SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
09 มกราคม 2019

เศรษฐกิจภาคต่างประเทศ : การส่งออกและท่องเที่ยวขยายตัวชะลอลง

ภาพรวมธุรกิจส่งออกสินค้าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2018 ขยายตัวได้ดีในหลายภูมิภาค แม้จะชะลอลงจากปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยช่วง 11 เดือนแรกของปี

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม


ภาพรวมธุรกิจส่งออกสินค้าในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2018 ขยายตัวได้ดีในหลายภูมิภาค แม้จะชะลอลงจากปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยช่วง 11 เดือนแรกของปี 2018 เติบโตได้ 7.3%YOY ชะลอลงจากการขยายตัวในปี 2017 ที่ 9.9%YOY โดยเป็นการขยายตัวในตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาด (รูปที่ 9) ทั้งนี้ โมเมนตัมการขยายตัวของการส่งออกได้ผ่านจุดสูงสุดในช่วงไตรมาสที่ 1 และมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในไตรมาสที่ 3 ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาค6 (รูปที่ 10) ประกอบกับในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 มีผลจากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเข้ามาเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งทำให้สินค้าส่งออกสำคัญไปจีนบางหมวดชะลอลง (อ่านต่อที่ Box: ติดตามผลกระทบของการกีดกันการค้าต่อการส่งออกไทย) ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยเมื่อหักทองคำช่วง 11 เดือนแรกของปี 2018 ขยายตัวที่ 8.1%YOY ซึ่งขยายตัวสูงกว่าการส่งออกสินค้าในภาพรวม

โดยมูลค่าการส่งออกของทุกหมวดสินค้าสำคัญในปี 2018 มีการขยายตัวชะลอลงในครึ่งปีหลัง การส่งออกสินค้าหมวดเกษตรกรรม และอุตสาหกรรมการเกษตรมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า ตามการชะลอของสินค้าสำคัญในหมวดสินค้านี้ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป โดยมีมูลค่าการส่งออกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน 2018 ที่ 2.1%YOY 9.8%YOY และ 4.7%YOY ชะลอลงจากการขยายตัวที่ 17.9%YOY 18.4%YOY และ 4.9%YOY ในครึ่งปีแรก ตามลำดับ สำหรับการส่งออกสินค้าหมวดอุตสาหกรรมก็มีอัตราการเติบโตที่ชะลอจากครึ่งปีแรกเช่นกัน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่ม รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนขยายตัว 0.4%YOY และ 3.4%YOY ชะลอลงจากการขยายตัวได้ดีในช่วงครึ่งปีแรกที่ 14.5%YOY และ 4.6%YOY ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายนหดตัวที่ -1.0%YOY จากการขยายตัวที่ 13.2%YOY ในช่วงครึ่งปีแรก

 
รูปที่ 1: การส่งออกเติบโตได้ดีในทุกภูมิภาคสำคัญ ยกเว้นการส่งออกไปยังตะวันออกกลางที่หดตัว
มูลค่าส่งออกไทยในช่วง 11 เดือนแรก - รายตลาดส่งออก
หน่วย: %YOY 
 
 TH_page3.jpg

 

หมายเหตุ: ยุโรป 15 ได้แก่ เยอรมนี สหราชอาณาจักร อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน ออสเตรีย เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม โปรตุเกส เดนมาร์ก กรีซ

               ฟินแลนด์ สวีเดน ลักเซมเบิร์ก และไอร์แลนด์
               อาเซียน 5 ได้แก่ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไน
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2018

 


รูปที่ 2: การส่งออกสินค้าของไทยเริ่มชะลอตัวลงและผ่านพันจุดสูงสุดไปแล้ว สอดคล้องกับหลายประเทศในเอเชีย
อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกสินค้าไทย และประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเอเชีย* (3-month moving average)
หน่วย: %YOY

TH_page4.jpg


หมายเหตุ*: ประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเอเชีย ประกอบด้วย จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2018

 

อีไอซีคาดทั้งปีมูลค่าส่งออกในภาพรวมจะขยายตัว 3.4%YOY ในปี 2019 ชะลอลงจากปี 2018 ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 7.0%YOY เนื่องจาก 1) การเติบโตของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง โดยในปี 2019 สินค้าส่งออกไทยยังมีโอกาสได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญและการค้าโลก ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยในหลายหมวดที่ต้องพึ่งพากำลังซื้อจากประเทศดังกล่าว ทั้งนี้ IMF ได้คาดการณ์ปริมาณการค้าโลกปี 2019 จะขยายตัวที่ 4.1% ชะลอจากการขยายตัวคาดการณ์ในปี 2018 ที่ 4.4% 2) ความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจรุนแรงขึ้น โดยความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่ต้องจับตาในปี 2019 คือการหารือระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะมีผลต่อทิศทางของสงครามการค้าในระยะต่อไป ข้อตกลงจากการเจรจาจะต้องเสร็จสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 โดยหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลง สหรัฐฯ จะเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าจากจีน จาก 10% เป็น 25% สำหรับกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทันทีในวันที่ 1 มีนาคม 2019 ซึ่งจะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสินค้าส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตในหมวดสินค้าที่ส่งไปจีน เช่น กลุ่มสินค้ายางแผ่น ไม้แผ่นและไม้แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและเคมีภัณฑ์ รวมกันคิดเป็น 4.1% ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2017 และ 3) ปัจจัยกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่หดตัวโดยเฉลี่ยทั้งปี 2018 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล คิดเป็นการขยายตัวสูงถึง 31%YOY จากปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันในปี 2018 โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และพลาสติกได้รับผลบวกด้านราคา อย่างไรก็ตาม อีไอซีประมาณการราคาน้ำมันดิบเบรนท์ เฉลี่ย ในปี 2019 ไว้ที่ราว 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นการหดตัวที่ -1.4%YOY (อ่านต่อใน Bull-Bear) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันซึ่งคิดเป็น 18% ของมูลค่าการส่งออกรวมอาจขยายตัวลดลง (รูปที่ 11)

 

 

รูปที่ 3: ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2019 ที่หดตัว ทำให้แรงส่งด้านราคาของสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลงจากปี 2018
อัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน* ช่วง 11 เดือนแรกปี 2018
หน่วย: %YOY

TH_page6.jpg

หมายเหตุ*: การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของอีไอซีเฉลี่ยทั้งปี 2018 และ 2019 อยู่ที่ 71 และ 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ และสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์และพลาสติก และน้ำมันสำเร็จรูป ต่อมูลการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยในปี 2017 อยู่ที่ 8.5% และ 3.0% ตามลำดับ
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ Bloomberg ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2018

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ