SHARE
SCB EIC ARTICLE
06 ธันวาคม 2018

ปัจจัยกำหนดทิศทางราคาน้ำมันช่วงครึ่งหลังของปี

เรากำลังผ่านครึ่งแรกของปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว หากนับจากจุดต่ำสุดของราคาน้ำมัน Brent ในวัฏจักรรอบนี้

ผู้เขียน: ดร. ยรรยง ไทยเจริญ

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 ธันวาคม 2018 คอลัมน์ ทิศทางแห่งประเทศไทย

 

iStock-682841824.jpg

 

 

 เรากำลังผ่านครึ่งแรกของปี 2018 ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว หากนับจากจุดต่ำสุดของราคาน้ำมัน Brent ในวัฏจักรรอบนี้ที่ไปแตะ 26 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในเดือนมกราคมปี 2016 จนถึงจุดสูงสุดที่เกือบ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงพฤษภาคมปีนี้ ราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัวในเวลาเพียง 28 เดือน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากปัจจัยทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ที่ทำให้ตลาดน้ำมันโลกปรับจากภาวะอุปทานส่วนเกินมาเป็นภาวะอุปทานส่วนขาด ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา  

เมื่อมองไปข้างหน้าในช่วงครึ่งหลังของปี ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางราคาน้ำมัน มีดังนี้

ปัจจัยแรก อุปสงค์น้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จีน และประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย เป็นกลุ่มประเทศที่ความต้องการใช้น้ำมันขยายตัวในระดับสูง ส่งผลให้สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าในปี 2018 อุปสงค์น้ำมันโลกจะอยู่ที่ 100.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มากกว่าอุปทานน้ำมันโลกราว 1 แสนบาร์เรลต่อวัน จากเดิมในปี 2016 ที่ตลาดน้ำมันดิบมีอุปทานส่วนเกินมากถึงเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลยังไม่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีการพึ่งพาการใช้น้ำมันน้อยลงจากประสิทธิภาพการใช้ที่ดีขึ้นและสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนที่มากขึ้น นอกจากนั้น ราคาน้ำมันในระดับที่สูงขึ้น ช่วยสนับสนุนฐานะทางการเงินและกระตุ้นการลงทุนในประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากช่วงราคาน้ำมันตกต่ำก่อนหน้า แต่ราคาก็ยังไม่สูงเกินไปจนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันมากนัก    

ปัจจัยที่สอง อุปทานน้ำมันที่เติบโตช้าลงจากความสำเร็จของ OPEC ตามการดำเนินการตามข้อตกลงลดปริมาณการผลิตน้ำมัน ซึ่งเริ่มตั้งแต่มกราคม 2017 พบว่า OPEC สามารถลดปริมาณการผลิตได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยจนถึงเดือนเมษายน 2018 กลุ่ม OPEC มี compliance rate สูงถึง 117% ความสำเร็จดังกล่าว นำมาสู่การลดอุปทานส่วนเกินในตลาดน้ำมันโลกและทำให้ระดับน้ำมันสำรองของกลุ่มประเทศ OECD ลดลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งสะท้อนถึงตลาดน้ำมันที่ตึงตัวขึ้น  

ทั้งนี้ การลดปริมาณการผลิตของ OPEC อาจเริ่มผ่อนคลายลงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน โดย OPEC พยายามรักษาระดับราคาน้ำมันไม่ให้สูงหรือต่ำจนเกินไป โดยเฉพาะซาอุดิอาระเบียที่มีเป้าหมายราคาอยู่ในช่วง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพื่อดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพสอดคล้องกับแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจที่จะลดการพึ่งพาน้ำมันและเปลี่ยนเป็น hub ด้านการค้าในตะวันออกกลางแทน ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซาอุฯ ได้ผลิตน้ำมันดิบออกมามากกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน สะท้อนความพยายามในการดูแลราคาน้ำมันไม่ให้กระทบต่ออุปสงค์น้ำมันของโลกมากเกินไป

อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูการประชุมของกลุ่ม OPEC และ Non-OPEC ในวันที่ 22-23 มิถุนายนนี้ ที่กรุงเวียนนา ว่าจะมีการปรับข้อตกลงปริมาณการผลิตน้ำมันอย่างไร ทั้งในส่วนของระยะเวลาจากเดิมจะสิ้นสุดเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงจะเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อทดแทนอุปทานน้ำมันที่หายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลามากน้อยเพียงใด ซึ่งอาจจะส่งผลต่อทิศทางราคาน้ำมันในระยะสั้นเพื่อรับข่าวนี้ แต่อีไอซีมองว่า OPEC จะทยอยเพิ่มอุปทานน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลไม่ให้ราคาน้ำมันผันผวนจนเกินไป

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของการผลิต shale oil ในสหรัฐฯ ยังไม่มากพอที่จะเปลี่ยนทิศของราคาน้ำมันได้ในระยะสั้น จากข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะปัญหาคอขวดของท่อส่งน้ำมันจากแหล่ง Permian ทางฝั่งตะวันตกของรัฐ Texas ไปยังคลังน้ำมันที่รัฐ Oklahoma และข้อจำกัดของท่าเรือส่งออกน้ำมันบริเวณชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก ซึ่งกระทบต่อการขนส่งน้ำมันไปยังลูกค้าในแถบเอเชีย และยุโรป ซึ่งปัญหาเหล่านี้ต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการจัดการ นอกจากนั้น บริษัท shale oil หลายแห่งใช้จังหวะที่ผลตอบแทนปรับดีขึ้นตามราคาน้ำมันในการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นและการชำระหนี้เพื่อช่วยให้ฐานะทางการเงินของธุรกิจเข้มแข็งขึ้นมากกว่าการทุ่มลงทุนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตอย่างรวดเร็วในระยะสั้น ซึ่งมีส่วนช่วยให้อุปทานน้ำมันโลกชะลอตัวลงเช่นกัน  

ปัจจัยสุดท้าย ได้แก่ ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะปัญหาการเมืองภายในของเวเนซุเอลา ซึ่งส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบลดลงถึง 5 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมทั้งการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ จากปัญหาโครงการนิวเคลียร์ อาจทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลง ราว 2-8 แสนบาร์เรลต่อวัน ซึ่งแม้จะไม่ลดลงมากเท่ากับสถานการณ์ในอดีตช่วงปี 2012-2015 ที่กลุ่ม P5+1 (สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี) เคยออกมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านมาแล้ว เนื่องจากประเทศในยุโรปยังยืนยันคงการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่านต่อไป แต่ก็จะส่งผลให้ตลาดน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัวขึ้น นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ในจุดอื่นๆ ของโลก เช่น ปัญหาการเมืองในอิรัก ไนจีเรีย ซีเรีย และความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับอิสราเอล ซึ่งอาจประทุขึ้นจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเกิดความผันผวนและปรับระดับสูงขึ้นได้อีก

จากปัจจัยข้างต้น อีไอซี ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวโน้มแกว่งตัวอยู่ในระดับสูงที่กรอบ 65 - 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยในปี 2018 จะอยู่ที่ราว 72 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หรือสูงขึ้นถึง 33% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยปัจจัยเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะยังทำให้ความเสี่ยงที่ราคาจะปรับสูงขึ้นกว่าที่คาดมีมากกว่าความเสี่ยงด้านต่ำซึ่งอาจเกิดจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกหรืออุปทานน้ำมันในสหรัฐฯ ที่กลับมาได้เร็วกว่าคาด  ในครั้งต่อไปจะได้วิเคราะห์ผลกระทบของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างมากต่อเศรษฐกิจไทย รวมทั้งแนวนโยบายรับมือที่เหมาะสมต่อไป

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ