SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
09 มกราคม 2019

ติดตามผลกระทบของมาตรการกีดกันการค้าและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ต่อการส่งออกไทย

การส่งออกสินค้าของไทยเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนมากขึ้นจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม

TH_page7.jpg


การส่งออกสินค้าของไทยเริ่มได้รับผลกระทบชัดเจนมากขึ้นจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบซึ่งมีโอกาสได้รับผลทางอ้อมจากสงครามการค้าที่หดตัวที่ -17.1%YOY ตั้งแต่ช่วงหลังจากสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับสินค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2018 เช่นเดียวกันกับสินค้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2018 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายนหดตัวที่ -37.8%YOY ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มเม็ดพลาสติกไปยังจีนยังสามารถขยายตัวได้ที่ 15.7%YOY เนื่องจากการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นการนำไปผลิตใช้ในประเทศนอกจากนี้ ยังมีสินค้าบางกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหลังสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าที่อัตรา 10% เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2018 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มยางแผ่น และกลุ่มไม้-ผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังจีนในช่วงหลังมาตรการ (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2018) หดตัวที่ -82.5%YOY และ -39.4%YOY ตามลำดับ ขณะที่เคมีภัณฑ์ยังสามารถขยายตัวได้ที่ 57.0%YOY ทั้งนี้ สหรัฐฯ ยังมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มภาษีนำเข้าของสินค้ากลุ่มนี้จาก 10% เป็น 25% ในต้นเดือนมีนาคม 2019 อีกด้วย หากทั้งสองฝ่ายไม่บรรลุข้อตกลงในการเจรจา (รูปที่ 12)

 
รูปที่ 12: การส่งออกสินค้าของไทยบางกลุ่มสินค้าเริ่มได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการกีดกันทางการของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าส่งออกอัตราการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงหลังมีการบังคับใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าจากจีน*
หน่วย: %YOY (ช่วงหลังใช้มาตรการกีดกัน)

TH_page8.jpg
 

หมายเหตุ*: สินค้าในหมวดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อสินค้านำเข้าจีน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 สินค้าในหมวดเม็ดพลาสติกและแผงวงจรไฟฟ้า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2018 และสินค้าในหมวดยางแผ่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2018
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2018

 

มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีการขึ้นภาษีนำเข้าตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องในบางกลุ่มสินค้า โดยมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) กับเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ที่ไทยและประเทศต่างๆ ถูกตั้งมาตรการภาษีนำเข้าเมื่อเดือนมกราคม ปี 2018 ในภาพรวม หดตัวที่ -17.9%YOY และ -11.5%YOY ตั้งแต่มีมาตรการ (เดือนกุมภาพันธ์-พฤศจิกายน 2018) นำโดยการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ลดลงถึง -71.7%YOY และ -55.5%YOY ขณะที่มูลค่าการส่งออกของสินค้าดังกล่าวซึ่งไม่รวมส่วนที่ส่งไปยังสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ที่ 4.6%YOY และ 11.2%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม ที่ถูกตั้งมาตรการภาษีนำเข้าตั้งแต่เดือนมีนาคม 2018 ยังมีการส่งออกในภาพรวมที่ขยายตัวได้ที่ 10.9%YOY และ 21.1%YOY ตามลำดับ เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ในตลาดสหรัฐฯ รวมถึงยังสามารถเติบโตได้ดีในตลาดอื่นๆ (รูปที่ 13)

รูปที่ 13: นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบกับมูลค่าการส่งออกไทยต่อเนื่อง โดยมีแผงโซลาร์และกลุ่มเครื่องซักผ้าที่หดตัวในช่วงเวลาที่นโยบายฯ เริ่มมีผลบังคับใช้
อัตราการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกรายหมวดสินค้าช่วงหลังสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้มาตรการกีดกันทางการค้า
หน่วย: %YOY (ช่วงหลังใช้มาตรการกีดกัน)


TH_page9.jpg

หมายเหตุ*:
สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเริ่มเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2018 และเริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2018

 

อย่างไรก็ตาม ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีนในบางอุตสาหกรรม เนื่องจากผู้ผลิตในจีนสูญเสียความได้เปรียบทางการแข่งขันในการส่งออกสินค้าที่ถูกตั้งภาษีนำเข้าไปสหรัฐฯ จึงอาจเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ย้ายฐานการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า ไทยอาจได้รับโอกาสจากผู้ผลิตที่ย้ายฐานออกมาจีน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ไทยมีความพร้อมรองรับการลงทุน เช่น อุตสาหกรรมยางล้อและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี ยังคงต้องจับตาต่อไปว่าไทยจะเป็นตัวเลือกในการตั้งฐานการผลิตมากน้อยเพียงใด เนื่องจากผู้ผลิตอาจเลือกไปตั้งฐานการผลิตในประเทศอื่นๆ ได้เช่นกัน นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสในการส่งออกสินค้าทดแทนจีนและสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และจีนตอบโต้โดยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าที่เดิมส่งออกไปยังสหรัฐฯ และจีนอยู่แล้วเพิ่มขึ้น เช่น ส่งสินค้าเกษตรในหมวดผลไม้สด และกากเหลือจากการผลิตน้ำตาลไปจีน ทดแทนในส่วนที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯ หรือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางรายการ เช่น ฮาร์ดดิสก์ ไปยังสหรัฐฯ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ เป็นต้น (อ่านต่อที่ In Focus: ประเด็นที่ 3: โอกาสของธุรกิจไทยในสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน)

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ