Chandra Asri: ผู้เล่นที่มีศักยภาพในธุรกิจปิโตรเคมีของอินโดนีเซีย
ตลาดปิโตรเคมีของอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้เล่นในธุรกิจปิโตรเคมีส่วนใหญ่ยังขาดความเชื่อมโยงในสายการผลิต อีกทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบและการไม่เชื่อมต่อกับธุรกิจน้ำมันส่งผลให้อินโดนีเซียยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากต่างประเทศถึงราว 50% ของความต้องการบริโภคในประเทศ
ผู้เขียน: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)
ตลาดปิโตรเคมีของอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ผู้เล่นในธุรกิจปิโตรเคมีส่วนใหญ่ยังขาดความเชื่อมโยงในสายการผลิต อีกทั้งการขาดแคลนวัตถุดิบและการไม่เชื่อมต่อกับธุรกิจน้ำมันส่งผลให้อินโดนีเซียยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจากต่างประเทศถึงราว 50% ของความต้องการบริโภคในประเทศ
ปัจจุบันหนึ่งในบริษัทผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีของอินโดนีเซียที่น่าจับตามอง คงหนีไม่พ้น PT Chandra Asri Petrochemical Tbk (Chandra Asri) ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นอันดับ 1 หรือคิดเป็นสัดส่วนรายได้ถึงเกือบ 40% ของตลาดปิโตรเคมีในอินโดนีเซีย โดย Chandra Asri เป็นผู้ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งเดียวในอินโดนีเซีย ถือเป็นจุดต่างสำคัญเมื่อเทียบกับบริษัทปิโตรเคมีรายอื่นในอินโดนีเซียที่ผลิตแบบเฉพาะเจาะจงในบางขั้นของห่วงโซ่การผลิต
การวางตัวเป็นบริษัท Commodity Petrochemical ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีได้อย่างครบครัน ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดปิโตรเคมีในอินโดนีเซียของ Chandra Asri ไม่เพียงแค่อินโดนีเซียจะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอย่างแข็งแกร่ง แต่การเน้นบริโภค Commodity Petrochemical ที่หลากหลาย ส่งผลให้ Chandra Asri ตอบโจทย์ความต้องการตลาดปิโตรเคมีของอินโดนีเซียได้อย่างดี เนื่องจากประเทศยังขาดแคลนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีประเภทนี้ และอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งอาจต้องใช้เวลากว่า 10 ปีจึงจะพึ่งพาตัวเองได้ ขณะเดียวกัน การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ครอบคลุมของ Chandra Asri ก็ส่งผลให้ผู้เล่นในธุรกิจปิโตรเคมีหลายรายต้องพึ่งพาวัตถุดิบจาก Chandra Asri เป็นหลัก นอกจากนี้ แนวโน้มความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีของอินโดนีเซียในอนาคตที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 5% ต่อปี จากในอดีตที่เคยเติบโตได้น้อยกว่า 2% ก็ยิ่งเป็นโอกาสขยายตลาดของ Chandra Asri เข่นกัน
ทว่าการยังคงเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีแบบ Naphtha base คือใช้วัตถุดิบที่สกัดได้จากน้ำมันดิบซึ่งราคาสูงกว่าวัตถุดิบอย่างก๊าซธรรมชาติ ทำให้ Chandra Asri จะต้องวางกลยุทธ์ใหม่ในเกมธุรกิจ สังเกตได้ว่าบริษัทปิโตรเคมีหลายรายในเอเชียเริ่มหันไปใช้วัตถุดิบที่ราคาต่ำลง เช่น จีน ที่ปรับตัวมาใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทิลีน ทำให้แบกรับต้นทุนน้อยลงกว่าการใช้แนฟทา หรือกรณีการร่วมทุนของบริษัทน้ำมันรายยักษ์ของอินโดนีเซียอย่าง Pertamina กับ PTTGC ของไทยเพื่อลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีแบบครบวงจร ซึ่ง Pertamina ก็มีโรงกลั่นเป็นของตนเองจึงช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันที่ใช้เป็นวัตถุดิบได้ ในขณะที่ Chandra Asri ยังต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากแหล่งอื่น เช่น Pertamina และนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งหาก Chandra Asri ไม่ปรับตัวในด้านนี้ก็อาจส่งผลให้บริษัทสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันได้ในอนาคต
ก้าวต่อไปในอนาคต การแสวงหา Partnership ทางธุรกิจ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายกำลังการผลิตและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งเสริมการเป็นผู้นำในธุรกิจปิโตรเคมีของ Chandra Asri ต่อไป ในช่วงที่ผ่านมา Chandra Asri ได้ยอมรับการเข้ามาซื้อกิจการบางส่วนของ SCG โดย SCG มองว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อภายในแข็งแกร่งมาก สินค้าที่ผลิตได้จะจำหน่ายในประเทศได้เกือบทั้งหมด อีกทั้งยังใช้เป็นฐานการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคได้ในอนาคต ในขณะที่ Chandra Asri ก็เล็งเห็นว่าตัวเองจะได้ประโยชน์ทั้งในแง่การเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นเพื่อขยายกำลังการผลิต และการเรียนรู้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายและตอบสนองทิศทางความต้องการของตลาดได้มากขึ้น
EIC มองว่า Chandra Asri มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบัน Chandra Asri วางกลยุทธ์ธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ตลาดปิโตรเคมีภายในประเทศเป็นหลัก แต่คาดว่าในอนาคตจะผลักตัวเองเข้าสู่ตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยการแสวงหา partnership ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในกลยุทธ์ธุรกิจของผู้เล่นรายนี้ เพื่อปรับเปลี่ยนและพัฒนาตัวเองไปผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าเพิ่มสูงให้มากขึ้น ช่วยลบจุดอ่อนจากการเป็นผู้เล่นในธุรกิจปิโตรเคมีแบบ Naphtha base และเพื่อให้ตัวเองได้ผงาดเข้ามายืนเป็นบริษัทปิโตรเคมีระดับแนวหน้าของอาเซียนในอนาคต