SHARE
SCB EIC ARTICLE
26 กันยายน 2012

พม่า...กับระบบการเงิน-ธนาคาร

เมื่อสองสัปดาห์ก่อนดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาเชิงธุรกิจซึ่งจัดขึ้นโดย Euromoney ณ “กรุงเนปิดอว์” เมืองหลวงใหม่ของพม่า ซึ่งถือว่างานสัมมนาครั้งนี้ได้เลือกช่วงจังหวะเวลาที่พม่าได้ทะยานตัวเองขึ้นมาเป็นตลาดน่าลงทุนแห่งใหม่ของโลกได้เป็นผลสำเร็จ จึงไม่น่าแปลกใจที่งานดังกล่าวสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก รวมถึงตัวแทนจากกองทุน private equity และนักลงทุนสถาบันมากหน้าหลายตา ที่พร้อมเทเม็ดเงินมหาศาลลงในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง เหล่าวิทยากรรวมถึงตัวดิฉันเองจึงถือโอกาสใช้เวทีในงานสัมมนานี้ ร่วมกันหารือถึงความคืบหน้าของการปฏิรูประบบการเงินการธนาคารของพม่า เพราะเราตระหนักถึงผลกระทบต่อการลงทุนขนาดใหญ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และมิใช่เฉพาะนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่ผลกระทบยังแผ่วงกว้างไปยังนักลงทุนท้องถิ่นในพม่าไม่แพ้กัน

ผู้เขียน: ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์

 158673029.jpg

 

เมื่อสองสัปดาห์ก่อนดิฉันได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาเชิงธุรกิจซึ่งจัดขึ้นโดย

Euromoney  ณ "กรุงเนปิดอว์" เมืองหลวงใหม่ของพม่า ซึ่งถือว่างานสัมมนาครั้งนี้ได้เลือกช่วงจังหวะเวลาที่พม่าได้ทะยานตัวเองขึ้นมาเป็นตลาดน่าลงทุนแห่งใหม่ของโลกได้เป็นผลสำเร็จ  จึงไม่น่าแปลกใจที่งานดังกล่าวสามารถดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลก  รวมถึงตัวแทนจากกองทุน private equity และนักลงทุนสถาบันมากหน้าหลายตา  ที่พร้อมเทเม็ดเงินมหาศาลลงในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนสูง  เหล่าวิทยากรรวมถึงตัวดิฉันเองจึงถือโอกาสใช้เวทีในงานสัมมนานี้ ร่วมกันหารือถึงความคืบหน้าของการปฏิรูประบบการเงินการธนาคารของพม่า  เพราะเราตระหนักถึงผลกระทบต่อการลงทุนขนาดใหญ่อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และมิใช่เฉพาะนักลงทุนต่างชาติเท่านั้น แต่ผลกระทบยังแผ่วงกว้างไปยังนักลงทุนท้องถิ่นในพม่าไม่แพ้กัน  

...นั่นก็เพราะการมีระบบการเงินระดับมหภาคที่ดีในการจัดการบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินจ๊าดและอัตราเงินเฟ้อ จะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นและขยายขีดความสามารถของนักลงทุนต่างชาติ ในขณะเดียวกัน การมีระบบการเงินการธนาคารที่ทันสมัย จะช่วยพัฒนาและเพิ่มช่องทางการระดมเงินทุนเพื่อสร้างศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการพม่าในการร่วมทุนกับต่างชาติในโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

บนพื้นฐานที่พม่าสามารถกระตุ้นความสนใจจากนักลงทุนได้อย่างล้มหลามเช่นนี้  ทุกท่านคงจะจินตนาการได้ถึงการไหลทะลักของเงินทุนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจพม่าในไม่ช้า  ค่าเงินจ๊าดจึงอาจต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก หากระบบที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและติดตามสภาพเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้  ในระยะนี้ ต้องจับตาดูการพิจารณาใช้เครื่องมือทางการเงินของธนาคารกลางพม่า (CBM) เป็นพิเศษ  ที่จำเป็นต้องมีความหลากหลายมากขึ้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบการเงินมหภาค ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่ CBM เน้นการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเป็นหลักในการสร้างเสถียรภาพของเงินจ๊าด แต่ในขณะที่เงินลงทุนต่างชาติกำลังจะเข้ามา และยังไม่นับรวมถึงเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่จะทยอยเข้ามาเรื่อยๆ  ประกอบกับการเปิดเสรีด้านการส่งเงินออกนอกประเทศมากขึ้น...เหล่านี้จะกลายเป็นภาระหนักในการบริหารจัดการก้อนเงินมหาศาลด้วยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่เพียงไม่ถึงหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  จึงเป็นไปได้สูงที่เราจะเห็นการใช้นโยบายด้านดอกเบี้ย หรือแม้แต่การออกพันธบัตรรัฐบาลในปี 2013 เป็นต้นไป เพราะเป็นช่วงที่ CBM จะเริ่มมีอำนาจอิสระในการวางแผนนโยบายการเงิน  ส่วนการควบคุมอัตราเงินเฟ้อก็เช่นเดียวกัน ทาง CBM ก็อยู่ในระหว่างการเร่งพัฒนาเครื่องมือชี้วัดทางราคา เช่น Consumer Price Index (CPI) เพื่อใช้ติดตามเฝ้าระวังระดับราคาสินค้าและบริการ เพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อสูงเกินไปจนส่งผลกระทบรุนแรงต่อกำไรขาดทุนและการดำเนินธุรกิจในพม่า

ในขณะที่การพัฒนาระบบการเงินมหภาคเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง  ระบบธนาคารก็ควรได้รับการพัฒนาไม่น้อยไปกว่ากัน เพราะยังนับเป็นจุดอ่อนสำคัญของพม่า  และยิ่งเมื่อกฎหมายลงทุนฉบับใหม่กำหนดให้การลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง อาทิ ธุรกิจพลังงาน เหมือนแร่ และโทรคมนาคม ยังต้องทำผ่านการร่วมทุนกับรัฐวิสาหกิจหรือเอกชนพม่าเท่านั้น  จึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้ความต้องการเงินก้อนโตของผู้ประกอบการพม่าเพื่อเข้าร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติในโครงการเหล่านั้น จะต้องสูงขึ้นโดยปริยาย แต่ทว่า ระบบธนาคารในพม่ายังขาดสภาพคล่องรุนแรง เนื่องจากการขาดความมั่นใจในตัวระบบสถาบันการเงินซึ่งในอดีตเคยถูกยึดเป็นของรัฐบาลทหารมาแล้วเมื่อเกือบ 50 ปีก่อน ทำให้ปัจจุบันมีเพียง 20% ของประชากรพม่าเท่านั้นที่ใช้บริการของธนาคาร อย่างไรก็ดี การพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการ การเปิดโอกาสให้ธนาคารเอกชนประกอบธุรกรรมได้ทัดเทียมธนาคารของรัฐ หรือการเร่งจัดตั้งธนาคาร SME ดอกเบี้ยต่ำ เป็นวิธีที่รัฐบาลพม่ากำลังเร่งดำเนินการอยู่ เพื่อกระตุ้นการใช้บริการผ่านธนาคารในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ ดิฉันคิดว่าการอนุญาตให้ธนาคารต่างชาติเข้ามาร่วมทุนในลักษณะ joint venture กับธนาคารท้องถิ่นพม่าก็อาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กลับคืนสู่สถาบันการเงินได้ในระดับหนึ่ง เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นจากการถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างองค์กร นั่นก็หมายถึงคุณภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการที่สูงขึ้นและสร้างแรงจูงใจให้คนพม่าเข้ามามีส่วนร่วมในระบบมากขึ้น  อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางอาจต้องปรับเปลี่ยนกฎระเบียบทางธนาคารให้ทันสมัยด้วย เพื่อดึงดูดธนาคารต่างชาติให้เข้ามาลงทุน ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการแข่งขันด้านดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ หรือแม้แต่การเพิ่มช่องทางหารายได้ผ่านสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ เช่น การขายประกันผ่านธนาคาร เป็นต้น

แรงกดดันต่อระบบธนาคารเช่นนี้จะลดลงไปได้มาก หากพม่าสามารถผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีมาตรฐาน และมีบทบาทเป็นแหล่งระดมเงินทุนรูปแบบใหม่ให้แก่บริษัทพม่าอย่างเต็มที่  รัฐบาลพม่าขณะนี้อยู่ในช่วงของการปรับรูปโฉมตลาดหลักทรัพย์จากระบบการซื้อขายกระดานแบบโบราณและมีเพียง 2 บริษัทในตลาด ให้กลายเป็นระบบที่มีความทันสมัยเทียบเท่าประเทศเพื่อนบ้าน  โดยมีพี่เลี้ยงจาก Daiwa Securities และ Tokyo Stock Exchange คอยให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พม่าบรรลุเป้าหมายแล้วเสร็จที่ตั้งไว้ในปี 2015 ควบคู่ไปกับการเดินหน้าสู่เวที AEC  ซึ่งก็แน่นอนว่าข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานหลายประการต้องได้รับการพัฒนาคู่ขนานไปด้วยเพื่อให้การยกระดับตลาดหลักทรัพย์ให้เป็นแหล่งระดมเงินทุนสำคัญของผู้ประกอบการพม่าประสบผลสำเร็จ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อควบคุมตรวจสอบผู้สอบบัญชี เพื่อให้การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทมีความถูกต้องน่าเชื่อถือได้ นอกจากนั้น หากต้องการขยายตลาดหลักทรัพย์พม่าให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้าร่วมลงทุนได้ด้วยแล้ว จำเป็นจะต้องมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินจ๊าดโดยตรงกับสกุลเงินอื่นเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีเพียงสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยูโร และดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้นที่มีอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรงกับเงินจ๊าด  สำหรับเงินบาทนั้นเริ่มมีสัญญาณบวกแล้ว เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการหารือกับธนาคารกลางพม่าในการเตรียมความพร้อมเพื่อสร้างระบบอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง บาท-จ๊าด  เพื่อให้การทำธุรกิจในพม่า ซึ่งรวมถึงการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์พม่าด้วยนั้น มีความสะดวกรวดเร็วและลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงินตราสำหรับนักลงทุนไทย

...แต่ในช่วงนี้ที่ตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ทุกสายตาจึงจดจ้องอยู่ที่การปฏิรูประบบธนาคารพม่าให้กลับมามีสภาพคล่องเพื่อรองรับการกู้ยืมเงินลงทุนของภาคเอกชน โดยเฉพาะในเมกะโปรเจกต์เร่งด่วนและสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อย่างเช่น การก่อสร้างสนามบินหงสาวดี และท่าเรือน้ำลึกในเขตเศรษฐกิจพิเศษติลาวาภายในปี 2015  ซึ่งแรงกดดันเช่นนี้ คงทำให้รัฐบาลพม่าค่อนข้างอึดอัดพอสมควร เพราะการเรียกคืน "trust" เป็นเรื่องที่ยังต้องใช้เวลาอีกมาก

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า รัฐบาลพม่าโดยการนำของประธานาธิบดีเต็งเส่ง มีความตั้งใจจริงในการปฏิรูประบบการเงินการธนาคารในพม่าให้เทียบเท่ามาตรฐานสากลให้มากที่สุด และถึงแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคระหว่างทางอยู่บ้าง แต่ก็มีพี่เลี้ยงจากนานาประเทศที่พร้อมยื่นมือให้ความช่วยเหลืออยู่ทุกเมื่อ แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า การวางรากฐานโครงสร้างระบบให้ถูกต้องเหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่มมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จในการเปิดเสรีครั้งนี้ของพม่า จึงต้องให้เวลาในการทดสอบและเรียนรู้  ซึ่งทำให้มีโอกาสที่การปฏิรูประบบการเงินการธนาคารในบางส่วนอาจไม่แล้วเสร็จได้รวดเร็วตามที่รัฐบาลพม่าได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้  ดิฉันเองเชื่อว่า ในบางครั้งอาจไม่จำเป็นเสมอไปที่ต้อง "เปิด" เต็มที่ หากยังไม่พร้อม ซึ่งก็อาจหมายถึงการเลือกที่จะแง้มเปิดในบางส่วนหรือเปิดทีละส่วนเป็นระยะๆ  แต่ในทางกลับกัน ก็จะต้องเลือกเวลาที่สมควร "เปิด" ให้เต็มที่ เมื่อพร้อม  ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างเสถียรภาพอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นแก่ระบบนั่นเอง

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ