OUTLOOK:JAPAN ECONOMY
09 มกราคม 2019

ญี่ปุ่นกับการขึ้นภาษี การบริโภคปี 2019

รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันการปรับขึ้นภาษีการบริโภค (consumption tax) จาก 8% เป็น 10% ในเดือนตุลาคมปี 2019

pic_jp.jpg


รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันการปรับขึ้นภาษีการบริโภค (consumption tax) จาก 8% เป็น 10% ในเดือนตุลาคมปี 2019 หลังจากที่เลื่อนมาแล้วถึง 2 ครั้ง คาดว่าการปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้จะช่วยสร้างรายได้รัฐบาลราว 5-6 ล้านล้านเยนต่อปี โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะนำรายได้ส่วนนี้ไปชำระหนี้รัฐบาลซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1,277 ล้านล้านเยน (ประมาณ 11.6 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ) หรือราว 232% ของ GDP และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปสนับสนุนด้านการศึกษา การดูแลบุตร และสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

การปรับขึ้นภาษีในครั้งนี้สร้างความกังวลว่าอาจฉุดให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีกลับมาหดตัวอีกครั้ง เนื่องจากการปรับขึ้นภาษีรอบก่อนจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายน ปี 2014 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างรุนแรง โดยตัวเลขการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนกลายเป็นติดลบในช่วงสามไตรมาสสุดท้ายของปี 2014 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2015 (รูปที่ 7) เช่นเดียวกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งลดลงจาก 2% ในปี 2013 เป็น 0.34% ในปี 2014 และยังเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การใช้จ่ายของครัวเรือนญี่ปุ่นซบเซามายาวนาน ดังนั้น สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มีการบริโภคภาคครัวเรือนเป็นตัวแปรหลัก คิดเป็นสัดส่วนราว 55% ของ GDP ประเทศ การปรับขึ้นภาษีการบริโภคจึงอาจส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้

อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าการปรับขึ้นภาษีรอบนี้จะกระทบการบริโภคของครัวเรือนญี่ปุ่นน้อยกว่าครั้งที่แล้ว เหตุผลข้อแรกคือรอบนี้ปรับอัตราภาษีขึ้น 2% น้อยกว่าครั้งก่อนที่ปรับขึ้น 3% และเมื่อปี 2014 รัฐบาลยังประกาศว่าจะขึ้นภาษีการบริโภคต่อเนื่องเป็น 10% ในปี 2015 (ก่อนจะเลื่อนมาเป็นปี 2017 และ 2019) ชาวญี่ปุ่นจึงเร่งซื้อของในช่วงก่อนขึ้นภาษี ทำให้การบริโภคหดตัวรุนแรงหลังจากนั้น เหตุผลข้อที่สองคือรัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับผลกระทบของการขึ้นภาษีในรอบนี้ไว้แล้ว ตัวอย่างเช่น การคงภาษีของสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม และหนังสือพิมพ์ไว้เท่าเดิมที่ 8%4 การลดภาษีบ้านและรถ นโยบายเรียนฟรีสำหรับการศึกษาขั้นปฐมวัย เงินอุดหนุนคนวัยเกษียณ เป็นต้น จากการศึกษาของ Mizuho Research Institute Ltd. พบว่า ราคาสินค้าที่มีผลกับการบริโภคของชาวญี่ปุ่นคือราคาสินค้าที่ครัวเรือนซื้อบ่อยๆ (familiar item) เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ดังนั้น หากสินค้าอาหารและเครื่องดื่มยังคงอัตราภาษีไว้เท่าเดิม การปรับขึ้นภาษีการบริโภคในครั้งนี้ก็น่าจะไม่ส่งผลลบต่อการใช้จ่ายของครัวเรือนรุนแรงเท่าครั้งก่อน โดยคาดว่าจะมีการเร่งตัวของการใช้จ่ายครัวเรือนในช่วงก่อนเดือนตุลาคม ก่อนจะชะลอตัวลงในช่วงหลังจากนั้น แต่ในภาพรวมคาดว่า
การบริโภคภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นก็จะยังรักษาระดับการฟื้นตัวต่อไปได้ในระยะข้างหน้า.

การปรับขึ้นภาษีการบริโภคในครั้งก่อนฉุดให้เศรษฐกิจและการใช้จ่ายของครัวเรือนญี่ปุ่นหดตัวลงอย่างรุนแรง

อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและการบริโภคภาคครัวเรือนญี่ปุ่น รายไตรมาส
หน่วย: %YOY

pic_box_jp.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและสังคมแห่งญี่ปุ่น (ESRI)


ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ