรงงานท้องถิ่นในตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะเพิ่มมากขึ้นเพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิต  นอกจากนั้น ยังมีการสร้างแรงจูงใจภายในประเทศเช่นการวางแผนขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเพื่อดึงแรงงานฝีมือต่างประเทศกลับคืนสู่พม่าอีกด้วย ซึ่งนโยบายเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบในการดำเนินธุรกิจอยู่บ้าง จึงต้องมีการวางกลยุทธ์ให้สามารถปรับตัวได้ทันด้วยเช่นกัน 

เก็บตกจากนักธุรกิจไทยในพม่า
ตลาดบริโภคของพม่า ...
"คนพม่าถึงแม้จะยังมีกำลังซื้อน้อยกว่าคนไทยโดยเฉลี่ยแต่เริ่มมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น"
"... มีรสนิยมการบริโภคคล้ายคนไทยเนื่องจากสินค้านำเข้าจากไทยมีมานานและเป็นสินค้าติดตลาด ยิ่งตอนนี้ปัญหาชายแดนลดน้อยลงทำให้สินค้าแบรนด์ดังของไทยเริ่มเข้ามาตีตลาดได้ง่ายขึ้น"
"... แต่ก็เริ่มสนใจสินค้าเทรนด์เกาหลีมากขึ้น จากอิทธิพลซีรียส์เกาหลีทางโทรทัศน์"
ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน ...
"ไฟฟ้าในพม่ายังขาดแคลนอยู่มาก ต้องมีเครื่องปั่นไฟเป็นของตัวเอง และเลือกผลิตสินค้าที่เก็บไว้ได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็นหรือแช่แข็ง"
"รัฐบาลพม่าใช้เงินจากการขายก๊าซธรรมชาติ และหยกมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะถนน ทำให้ค่าขนส่งถูกลงมาก"
"การทำการค้าไม่ซับซ้อน เช่นไม่มีการค้ำประกัน เพราะระบบธนาคารยังไม่ดี ทำให้พบปัญหาการชำระสินค้าล่าช้าอยู่บ้าง"
"กฎหมายลงทุนยังไม่ชัดเจน เลยยังไม่ค่อยเห็นนักลงทุนเข้ามามากนัก เพราะอยากเห็นก่อนว่าสิทธิประโยชน์ต่างๆ น่าดึงดูดเพียงใด และข้อกำหนดเรื่องการว่าจ้างแรงงานก็สำคัญ เช่น นำเข้าแรงงานได้หรือไม่ หรือต้องใช้แรงงานท้องถิ่นเท่านั้น"
ค่าจ้างแรงงาน ...
"... ค่าแรงงานสูงขึ้นตามเงินจ๊าดที่แข็งค่าขึ้น และจากแรงผลักดันภาครัฐที่สนับสนุนการขึ้นค่าจ้าง โดยเมื่อปี 2010 ค่าจ้างแรงงานยังอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อเดือน พอมาปีนี้ (2012) กลายเป็นประมาณ 2,400 บาทต่อเดือนหรือตกประมาณ 50-100 บาทต่อวันตามทักษะและอายุงาน ... และได้หยุดงานทุกวันอาทิตย์ด้วย"

 
ต้องหาวิธีสร้างแรงจูงใจเพื่อดึงตัว
expat  

ในระยะแรกที่แรงงานทักษะยังขาดแคลนในพม่า  นักลงทุนต่างชาติคงยังต้องพึ่งพาการนำเข้าแรงงานฝีมือไปก่อนสำหรับธุรกิจที่ต้องใช้แรงงานทักษะเป็นหลัก แต่ถึงกระนั้นก็ตาม บริษัทต่างชาติก็อาจต้องเผชิญกับความท้าทายในการสร้างแรงจูงใจพนักงานและครอบครัวให้เข้ามาใช้ชีวิตในพม่า  เนื่องจากภาคการบริการในพม่ายังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าระดับมาตรฐานสากลอยู่มาก โดยเฉพาะในด้านการแพทย์ การเงินการธนาคาร และการศึกษาสำหรับบุตร ที่ยังขาดปริมาณและความสะดวกสบายในการใช้บริการ หรือแม้แต่กระทั่งร้านสะดวกซื้อที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตก็ยังมีปริมาณไม่เพียงพอครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจและนิคมอุตสาหกรรมในพม่า

ในส่วนที่พักอาศัยชั่วคราวเช่น โรงแรม และ serviced apartment ยังมีจำนวนน้อยและกระจุกตัวอยู่ในเมืองท่องเที่ยวทำให้มีราคาค่าที่พักสูง ส่วนห้องอพาร์ตเมนท์ธรรมดาที่กระจายอยู่ทั่วพม่าอาจมีเพียงพอรองรับ expat ได้ โดยปัจจุบันมีอัตราค่าเช่าประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน แต่อพาร์ตเมนท์เหล่านี้ส่วนมากไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมเข้าอยู่ได้ทันทีและบางส่วนอยู่ในสภาพห้องเปล่า

ปรับอุปสรรคให้เป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีผลตอบแทนสูง

อุปสรรคที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นสิ่งที่นักลงทุนต่างชาติในพม่าต้องเผชิญไม่มากก็น้อย และตราบใดที่ปัญหาเหล่านี้ยังค้างคาอยู่ ความเสี่ยงในการลงทุนก็จะยังคงมีอยู่สูง จึงไม่แปลกใจที่พม่าเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคบริการในประเทศ และตระหนักถึงความจำเป็นของเงินทุนต่างชาติในการช่วยปฏิรูปประเทศ  โดยตั้งแต่ต้นปี 2012 ที่ผ่านมา ได้มีการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำ bidding ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานและภาคบริการหลายประเภท

ตัวอย่างธุรกิจที่รัฐบาลพม่าได้มีการเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติเข้าร่วม bidding ที่ผ่านมาเช่น การลงทุนพัฒนาระบบเครือข่ายไร้สาย การแปรรูปรัฐวิสาหกิจรถไฟพม่า การก่อสร้างสนามบินเพิ่มเติมใกล้ย่างกุ้ง การปรับปรุงและพัฒนาอาคารเก่าในย่างกุ้งให้เป็นโรงแรม และการเป็นตัวแทนผลิตและจำหน่ายเครื่องมือการแพทย์ให้กับรัฐบาล เป็นต้น

ซึ่งหากพิจารณาถึงแนวโน้มการให้ลำดับความสำคัญต่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงภาคการบริการให้มีมาตรฐานเป็นสิ่งแรกเช่นนี้แล้ว นักลงทุนไทยที่มีความพร้อมในการร่วมมือพัฒนาประเทศพม่าในภาคธุรกิจที่มีความต่อเนื่องกับระบบ infrastructure หรือการพัฒนาระบบบริการของพม่า ก็จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูง
 

Key takeaways:

  • การปลดล็อคการคว่ำบาตรต่อพม่าเริ่มเป็นรูปธรรม แต่กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนหลายฉบับยังไม่เรียบร้อย ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่คุ้นเคยกับความเสี่ยงในพม่าส่วนมากยังคงรอให้กฎหมายเหล่านั้นชัดเจนเสียก่อน แต่นักลงทุนไทยที่มีประสบการณ์แล้วสามารถใช้ช่วงจังหวะโอกาสนี้เปิดเกมรุกได้เลย
  • ยังมีโอกาสหลากหลายในพม่า อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไทยควรเลือกทำในสิ่งที่ตนถนัดและใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ไทย-พม่าให้มากที่สุดโดยฉพาะการค้าชายแดนที่มีการพัฒนาไปค่อนข้างมากแล้ว ส่วนการเข้าไปลงทุนในพม่านั้น หากเริ่มจากการเข้าร่วมพัฒนาประเทศในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการบริการในช่วงนี้น่าจะก่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด 
  • การลงทุนในพม่ายังเต็มไปด้วยความท้าทายโดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงต้นทุนแอบแฝงจากค่าเช่าที่ดิน และค่าจ้างแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้น ควรใช้เวลาและความอดทนในการค้นหา partner ที่มีความเหมาะสม

ท่านสามารถศึกษาข้อมูลทั่วไปได้โดยดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ