SHARE
OUTLOOK:IN FOCUS
08 มกราคม 2019

In focus : 3 ประเด็นน่าสนใจสำหรับเศรษฐกิจไทย ปี 2019

แม้ปี 2019 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอตัว แต่เรายังมองเห็นปัจจัยบวกหลายประการที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

 

Info_Infocus_Q12019.jpg

 

3 ประเด็นน่าสนใจสำหรับเศรษฐกิจไทยปี 2019

แม้ปี 2019 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจทั่วโลกเริ่มชะลอตัว แต่เรายังมองเห็นปัจจัยบวกหลายประการที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ทั้งการลงทุนภาครัฐที่จะกลายเป็นตัวชูโรง นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหม่ๆ ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น และสงครามการค้าในอีกมุมมองหนึ่งที่ไทยอาจพลิกให้เป็นโอกาสกับธุรกิจได้ นี่จึงเป็น 3 ประเด็นที่น่าสนใจให้หยิบยกขึ้นมาพูดถึง เพื่อมองหาโอกาสและเตรียมพร้อมรับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2019 นี้

ประเด็นที่ 1 : เมกะโปรเจกต์ภาครัฐ กระตุ้นเศรษฐกิจ-จุดติดลงทุนเอกชน

iStock-488539664.jpg

ในปี 2019 การลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มขยายตัวสูง อีไอซีประเมินว่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2019 จะอยู่ที่ราว 8.1 แสนล้านบาทคิดเป็นการเติบโตจากประมาณการในปี 2018 ที่ราว 9%YOY (รูปที่ 1) ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้าที่เติบโตในระดับสูงเช่นเดียวกัน โดยเม็ดเงินที่ผลักดันการเติบโตมาจากความคืบหน้าของโครงการที่เริ่มมีการก่อสร้างไปแล้วจากปีก่อนหน้าเป็นหลัก โดยโครงการสำคัญในกลุ่มนี้ ได้แก่ รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ และการขยายสนามบิน ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าการก่อสร้างรวมของโครงการดังกล่าวจะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นราว 1.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 87% ของมูลค่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่คาดการณ์ในปี 2019 ซึ่งเม็ดเงินในส่วนดังกล่าวนี้คิดเป็นราว 0.9% ของ nominal GDP ส่วนที่เหลือจะมาจากโครงการใหม่ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าในเมือง และเส้นทางเพิ่มเติมของรถไฟทางคู่ ทั้งนี้ หากประเมินจากความคืบหน้าของโครงการดังกล่าวแล้ว น่าจะยังไม่มีบทบาทมากนักในส่วนของเม็ดเงินการลงทุน เพราะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 โครงการใหม่ส่วนใหญ่จะยังอยู่ในช่วงการประมูลหาผู้รับเหมาไปจนถึงการจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การเวนคืนที่ดิน ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าจะมีการก่อสร้างในช่วงปลายปี 2019 ราว 8 พันล้านบาท

รูปที่ 1: อีไอซีคาดว่ามูลค่าการลงทุนด้านการก่อสร้างจะเติบโตราว 9% ในปี 2019 นำโดยการลงทุนต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง

01-01.jpg


นอกจากเม็ดเงินจากการก่อสร้างภาครัฐที่คาดว่าจะเติบโตแล้ว โครงการเมกะโปรเจกต์ใหม่ของภาครัฐก็มีศักยภาพที่จะดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนได้ แม้กิจกรรมการก่อสร้างจะยังไม่ได้เกิดขึ้นมากก็ตาม โดยเฉพาะโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่เริ่มมีความชัดเจน หลังภาครัฐได้อนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ใน EEC รวม 5 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นถึง 6.95 แสนล้านบาท โดยภาครัฐได้วางให้เป็นการลงทุนในลักษณะการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (Public-Private Partnership หรือ PPP) ซึ่งให้เอกชนเป็นผู้ออกเงินลงทุนเป็นส่วนใหญ่ เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนแบบ PPP ในอดีตแล้ว จะพบว่า โครงการ EEC มีวงเงินลงทุนที่สูงกว่าและมีสัดส่วนการลงทุนภาคเอกชนที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด (รูปที่ 2)

รูปที่ 2: สัดส่วนเงินลงทุนของภาคเอกชนในเมกะโปรเจกต์คมนาคม EEC อยู่ที่ราว 70% ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 30% เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการ PPP ในอดีต

02-01.jpg

 
ล่าสุด มีเอกชนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจร่วมลงทุนกับโครงการใน EEC อย่างชัดเจน เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้มีการยื่นประมูลและประกาศผู้ชนะสัมปทาน คือ กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง และพันธมิตร ไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา ส่วนโครงการเมกะโปรเจกต์ที่สนับสนุนการขนส่งทางน้ำอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ซึ่งได้เปิดขายเอกสารคัดเลือกไปเมื่อวันที่ 5-19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้ซื้อเอกสารไปแล้ว 32 ราย ทั้งไทยและต่างชาติ มีเวลาให้นักลงทุนตัดสินใจและยื่นข้อเสนอในวันที่ 14 มกราคม 2019 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งได้เปิดขายเอกสารคัดเลือกแล้วตั้งแต่วันที่ 9-21 พฤศจิกายน 2018 และมีนักลงทุนรายใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติสนใจเข้ามาซื้อเอกสารคัดเลือกไปแล้ว 18 ราย เอกชนที่สนใจจะต้องยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2019 และสุดท้าย โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งในปัจจุบันมีความเคลื่อนไหวในส่วนสัมปทานการบริหารจัดการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และกิจกรรมพื้นที่เชิงพาณิชย์ประเภทร้านค้าและบริการ และประเภทอาหารและเครื่องดื่ม มีเอกชนไทยรายใหญ่ได้รับสัมปทานแล้วและจะเริ่มเปิดบริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2019 นอกจากนี้ ยังมีโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา ที่มีการประกาศรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกเอกชนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2018 โดยให้เอกชนที่ผ่านการคัดเลือกส่งเอกสารข้อเสนอกลับมากลางเดือนกุมภาพันธ์ 2019 ส่วนในอนาคต ภาครัฐได้เตรียมการประมูลโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน ซึ่งมีวงเงินลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท โดยมีนักลงทุนซื้อเอกสารการคัดเลือกไปแล้ว 42 รายระหว่างวันที่ 16-29 พฤศจิกายน และภาครัฐกำหนดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2019 การพัฒนาดังกล่าวจะช่วยรองรับจำนวนผู้โดยสารที่กำลังเติบโตสูง โดยในปี 2015-2017 จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศของสนามบินอู่ตะเภาเติบโตสูงถึง 144% ต่อปี และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2018 ยอดผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ราว 1.3 ล้านคน คิดเป็นการเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 30%YOY โดยภาครัฐได้ตั้งเป้าจำนวนผู้โดยสารไว้ที่ 3 ล้านคนต่อปี อีไอซีมองว่าการที่เอกชนรายใหญ่ให้ความสนใจที่จะลงทุนใน โครงการเมกะโปรเจกต์หลายๆ
โครงการใน EEC จะเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการกระตุ้นความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนในด้านอื่นๆ ตามมา

ตัวชี้วัดการลงทุนใน EEC จากภาคเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่ออนาคตการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ EEC โดยยอดขอรับการส่งเสริมสิทธิประโยชน์เพื่อการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 122%YOY ในช่วงครึ่งปีแรกสวนทางกับยอดขอรับการส่งเสริมทั้งประเทศที่ลดลง -2% ในช่วงเดียวกัน (รูปที่ 3) ทาง BOI คาดว่ากว่า 80% ของยอดขอรับการส่งเสริมในปีนี้จะมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นหลัก นอกจากนี้ ยอดการจดทะเบียนบริษัทของทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติในพื้นที่ EEC ในช่วง 9 เดือนแรกเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 พันบริษัท หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นราว 7%YOY โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และโรงแรมและร้านอาหาร (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) ซึ่งสะท้อนความคาดหวังของภาคเอกชนต่อการขยายตัวของเมืองและเศรษฐกิจในพื้นที่ ทั้งยอดขอรับการส่งเสริมและยอดการจัดตั้งธุรกิจที่เพิ่มขึ้นถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในด้านต่างๆ การจ้างงาน หรือการขยายตัวของเมือง โดยมีความชัดเจนที่เพิ่มขึ้นของโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นที่สำคัญ

รูปที่ 3: ภาคเอกชนมีความสนใจลงทุนในโครงการ EEC ชัดเจน

03-01.jpg


อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2019 จะได้แรงส่งที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการใน EEC และการต่อยอดในส่วนที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน ซึ่งจะเข้ามาชดเชยการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกสินค้าที่มีโอกาสชะลอตัวลงตามแนวโน้มการค้าโลกและความเสี่ยงจากสงครามการค้า อย่างไรก็ตาม การลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC ยังคงต้องจับตาประเด็นความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายในกรณีที่มีการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลหลังจากมีการเลือกตั้ง

ประเด็นที่ 2 : ลุ้นนักท่องเที่ยวจีนกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกภายในไตรมาสที่ 2

iStock-48853966.jpg


จีนครองตำแหน่งกลุ่มนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลกตั้งแต่ปี 2012 โดยในปี 2017 มีนักท่องเที่ยวจีนกว่า 130 ล้านรายทั่วโลก เพิ่มขึ้น 7%YOY และยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนยังสูงถึง 1.15 แสนล้านดอลลาร์ ทำสถิติสูงสุดเป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน ทั้งนี้ ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจีน โดยสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจีน 9.8 ล้านรายในปี 2017 เพิ่มขึ้น 11%YOY และคิดเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดราว 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยทั้งหมด นอกจากนี้ จีนยังเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใช้จ่ายในไทยสูงเฉลี่ย 53,480 บาทต่อหัวต่อทริป ทั้งนี้ ในครึ่งแรกของปี 2018 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 5.9 ล้านราย ด้วยอัตราการเติบโตสูงถึง 26%YOY

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตในเดือนกรกฎาคม 2018 กระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวไทยและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวจีนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประสบภัยทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวจีนแบบกลุ่มทัวร์ ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาในไทยลดลงถึง 9.5%YOY และฉุดการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยทั้งหมดเหลือเพียง 1.9%YOY จากเดิมที่โตได้ดี 15.5%YOY และ 8.4%YOY ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) คาดว่าไทยอาจสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวราว 2-5 หมื่นล้านบาทหากนักท่องเที่ยวจีนไม่กลับมาไทยภายในไตรมาสแรกของปี 2019

อีไอซีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 โดยประเมินว่าผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตได้ผ่านจุดต่ำสุดในเชิงอัตราการเปลี่ยนแปลงเทียบกับปีก่อนหน้าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2018 นอกจากนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะทยอยปรับตัวสูงขึ้นจากมาตรการของภาครัฐในการสร้างความเชื่อมั่นและโปรโมทการท่องเที่ยว รวมทั้งอ้างอิงจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่กลับมาขยายตัว 8 เดือนภายหลังการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญในเดือนตุลาคม 2016 นอกจากนี้ อีไอซีมองว่าการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในปี 2019 จะได้แรงสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวจีนอีก 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตัวเอง (Freely Independent Traveler: FIT) นักท่องเที่ยวจีนแบบกลุ่มทัวร์ที่มีรายได้ปานกลางในเมืองรอง และนักท่องเที่ยวจีนเชิงสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

1. กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ได้รับผลกระทบน้อยกว่าและมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง ประชากรจีนในช่วงอายุ 18-34 ปี ซึ่งมีจำนวนกว่า 400 ล้านคนหรือราว 30% ของประชากรจีนทั้งประเทศ คือกลุ่มประชากรที่มีศักยภาพเป็นนักท่องเที่ยว FIT ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ มีกำลังซื้อ และต้องการแสวงหาประสบการณ์ด้วยการท่องเที่ยวด้วยตัวเองในต่างประเทศ นักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ทั่วโลกมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 37% ในปี 2013 เป็น 42% ในปี 2017 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในอนาคต จากรายงานของ China Luxury Advisors ร่วมกับ Fung Business Intelligence Center (2017) นักท่องเที่ยวจีนราว 70% วางแผนที่จะเดินทางด้วยตัวเองในครั้งต่อไป ทั้งนี้ ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายหลักของนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้มีสัดส่วนถึง 60% ของนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในไทยในปี 2017 และเพิ่มขึ้นเป็น 68% ใน 9 เดือนแรกของปี 2018 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับนักท่องเที่ยวจีนกับกลุ่มทัวร์ นักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ใช้เวลาท่องเที่ยวในไทยนานเฉลี่ย 8-9 วันต่อทริป และมีค่าใช้จ่ายสูงราว 54,345 บาทต่อหัวต่อทริป จึงเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายรับด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาในไทย นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ยังเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 2.6 ล้านรายในปี 2013 เป็น 5.9 ล้านรายในปี 2017 แม้ว่าจะมีเหตุการณ์ทางการเมืองในปี 2014 และการจัดการทัวร์ศูนย์เหรียญในปี 2016 ก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีนกับกลุ่มทัวร์หดตัวอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยราว 30%YOY ภายหลังเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต จำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT ชะลอตัวลงเฉลี่ยเพียง 10%YOY ในไตรมาสที่ 3 และกลับมาฟื้นตัวที่ 1%YOY ในเดือนพฤศจิกายน (รูปที่ 3) สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนกลุ่ม FIT มีความอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ความไม่สงบน้อยกว่านักท่องเที่ยวจีนกับกลุ่มทัวร์ เนื่องจากสามารถเข้าถึงข่าวสาร ติดตามและประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านช่องทางออนไลน์ จึงมีแนวโน้มที่จะเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในปี 2019 มากกว่ากลุ่มอื่น

รูปที่ 4: จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางด้วยตัวเอง (FIT) เติบโตอย่างรวดเร็วและได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้อยกว่า

04-01.jpg

2. กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนรายได้ปานกลางในเมืองรองที่เพิ่มขึ้นจะเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวแบบกลุ่มทัวร์สำคัญในระยะต่อไป เศรษฐกิจเมืองรองและรายได้ต่อหัวของประชากรที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการเพิ่มศูนย์ทำ Visa ในเมืองรอง รวมถึงการเพิ่มเส้นทางบินและจำนวนไฟลต์เชื่อมต่อเมืองรองของจีนกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากเมืองรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2017 มี 10 เมือง New Tier 11 หรือเมืองรองเดิม ที่ไต่อันดับส่งออกนักท่องเที่ยวจีนมากที่สุด โดยเฉพาะเมือง Chengdu ที่สามารถแซงเมือง Guangzhou เมือง Tier 1 เดิม ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 3 ได้ และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางออกนอกประเทศจากเมือง New Tier 1 เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นำโดย Xi’an และ Changsha ที่เพิ่มขึ้นถึง 323%YOY และ 235%YOY ตามลำดับ (รูปที่ 5) ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวจีนจากเมืองรองยังคงนิยมเดินทางกับกลุ่มทัวร์ แต่มีแนวโน้มใช้จ่ายสูงขึ้น โดยในช่วง Golden Week 2018 ของจีน Ctrip รายงานว่า นักท่องเทียวจีนจากเมืองรองเช่น Dalian Suzhou Shenyang Chengdu Fuzhou Zhengzhou Xian และ Xiamen มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางราว 982-1,127 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงขึ้นจากปีก่อน และสูงกว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากเมือง Tier 1 นอกจากนี้ ไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจีนในหลายปีที่ผ่านมาและโดยเฉพาะในช่วง Golden Week 2018 เนื่องจากข้อได้เปรียบหลักในด้านความสวยงามและเอกลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว ความหลากหลายของอาหาร และการเป็นแหล่งช็อปปิ้งสำคัญ ซึ่งตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวจีนโดยเฉพาะที่เดินทางกับกลุ่มทัวร์ซึ่งหมดค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ไปกับการพักผ่อนและการจับจ่ายซื้อของ ดังนั้น โอกาสของไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มใหม่จากเมืองรองที่มีกำลังซื้อจึงเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

รูปที่ 5: นักท่องเที่ยวชาวจีนจากเมืองรองเดินทางออกนอกประเทศเป็นจำนวนมากในปี 2017 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

05-01.jpg

3. กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนเชิงสุขภาพที่แม้จะยังมีจำนวนไม่มากแต่มีการใช้จ่ายด้านสุขภาพสูง จีนกำลังเผชิญปัญหาด้านโครงสร้างประชากร 2 ด้านคือสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่สูงถึง 17.3% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงเหลือ 3.5%YOY ในปี 2017 แม้รัฐบาลจีนจะอนุญาตให้มีลูก 2 คนได้ตั้งแต่ปี 2016 ส่งผลให้ประชากรผู้สูงอายุจีนและคู่สมรสจีนที่ต้องการมีลูกมีศักยภาพเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทย ไทยเองก็ตั้งเป้าหมายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและได้รับการจัดอันดับที่ 6 จาก International Healthcare Research Center’s Medical Tourism Index ในปี 2017 ด้วยข้อได้เปรียบด้านบุคลากร มาตรฐาน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ ตลอดจนค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรายงานว่า ในปี 2017 ไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 66,492 ราย สร้างรายได้ 2.3 หมื่นล้านบาท และคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในปี 2018 จะเพิ่มขึ้น 13.9%YOY เป็น 2.6 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ไทยต้องการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจีนซึ่งเดินทางเข้ามารับบริการในไทยมากเป็นอันดับ 1 และมีการใช้จ่ายสูงที่สุดในนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยเจาะกลุ่มผู้สูงอายุจีนราว 240 ล้านราย ด้วยบริการรักษาโรคร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือด โรคกระดูก โรคทางเดินอาหารและตับ โรคมะเร็ง และโรคสมอง ขณะเดียวกันก็จับกลุ่มคู่สมรสจีนกว่า 90 ล้านคู่ที่ต้องการมีบุตรคนที่ 2 ด้วยการทำเด็กหลอดแก้วในไทยที่มีอัตราความสำเร็จ 60% ซึ่งสูงกว่า 30% ในจีน2 ส่วนค่าใช้จ่ายในไทยก็ถูกกว่าเฉลี่ยราว 2-4 แสนบาทต่อหัวต่อทริป นอกจากนี้ ยังมุ่งเป้ากลุ่มชาวจีนที่เดินทางเข้ามาไทยเพื่อเข้ารับบริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายสูงที่สุดเฉลี่ย 2-7 แสนบาทต่อหัวต่อทริป จำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจีนเชิงสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2019 และระยะต่อไป ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการส่งเสริมของรัฐบาล ทั้งการขยายเวลาพำนักในไทยเป็น 90 วัน สำหรับผู้ป่วยจีนและผู้ติดตาม และการโปรโมตการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน 5 เมืองหลักของจีน อีกส่วนหนึ่งมาจากความต้องการของจีนเองที่ยินดีจ่ายค่ารักษาพยาบาลมากขึ้นเพื่อเข้าถึงการบริการที่ได้มาตรฐานในไทย เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น

รัฐบาลไทยเร่งออกมาตรการเรียกคืนความมั่นใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนกลับมาในครึ่งหลังของปี 2018 ผ่าน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยทางบกและทางทะเล 2) การทำการตลาดด้วยการส่งเสริมการเช่าเครื่องบินเหมาลำและการร่วมมือกับเอเจ้นต์ท่องเที่ยวจีนจัดทริปสำหรับนักท่องเที่ยวจีนจากเมืองรองโดยเฉพาะ และ 3) การอำนวยความสะดวกด้วยการยกเว้นค่าธรรมเนียม 2 เดือนสุดท้ายของปี 2018 สำหรับนักท่องเที่ยวจีน เพื่อเพิ่มจำนวนให้ถึงเป้า 10 ล้านคนในปี 2018 ทั้งนี้ จำนวนชาวจีนที่มีหนังสือเดินทางและเดินทางออกนอกประเทศในปี 2017 คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ3 ซึ่งหมายถึงโอกาสของไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจีนที่ยังเติบโตได้อีกมาก พฤติกรรมการเดินทางและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีน 3 กลุ่มหลักที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวของไทยในปี 2019 และระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การหดตัวอย่างรุนแรงและการสูญเสียรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวจีนหลังจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตในเดือนกรกฎาคม 2018 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงจุดอ่อนของการท่องเที่ยวไทยที่พึ่งพานักท่องเที่ยวจีนในระดับสูง ดังนั้น การท่องเที่ยวไทยจึงควรเพิ่มความหลากหลาย
ของตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เพิ่มความสำคัญให้นักท่องเที่ยวตลาดรองจากอาเซียนและเอเชีย ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงในปี 2018 ที่ผ่านมา ในขณะเดียวกัน ไทยควรยกระดับคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวเดิมและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อเพิ่มทางเลือกและกระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีความต้องการแตกต่างกัน พร้อมทั้งเพิ่มศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะการขยายสนามบินนานาชาติ เพื่อการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระยะยาว

ประเด็นที่ 3 : โอกาสของธุรกิจไทยในสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน

iStock-4885396.jpg

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนสร้างความไม่แน่นอนในภาพรวมการค้า ซึ่งอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการค้า สร้างความปั่นป่วนต่อห่วงโซ่การผลิตโลกและแผนการลงทุนของภาคธุรกิจ ในทางกลับกันก็อาจเป็นโอกาสของไทยเพื่อสร้างความได้เปรียบท่ามกลางความขัดแย้งของสองมหาอำนาจโลก
มาตรการกีดกันทางการค้าอาจทำให้สหรัฐฯ และจีนต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางการค้าใหม่เพื่อเลี่ยงต้นทุนการผลิตและส่งออกที่สูงขึ้นจากภาษีนำเข้าสินค้า โดยเฉพาะจีนอาจเริ่มเสียเปรียบการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ ด้วยเหตุที่จีนเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในภูมิภาคเอเชียและมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การผลิตโลก ทำให้ไทยซึ่งมีห่วงโซ่การผลิตกับจีนค่อนข้างมากได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการส่งออกสินค้าที่มีห่วงโซ่การผลิตร่วมกัน นอกจากนี้ แผนการลงทุนของภาคธุรกิจก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางผลกระทบเชิงลบในด้านการค้าการลงทุน ไทยก็สามารถมองสงครามการค้าครั้งนี้เป็นโอกาสได้เช่นกัน อีไอซีมองว่าโอกาสที่ไทยจะได้รับผลกระทบเชิงบวกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ กับจีนแบ่งออกเป็น 3 ช่องทาง ดังนี้

1. โอกาสจากการขยายฐานการผลิตมายังไทย

ผู้ผลิตในจีนกำลังเผชิญกับต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้นจากภาษีนำเข้า จึงมีแนวโน้มย้ายฐานการผลิตบางส่วนออกจากจีน สงครามการค้าทำให้ผู้ผลิตที่ตั้งฐานการผลิตในจีนเสียเปรียบการแข่งขันในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เนื่องจากมีต้นทุนจากภาษีนำเข้าที่สูงกว่าประเทศอื่น ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ บางส่วนวางแผนย้ายการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีและมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆ ของสหรัฐฯ ที่อาจตามมาหากสงครามการค้ายังมีแนวโน้มยืดเยื้อ ภูมิภาคเอเชียเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของจีน เนื่องจากห่างจากจีนไม่มากนักและยังสามารถใช้ข้อได้เปรียบจาก FTA ในประเทศที่เข้าไปลงทุนเพื่อขยายตลาดไปยังประเทศอื่นๆ ที่จีนยังไม่มี FTA ได้อีกด้วย อีไอซีมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้ไทยได้รับโอกาสเป็นฐานการผลิตใหม่ของจีนในบางอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่จีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและไทยมีความพร้อมในการรับการลงทุน ดังนี้

1.1 อุตสาหกรรมยางล้อ: ผู้ผลิตยางล้อในจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า กดดันให้ต้องย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยซึ่งมีความพร้อมในด้านแหล่งผลิตยางพารา ในช่วงปี 2015 สหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีนำเข้ายางล้อรถยนต์โดยสารและยางล้อรถบรรทุกขนาดเล็กจากจีนในอัตรา 25.3% ด้วยข้อกล่าวหาการทุ่มตลาด (dumping) และรัฐบาลจีนอุดหนุนให้สินค้าส่งออกขายต่ำกว่าราคาตลาด ส่งผลให้ผู้ผลิตยางล้อจีนส่วนหนึ่งได้ย้ายฐานการผลิตมายังไทยซึ่งมีความได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ เนื่องจากไทยเป็นแหล่งผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก มีส่วนแบ่งราว 36% ของการผลิตยางพาราโลก ล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศเก็บภาษีอัตรา 10% ในสินค้าหมวดยางล้อและมีโอกาสขึ้นภาษีในอัตรา 25% ในปี 2019 สงครามการค้าทำให้ผู้ผลิตยางล้อในจีนได้รับผลกระทบจากต้นทุนจากภาษี จึงมีแนวโน้มย้ายคำสั่งการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ มายังฐานการผลิตในไทยแทน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการผลิตยางล้อในไทยใช้กำลังการผลิตเกือบเต็มที่แล้ว หากผู้ผลิตยางล้อจีนต้องการให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกทดแทนยางล้อที่ผลิตในจีนเพิ่มเติม จะต้องลงทุนขยายการผลิตเพื่อรองรับการผลิตในส่วนดังกล่าว

1.2 อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์: ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตในบางรายการสินค้า สหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนโดยพุ่งเป้าในหมวดอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักรและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นหมวดใหญ่ที่สุดที่สหรัฐฯ นำเข้าจากจีน โดยปี 2017 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าหมวดดังกล่าวในสัดส่วนสูงถึง 50% ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนทั้งหมด ผู้ผลิตที่มีฐานการผลิตในจีนที่ได้รับผลกระทบมีแนวโน้มลดความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ไปยังภูมิภาคอื่น (รูปที่ 40) สินค้าที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์จากจีน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า เนื่องจากไทยเคยเป็นฐานการผลิตเดิมซึ่งมีการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าราว 3.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2017 อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะมีความพร้อมและศักยภาพสูงในการเป็นเป้าหมายของการย้ายฐานการผลิต แต่ไทยก็ยังคงต้องแข่งขันเพื่อดึงดูดการลงทุนในสินค้าหมวดนี้กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามและมาเลเซีย โดยเฉพาะเวียดนาม ซึ่งมีความได้เปรียบด้านระยะทางที่ใกล้จีนมากกว่า มีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่าและเป็นฐานการผลิตในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญหลายชนิด เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต เป็นต้น

รูปที่ 6: ผู้ผลิตที่มีฐานการผลิตในจีนบางส่วนได้ประกาศขยายฐานการผลิตมายังไทยเพื่อเลี่ยงความเสี่ยงสงครามการค้า
06-01.jpg

2. โอกาสจากการส่งออกสินค้าทดแทนจีนและสหรัฐฯ

สงครามการค้า ทำให้จีนและสหรัฐฯ ต้องมองหาสินค้าทดแทนจากประเทศอื่นเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าเดิมที่ได้รับผลกระทบจากภาษี ในภาพรวมของสงครามการค้า สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนโดยพุ่งเป้าไปยังสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่จีนได้ตอบโต้โดยพุ่งเป้าไปที่สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ ทำให้ในระยะสั้นไทยอาจมีโอกาสส่งออกสินค้าไทยที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อทดแทนสินค้านำเข้าทั้งสองประเทศ ดังนี้

2.1 โอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังจีนมากขึ้นเพื่อทดแทนสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ รายการสินค้าที่จีนขึ้นภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ส่วนใหญ่พุ่งเป้าในสินค้าเกษตรเป็นหลัก เนื่องจากเกษตรกรถือเป็นฐานเสียงของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้สินค้าเกษตรของสหรัฐฯ มีราคานำเข้าสูงกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะส่งออกสินค้าไปจีนเพื่อทดแทนสินค้าสหรัฐฯ เช่น กากเหลือจากการผลิตน้ำตาล (รูปที่ 7) เนื่องจากที่ผ่านมาจีนนำเข้าจากสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด มูลค่าในปี 2017 ราว 66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยส่งออกไปลาวเกือบทั้งหมด มูลค่าราว 3.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่ามูลค่าจะไม่สูงมากแต่เป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ขยายตลาดไปยังจีน นอกจากนี้ ผลไม้สดและผลไม้แช่เย็นไทย (ฝรั่ง มะม่วงและมังคุด) ยังเป็นผลไม้ที่ชาวจีนนิยมบริโภค เมื่อจีนขึ้นภาษีนำเข้าผลไม้จากสหรัฐฯ (แอปเปิ้ล แพร์และควินซ์) ทำให้ผลไม้สหรัฐฯ มีราคาสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสให้ผู้บริโภคชาวจีนหันมาบริโภคผลไม้ไทยทดแทนผลไม้สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีลาวเป็นคู่แข่งสำคัญที่สามารถส่งออกผลไม้ไปยังจีนได้เช่นกัน

รูปที่ 7: หมวดสินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปจีนทดแทนสหรัฐฯ จากสงครามการค้า
07-01.jpg

2.2 โอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ยางไปยังสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน รายการสินค้าที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ส่วนใหญ่เป็นสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ไทยเองเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ (HDDs) หลักของโลก โดยมีสัดส่วนการผลิตถึง 50% ของการผลิตฮาร์ดดิสก์ทั่วโลก จึงได้เปรียบในการส่งสินค้าทดแทนจีนไปยังสหรัฐฯ (รูปที่ 8) อย่างไรก็ดี ความล้าหลังของเทคโนโลยีที่ไทยยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านและพัฒนาการผลิต HDDs ไปสู่เทคโนโลยี SSD ได้อย่างสมบูรณ์ยังคงเป็นอุปสรรคทำให้ความต้องการและความสามารถในการส่งออกในอนาคตโดยรวมลดลง เนื่องจากพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนผลิตภัณฑ์ยาง ไทยก็เป็นแหล่งผลิตยางพาราหลักของโลกและมีความสามารถในการผลิตยางล้อ รวมทั้งถุงมือยางส่งออกไปยังสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจีนได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ไทยอาจไม่สามารถขยายการผลิตเพิ่มขึ้นได้มากนัก ประกอบกับประเทศอื่นๆ เช่น แคนาดาและมาเลเซีย ก็มีความสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ยางไปยังสหรัฐฯ ได้ในลักษณะเดียวกัน ทำให้ไทยมีแนวโน้มได้ประโยชน์จากการส่งออกทดแทนในผลิตภัณฑ์ยางจำกัด

รูปที่ 8: หมวดสินค้าที่มีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนจีน จากสงครามการค้า
08-01.jpg

3. โอกาสใช้ประโยชน์จากสินค้าที่ถูกทุ่มตลาด (Dumping)

ในระยะสั้น สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน จะทำให้สินค้าส่งออกของทั้งสองฝ่ายมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากภาษีนำเข้า
ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ทั้งสองฝ่ายอาจหลีกเลี่ยงไม่นำเข้าสินค้าของกันและกันในหมวดที่สามารถหาตลาดทดแทนได้ ทำให้ในระยะสั้นอาจมีสินค้าคงคลังส่วนเกินเหลือจำนวนมาก ผู้ส่งออกจีนและสหรัฐฯ จึงมีความจำเป็นต้องหาทางระบายสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงไทยด้วย และปรับลดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบกับตลาดภายในประเทศเล็กน้อย เพื่อเจาะตลาดใหม่และระบายสินค้าให้ได้ในปริมาณมาก ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อผู้ผลิตเพื่อการส่งออกของไทยที่อาจมีรายได้ลดลงจากราคาสินค้าส่งออกที่ปรับลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคและผู้ผลิตไทยที่ใช้สินค้าเหล่านั้นเป็นวัตถุดิบในการผลิตก็สามารถใช้ประโยชน์จากการทุ่มตลาดครั้งนี้ได้ อาทิเช่น

3.1 ใช้ประโยชน์จากการที่จีนได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าจีนที่เน้นเพื่อส่งออก มาตรการกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าจีนไปยังสหรัฐฯ ลดลง แต่ด้วยเหตุที่จีนมีกำลังการผลิตมาก ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกกว่าโดยเปรียบเทียบ และประกอบกับเงินหยวนที่อ่อนค่าตั้งแต่ต้นปี 2018 ทำให้สินค้าจีนมีราคาถูก หากสงครามการค้ามีแนวโน้มยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น ในระยะสั้น มีโอกาสที่สินค้าจีนจะทะลักเข้ามาในไทย อีไอซีมองว่าในบางส่วนจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตที่นำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เช่น หมวดคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โดยเฉพาะแผงวงจรที่พิมพ์แล้ว (รูปที่ 9) ทำให้ผู้ผลิตได้วัตถุดิบจากจีนในราคาที่ถูกลง นอกจากนี้ ผู้บริโภคไทยยังได้ประโยชน์ เนื่องจากสามารถซื้อสินค้าได้ในราคาที่ถูกลงโดยเฉพาะในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น โทรทัศน์และเครื่องปรับอากาศที่นำเข้าจากจีน ซึ่งเป็นสินค้าที่จีนได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้มีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะนำเข้าเครื่องปรับอากาศจากจีนลดลงและนำเข้าจากเม็กซิโกทดแทน เครื่องปรับอากาศจากจีนจึงอาจจะทะลักเข้ามาในไทย อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยบางส่วนก็อาจได้รับผลกระทบด้านราคาที่ต้องปรับตัวลดลงจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาด้วย

รูปที่ 9: สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จีนอาจไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น
09-01.jpg
3.2 ใช้ประโยชน์จากการที่สหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีจากจีน โดยเฉพาะถั่วเหลือง ปัจจุบัน สหรัฐฯ ส่งออกถั่วเหลืองไปจีนในสัดส่วนสูงกว่า 50% ของการส่งออกถั่วเหลืองทั้งหมด เมื่อจะต้องเผชิญกับภาษีที่ 38% จากเดิม 13% จีนจึงอาจหันไปนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลแทน และทำให้สหรัฐฯ ส่งออกถั่วเหลืองได้ลดลง จึงมีแนวโน้มที่สหรัฐฯ จะระบายถั่วเหลืองส่วนเกินมายังไทย เป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยที่อาจนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ มาใช้เป็นวัตถุดิบแทนปลาป่นในราคาที่ถูกลง (รูปที่ 10) และสำหรับผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ที่มักนำถั่วเหลืองมาใช้ทดแทนปลาป่น อาจมีช่องทางลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ได้

รูปที่ 10: สินค้าอิเล็กทรอนิกส์จีนอาจไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น
10-01.jpg
อีไอซีมองว่าผลกระทบทางลบต่อการส่งออกไทยจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไทยยังสามารถมองวิกฤติให้เป็นโอกาสผ่านทั้งสามช่องทางข้างต้นเพื่อบรรเทาผลลบจากสงครามการค้าครั้งนี้
ทั้งจากการขยายฐานการผลิตเข้ามาในไทย การส่งออกทดแทนสินค้าจีน-สหรัฐฯ และใช้ประโยชน์จากสินค้าที่ถูกทุ่มตลาด ซึ่งไทยสามารถใช้ความได้เปรียบในฐานะฐานการผลิตสินค้าที่มีความพร้อมทั้งหมวดเกษตรและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อแสวงหาโอกาสท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้า อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น ผลประโยชน์ที่ได้อาจมีจำกัด เนื่องจากคู่แข่งประเทศอื่นๆ ก็มองหาโอกาสเช่นเดียวกัน ประกอบกับข้อจำกัดด้านกำลังการผลิตของไทยเองที่อาจผลิตเพื่อส่งออกทดแทนได้ไม่มากนัก แม้ผลบวกจากสงครามการค้าจะไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางลบจากความเชื่อมโยงด้านห่วงโซ่อุปทานได้ทั้งหมดแต่อย่างน้อยก็จะช่วยบรรเทาให้ผลกระทบดังกล่าวลดลงได้บางส่วน ผู้ประกอบการไทยและผู้ส่งออกที่ยังต้องพึ่งพาการส่งออกไปสหรัฐฯ และจีนสูงจึงยังต้องจับตาสงครามการค้าในปี 2019 นี้อย่างใกล้ชิด





1 ในปี 2017 รัฐบาลจีนยกระดับ 15 เมืองรองขึ้นเป็น New Tier 1 ประกอบด้วย Chengdu Hangzhou Wuhan Tianjin Nanjing Chongqing Xi’an Changsha Qingdao Shangying Suzhou Zhengsha Ningbo Dongguan และ Wuxi 
2 Brian Wang, Fertility and IVF assistance tool has 8 million Chinese users, NEXTBIGFUTURE, September 2018
3 Ctrip and China Tourism Academy, 2017 China Outbound Tourism Travel Report, China Outbound Tourism Research Institute, January 2018
4 ไทยส่งออกผลไม้ไทย (HS 0804) ได้แก่ ฝรั่ง มะม่วงและมังคุดสดหรือแห้ง เพื่อส่งออกทดแทนผลไม้สหรัฐฯ (HS 0808) ได้แก่ แอปเปิ้ล แพร์และควินซ์สด

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ