SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
09 มกราคม 2019

จับตาความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกไทย

นอกจากการส่งออกไทยที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญและสงครามการค้าในปี 2019 แล้ว ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทย

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม

TH_page10.jpg


นอกจากการส่งออกไทยที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญและสงครามการค้าในปี 2019 แล้ว ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยเช่นกัน โดยภาคการส่งออกมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยมีสัดส่วนถึง 58.5% ของ GDP ปี 2017 ดังนั้น การสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นประเด็นสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า อีไอซีได้ศึกษาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยโดยพิจารณาจากส่วนแบ่งในตลาดโลก<sup>8</sup> (global market share) ของกลุ่มสินค้าที่มีสัดส่วนต่อมูลค่าส่งออกสูงสุด 8 กลุ่ม ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 60% ของมูลค่าสินค้าส่งออกไทยในปี 2017 (รูปที่ 15) พบว่า ส่วนแบ่งในตลาดโลกของสินค้าสำคัญบางกลุ่มลดลงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2014-2017) เมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีก่อนหน้านั้น (2010-2013) เช่น สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เนื้อสัตว์สดและแปรรูป ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และข้าว ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าการลดลงของส่วนแบ่งในตลาดโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากสาเหตุดังนี้

 
รูปที่ 15: สินค้าบางกลุ่มสูญเสียความสามารถการแข่งขันทางการค้าในระยะที่ผ่านมา สะท้อนผ่านสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกที่ลดลง
ส่วนต่างดัชนีสัดส่วนมูลค่าสินค้าส่งออกสินค้าไทยในตลาดโลก ปี 2010-2013 และ 2014-2017
หน่วย: สัดส่วนการส่งออกสินค้าในตลาดโลกเฉลี่ยปี 2010-2013 = 1


TH_page11.jpg
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ Trademap

 


1. คู่แข่งทางการค้ามีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น
คู่แข่งสินค้าส่งออกของไทยบางกลุ่มสามารถผลิตและส่งออกสินค้าทดแทนสินค้าไทยได้ จากข้อได้เปรียบด้านพื้นที่การผลิต ห่วงโซ่การผลิต ความชำนาญ รวมถึงการพัฒนาสินค้าได้ตรงกับความต้องการของคู่ค้ามากขึ้น เช่น

1.1) ข้าว: ไทยเสียอันดับการเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลกให้แก่อินเดียซึ่งมีความได้เปรียบในด้านพื้นที่การผลิต นับตั้งแต่ปี 2012 โดยอินเดียสามารถแย่งส่วนแบ่งในตลาดประเทศเบนินซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของไทย และได้กลายเป็นผู้ส่งออกข้าวให้เบนินเป็นอันดับหนึ่งนับตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา อีไอซีมองว่าในระยะข้างหน้า ส่วนแบ่งทางการตลาดของไทยยังคงต้องจับตาการแข่งขันจากประเทศคู่แข่งสำคัญ คือ เวียดนาม ซึ่งเริ่มมีการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวอย่างต่อเนื่อง เช่น การพัฒนาข้าวขาวพันธุ์พื้นนุ่มในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เวียดนามสามารถเจาะตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดอันดับสองของไทยรองจากเบนินได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เวียดนามครองส่วนแบ่งสินค้าข้าวเป็นอันดับหนึ่งในตลาดจีน และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 46.3% ในปี 2016 เป็น 55.9% ในปี 2017 ขณะที่ไทย
มีส่วนแบ่งในตลาดจีนเป็นอันดับสอง โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในตลาดจีนเพียงเล็กน้อยจาก 29.1% เป็น 29.8% นอกจากนี้ การลดลงของสัดส่วนการเป็นผู้ส่งออกข้าวของไทยในบางช่วง ส่วนหนึ่งเกิดจากมาตรการจำนำข้าวของภาครัฐในปี 2011 ทำให้ราคาข้าวส่งออกไทยสูงขึ้นในตลาดโลก และมีสัดส่วนการเป็นผู้ส่งออกในตลาดโลกลดลงอย่างมากจาก 26.7% ในปี 2011 เป็น 19.2% ในปี 2012

1.2) ยางพาราและผลิตภัณฑ์: ส่วนแบ่งในตลาดโลกในหมวดยางแผ่นของไทยลดลง สวนทางกับส่วนแบ่งของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าส่งออกยางแผ่นของไทยซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในหมวดยางพาราและผลิตภัณฑ์ (คิดเป็นสัดส่วน 8.8% ของมูลค่ายางพาราและผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทย) มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกลดลงจาก 73% ในปี 2014 เป็น 66% ในปี 2017 ขณะที่ช่วงเวลาเดียวกัน ประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวีมีส่วนแบ่งการเป็นผู้ส่งออกยางแผ่นในตลาดโลกในเชิงมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 11% เป็น 18% ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนเพาะปลูกยางพาราในประเทศดังกล่าวของจีนในช่วงปี 2006-2012 ทำให้ประเทศในกลุ่มนี้สามารถผลิตยางแผ่นในระดับคุณภาพที่สามารถทดแทนยางแผ่นของไทยได้ อย่างไรก็ดี สัดส่วนการส่งออกยางล้อสำหรับยานพาหนะ (คิดเป็นสัดส่วน 1.9% ของมูลค่ายางพาราและผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทย) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากยางแท่งและยางแผ่น มีสัดส่วนการส่งออกในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.2% ในปี 2014 เป็น 5.8% ในปี 2016

1.3) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์: สินค้าส่งออกสำคัญของไทยในกลุ่มนี้ เช่น แผงวงจรไฟฟ้า ได้สูญเสียสัดส่วนการเป็นผู้ส่งออกในตลาดโลกจากการเสียเปรียบความพร้อมด้านห่วงโซ่การผลิต ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แผงวงจรไฟฟ้าส่งออกของไทยซึ่งเป็นสินค้าสำคัญในกลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (คิดเป็น 22.5% ของมูลค่าส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ของไทยปี 2017) มีสัดส่วนต่อการส่งออกของทั้งโลกลดลงจาก 1.5% ในปี 2014 เป็น 1.3% ในปี 2017 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน แผงวงจรไฟฟ้าส่งออกของเวียดนามมีสัดส่วนต่อการส่งออกของทั้งโลกเพิ่มขึ้นจาก 0.4% เป็น 2.6% เนื่องจากเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น มีความชำนาญเพิ่มขึ้นที่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนของต่างชาติรวมถึงมีที่ตั้งที่อยู่ใกล้จีน ซึ่งแหล่งของซิลิการ์ (Silica) ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตหน่วยประมวลผลซึ่งเป็นส่วนประกอบของแผงวงจรไฟฟ้าที่ซับซ้อนซึ่งใช้ประกอบเป็นสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงได้

2. การควบคุมคุณภาพของผู้ผลิตในประเทศ
สินค้าสำคัญในบางหมวดส่งออกของไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเนื่องจากการควบคุมคุณภาพ เช่น กุ้ง ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในหมวดเนื้อสัตว์สด-กระป๋องและแปรรูป ตั้งแต่ปี 2012 กุ้งไทยได้รับผลกระทบจากโรคระบาด คือ โรคตายด่วน (Early Mortality Syndrome หรือ EMS) ส่งผลให้กุ้งขาวแวนนาไมของไทย<sup>9</sup> มีผลผลิตในปี 2013 หดตัวลง -34% จากปี 2012 หลังจากนั้นก็ฟื้นตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ผลิตในไทยสามารถควบคุมปัญหาของโรคได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตกุ้งไทยไม่สามารถเพาะเลี้ยงกุ้งให้ได้ปริมาณเท่ากับก่อนเกิดโรคระบาด เนื่องจากพื้นที่เพาะเลี้ยงที่มีจำกัด ซึ่งปริมาณการเพาะเลี้ยงที่หนาแน่นจะทำให้ควบคุมโรคได้ยาก ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงเสียสัดส่วนการเป็นผู้ส่งออกกุ้งในตลาดโลกแก่อินเดีย ซี่งมีข้อได้เปรียบเนื่องจากมีพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้งมากกว่า อินเดียสามารถขยายตลาดส่งออกกุ้งอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 จนมีสัดส่วนการเป็นผู้ส่งออกกุ้งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจาก 12.2% ในปี 2013 เป็น 20.8% ในปี 2017 ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน กุ้งส่งออกของไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกลดลงจาก 10.6% เป็น 7.9%

3. ผู้ผลิตเลือกตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ เพื่อรองรับอุปสงค์ที่สูงขึ้นในประเทศนั้น
ส่วนแบ่งการส่งออกในตลาดโลกของสินค้าบางหมวดอาจลดลงได้ในระยะต่อไป หากผู้ผลิตเดิมที่ผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ของประเทศเริ่มยกระดับเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ในส่วนของเครื่องใช้ไฟฟ้าส่งออกของไทย แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา สัดส่วนการเป็นผู้ส่งออกในตลาดโลกจะลดลงเพียงเล็กน้อย แต่ในระยะถัดไปอาจลดลงมากขึ้น เพราะคู่ค้ามีแนวโน้มผลิตสินค้าสำคัญในกลุ่มนี้เพื่อบริโภคในประเทศและทดแทนการนำเข้า โดยในปี 2017 ผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่บางรายที่มีฐานการผลิตในไทยเริ่มตั้งฐานการผลิตในอินเดีย และยังเดินหน้าตั้งฐานการผลิตใหม่ที่เวียดนามในปี 2018 เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ ในระยะข้างหน้าเครื่องปรับอากาศที่ผลิตในไทยมีแนวโน้มส่งออกไปประเทศดังกล่าวได้ลดลง และในระยะถัดไป ประเทศเหล่านั้นยังอาจยกระดับเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศได้อีกด้วย ทั้งนี้ ในปี 2017 ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศเป็นอันดับที่ 2 ของโลก และมูลค่าเครื่องปรับอากาศส่งออกของไทยคิดเป็น 20.5% และ 2.0% ต่อมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและมูลค่าส่งออกรวมในปี 2017 ตามลำดับ

4. ความก้าวหน้าของนวัตกรรม
นวัตกรรมของสินค้าซึ่งพัฒนาขึ้นตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้สินค้าส่งออกไทยบางรายการสูญเสียส่วนแบ่งในตลาดโลก ตัวอย่างที่สำคัญ คือ หมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ส่งออก ในระยะข้างหน้า สัดส่วนการเป็นผู้ส่งออกสินค้าสำคัญในหมวดดังกล่าว มีโอกาสได้รับผลกระทบจากความก้าวหน้าของนวัตกรรม อย่างเช่นสินค้า Hard-Disk Drives (HDD)<sup>10<sup> ปัจจุบันมีหน่วยเก็บข้อมูลที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยยิ่งขึ้น อาทิ หน่วยเก็บความจำแบบ Solid-State Drives (SSD) ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า หากราคา SSD ลดต่ำลงในระยะข้างหน้า<sup>11</sup> ผู้บริโภคจะยิ่งหันมาใช้ SSD แทน HDD มากขึ้น ไทยยังมีความเสียเปรียบหากต้องการผลิต SSD จากข้อจำกัดด้านห่วงโซ่การผลิต ขณะที่หลายประเทศในเอเชียมีความสามารถในการผลิต SSD แล้ว เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และจีน ประเทศเหล่านี้มีส่วนแบ่งมูลค่าการส่งออก SSD ในตลาดโลกในปี 2017 ที่ 21.3% 12.5% 11.8% 10.9% และ 8.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี สินค้าส่งออกไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมี-พลาสติก-และผลิตภัณฑ์ และผัก-ผลไม้แห้ง-สด-กระป๋องและแปรรูป เป็นสินค้ากลุ่มที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากความพร้อมและความชำนาญในการผลิต โดยการผลิตสินค้าทั้งสามกลุ่มนี้ ผู้ผลิตไทยมีความพร้อมและความชำนาญในการผลิต ตลอดจนมีห่วงโซ่การผลิตที่มีความพร้อม แต่อาจต้องพิจารณาปรับตัวให้เข้ากับโอกาสทางธุรกิจหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ สำหรับรถยนต์ มีแนวโน้มต้องใช้เทคโนโลยีและความซับซ้อนในการผลิตมากขึ้น เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า (EV) กลุ่มเคมี-พลาสติก-และผลิตภัณฑ์ ยังต้องจับตาเรื่องวัตถุดิบหลักคือแก๊สธรรมชาติจากแหล่งในประเทศที่มีแนวโน้มลดลง โดยผู้ผลิตสินค้าในกลุ่มนี้อาจนำเข้าแก๊สธรรมชาติจากต่างประเทศแทน หรือเปลี่ยนสูตรการผลิตไปใช้น้ำมันดิบในสัดส่วนมากขึ้น แต่ก็จะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออก ดังกล่าว ส่วนสินค้าส่งออกหมวดผัก-ผลไม้แห้ง-สด-กระป๋องและแปรรูป ควรมีการควบคุมด้านต้นทุนการผลิตอย่างเหมาะสม มิฉะนั้น ผู้ส่งออกจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนถูกกว่าทั้งในด้านแรงงานและวัตถุดิบอื่นๆ อาจเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของไทยได้ในระยะต่อไป

เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ผลิตและผู้ประกอบธุรกิจส่งออกไทย ควรคำนึงถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์-ห่วงโซ่การผลิต การมองหาตลาดส่งออกเพิ่มเติม และการควบคุมคุณภาพสินค้า สิ่งที่จำเป็นที่จะทำให้ส่งออกไทยยังสามารถตอบสนองความต้องการจากผู้บริโภคในตลาดโลกได้ คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าและการควบคุมคุณภาพสินค้าอย่างรอบด้าน ทั้งคุณภาพวัตถุดิบ มาตรฐานการผลิต บรรจุภัณฑ์ การขนส่ง ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม และการดูแลแรงงาน นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการแข่งขันด้านราคา โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตของสินค้าส่งออกไทยยังอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ คือความพร้อมของห่วงโซ่การผลิต มิเพียงเท่านั้นผู้ประกอบการยังต้องมองหาตลาดส่งออกเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบจากการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเดิม เนื่องจากในระยะข้างหน้า มีโอกาสที่คู่ค้าสำคัญจะสามารถผลิตสินค้าเองเพื่อทดแทนหรือลดการพึ่งพาการนำเข้าจากไทย

นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยยังควรจับตาการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและเทคโนโลยีที่อาจทำให้สินค้าบางประเภทเป็นที่ต้องการน้อยลง แม้ไทยจะยังสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดโลกได้ แต่ด้วยอุปสงค์รวมของโลกที่มีแนวโน้มลดลง ผู้ส่งออกของไทยก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ความนิยมการบริโภคทูน่ากระป๋องของสหรัฐฯ ลดลง จากเดิมที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย ทูน่ากระป๋องส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จึงหดตัวอย่างต่อเนื่องที่เฉลี่ยปีละ -4.5% ตามปริมาณการบริโภคเฉลี่ยต่อคนของสหรัฐฯ ที่ลดลงเฉลี่ยปีละ 2.2% นับตั้งแต่ปี 2013 แม้ว่าส่วนแบ่งในตลาดโลกของทูน่ากระป๋องส่งออกไทยจะเพิ่มขึ้น


8 พิจารณาที่ด้วย Harmonize code 2012 ความละเอียด 6 หลัก
9 กุ้งขาวแวนนาไมคิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 90% ของจำนวนผลผลิตกุ้งในไทยทั้งหมดในปี 2017
10 มูลค่า HDD ส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วน 22.5% ของมูลค่าส่งออกไทยในหมวดเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ปี 2017
11 ในปัจจุบัน หน่วยความจำแบบ SSD ยังราคาสูงกว่า HDD ที่ประมาณ 6-12 เท่าสำหรับความจุเดียวกัน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ