SHARE
SCB EIC ARTICLE
06 ธันวาคม 2018

จับตา EECd โอกาสการลงทุนในยุคดิจิทัล

โครงการ Digital Park Thailand หรือ EECd ถือเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ที่ภาครัฐตั้งใจพัฒนาเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลจากการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น

ผู้เขียน: กมลมาลย์ แจ้งล้อม

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 6 ธันวาคม 2018 คอลัมน์ Smart EEC

iStock-867341648.jpg


โครงการ Digital Park Thailand หรือ EECd ถือเป็นหนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ที่ภาครัฐตั้งใจพัฒนาเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมดิจิทัลจากการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น IoT, AI และ Robotic โดยโครงการดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ราว 700 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล พื้นที่สำหรับธุรกิจดิจิทัล และที่อยู่อาศัย ซึ่งตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี และพัฒนากำลังคนดิจิทัลกว่า 52,000 คน

ด้วยความได้เปรียบของ EECd ทั้งที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ EECd มีความพร้อมเติบโตเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเพื่อสนับสนุน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคต โดยโครงการ EECd ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี และมีสถานีดาวเทียมและสถานีเคเบิลใต้น้ำที่มีศักยภาพในด้านการสื่อสารผ่านข้อมูล อีกทั้งรายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่กว่า 7 แห่ง ที่มีความต้องการเทคโนโลยี เช่น นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังที่รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่เป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมถึงอยู่ใกล้ท่าเรือแหลมฉบัง สถานีรถไฟความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภาที่ภาครัฐเตรียมการพัฒนาในปัจจุบัน ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บริษัทไทยและต่างชาติกว่า 100 แห่งสนใจเข้าร่วมทดสอบความสนใจของนักลงทุนโครงการ EECd ซึ่งทำให้แผนการพัฒนาเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

อีไอซี มองว่าโมเดลการพัฒนา EECd โดยเอกชนมีความเหมาะสมกับไทยเนื่องจากเอกชนสามารถพัฒนาพื้นที่การใช้งานให้ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปโมเดลการพัฒนา digital park มักพบอยู่ 2 รูปแบบหลัก แบ่งตามความรับผิดชอบในการลงทุนและการบริหารพื้นที่ ได้แก่ 1.โครงการที่พัฒนาโดยรัฐ เช่น Cambridge Science Park ในอังกฤษ ที่เริ่มต้นรับงบประมาณจากรัฐในการพัฒนางานวิจัยและโครงสร้างพื้นฐาน จากนั้นจึงดึงเอกชนเข้ามาต่อยอดขยายผลเชิงพาณิชย์ และ 2.โครงการที่พัฒนาโดยเอกชน เอกชนจะมีอิสระในการดำเนินการและสามารถออกแบบพื้นที่การใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มธุรกิจที่เข้ามาใช้งานได้อย่างเต็มที่ จึงเป็นที่นิยมในหลายประเทศ เช่น Research Triangle Park (RTP) ในสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นพัฒนาโดยเอกชนร่วมมือกับมหาวิทยาลัย 3 แห่ง คือ Duke University, North Carolina State University และ University of North Carolina (Chapel Hill) โดยใช้มหาวิทยาลัยเป็นฐาน เพื่อดึงบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่เช่น IBM เข้ามาลงทุนและร่วมทำงานวิจัย ส่งผลให้ธุรกิจ startup และ SMEs ตามเข้ามาลงทุน ปัจจุบัน RTP มีผู้เช่าพื้นที่มากกว่า 250 บริษัทและมีจ้างงานมากกว่า 50,000 คนซึ่งเทียบเท่ากับนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยการพัฒนารูปแบบนี้ยังพบใน Hong Kong Science and Technology Parks (HKSTP) ในฮ่องกง ที่เริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่าง Chinese University of Hong Kong และ Hong Kong Polytechnic University กับบริษัท Siemens ตั้งศูนย์ Siemens’ smart city digital hub เพื่อพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะและสร้างชุมชนนวัตกรรมดิจิทัล ปัจจุบัน HKSTP เป็นศูนย์รวมธุรกิจดิจิทัลกว่า 680 บริษัทและมีการจ้างงานมากกว่า 9,000 คน

สำหรับไทย การพัฒนา EECd โดยเอกชนมีแนวโน้มพัฒนาพื้นที่ได้อย่างเหมาะสมตามเป้าหมายของรัฐ เนื่องจากเอกชนมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญจึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาโครงการได้อย่างดี และมีความยืดหยุ่นในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานในรายละเอียดตามความต้องการของภาคธุรกิจได้อย่างแท้จริง โดยที่รัฐมีส่วนร่วมในการผลักดันมหาวิทยาลัยให้มีความพร้อมเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดการร่วมมือกับบริษัทขนาดใหญ่ อีกทั้งยังสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีแก่ธุรกิจ startup เพื่อนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ในอนาคต

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ