SHARE
OUTLOOK:CLMV ECONOMY
09 มกราคม 2019

เศรษฐกิจ CLMV: ยังคงเติบโตสูงแต่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นในปี 2019

เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีจะขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ราว 6.5-7% ในปี 2019

iStock-532263498.jpg


เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีจะขยายตัวสูงต่อเนื่องที่ราว 6.5-7% ในปี 2019
จากการคาดการณ์ของ IMF เศรษฐกิจกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามจะเติบโต 6.8% 7% 6.8% และ 6.5% ตามลำดับในปีนี้ โดยได้แรงสนับสนุนจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ทั้งการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ การขยายตัวทางเศรษฐกิจจะทำให้รายได้ต่อหัวของประเทศกลุ่มซีแอลเอ็มวีมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องราว 7-8% ต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า ถือเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจไทย ทั้งในภาคการลงทุนและการส่งออก โดยเฉพาะการส่งออกผ่านแดนไปยังเวียดนาม ซึ่งเห็นการเติบโตเฉลี่ยสูงราว 44% ต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีจะเผชิญความเสี่ยงจากภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นคู่ค้าและประเทศผู้ลงทุนหลัก

สงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ อาจสร้างโอกาสการส่งออกสำหรับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี การปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ อาจทำให้ทั้งสองประเทศหันมานำเข้าสินค้าหรือวัตถุดิบทดแทนจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า โดยหมวดสินค้าส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลบวกจากสงครามการค้า คือ สินค้าเกษตร เสื้อผ้าและรองเท้า ซึ่งสำหรับเวียดนาม การส่งออกรองเท้าไปยังสหรัฐฯ ขยายตัว 14%YOY ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2018 ทำให้เวียดนามกลายเป็นแหล่งผลิตและนำเข้ารองเท้าสำหรับสหรัฐฯ ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากจีน ในขณะเดียวกัน สงครามการค้าทำให้บริษัทในจีนหันมาลงทุนหรือย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าที่สูง โดยประเทศเป้าหมายหลักของนักลงทุนคือเวียดนามที่โดดเด่นในภาคการผลิตและประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงกัมพูชาและเมียนมาที่ได้รับ GSP (Generalized System of Preferences) หรือสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหรัฐฯ เป็นทุนเดิม

ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นเป็นความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีในปี 2019 ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีซึ่งมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงภายนอกค่อนข้างสูง ทั้งจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องและทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ การแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed จะกดดันให้สกุลเงินท้องถิ่นของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีอ่อนค่าลง โดยเฉพาะเงินจ๊าดเมียนมาที่อ่อนค่าลงถึง 13.37%YTD เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 27 ธันวาคม 2018 ในขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าต่อเนื่องยังส่งผลลบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลาว ซึ่งปัจจุบันมีระดับหนี้ต่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ สูงราว 68% ของ GDP และมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำ รองรับการนำเข้าได้เพียง 1.3 เดือน

นอกจากนี้ ทิศทางของเศรษฐกิจจีนยังส่งผลต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีซึ่งพึ่งพาจีนเป็นหลัก ทั้งในฐานะตลาดส่งออกหลักและประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยในปี 2017 มูลค่าการส่งออกไปจีนคิดเป็น 18% ของการส่งออกจากซีแอลเอ็มวีทั้งหมด และมูลค่าการลงทุนทางตรง (FDI) จากจีนยังมีสัดส่วนสูงถึง 13% ของ FDI รวม ดังนั้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจึงเป็นความเสี่ยงสำคัญอีกประการหนึ่ง เพราะอาจทำให้มูลค่าการลงทุนจากจีนและความต้องการสินค้าจากจีนลดลง โดยเฉพาะกับลาวที่มีจีนเป็นผู้ลงทุนอันดับหนึ่ง คิดเป็น 77% ของมูลค่า FDI ทั้งหมดของลาวในปี 2017 โดยโครงการลงทุนของจีนในลาวส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหมืองแร่และพลังงาน ส่วนกัมพูชา เมียนมา และเวียดนามมีการกระจายตลาดส่งออกและประเทศผู้ลงทุนประเทศอื่นๆ อยู่บ้าง จึงมีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวของจีนน้อยกว่า
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ