SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 มิถุนายน 2014

ธุรกิจบริการผู้สูงอายุ…กับโอกาสของผู้ประกอบการไทย

สืบเนื่องจากฉบับที่แล้วที่กล่าวถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจการแพทย์แนวใหม่ ฉบับนี้เราจะพูดถึงอีกหนึ่งกระแสของธุรกิจบริการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีกระแสการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญและมีศักยภาพการเติบโตสูงในไทยในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center

 153637257.png

สืบเนื่องจากฉบับที่แล้วที่กล่าวถึงธุรกิจที่เกี่ยวกับธุรกิจการแพทย์แนวใหม่ ฉบับนี้เราจะพูดถึงอีกหนึ่งกระแสของธุรกิจบริการที่น่าสนใจไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีกระแสการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญและมีศักยภาพการเติบโตสูงในไทยในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การใช้จ่ายของผู้สูงอายุมีขนาดราว 15 % ของ GDP

จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในยุค baby boom ประกอบกับอัตราการเพิ่มของประชากรที่ลดลงเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้สูงอายุกลายเป็นประชากรที่มีสัดส่วนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2013 สัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ 23% หรือประมาณ 240 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 1990 นั่นหมายถึงกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และมีอิทธิพลต่อการใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภคในอนาคต ทั้งนี้ ในปี 2013 ขนาดของเม็ดเงินใช้จ่ายของผู้สูงอายุในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วมีมูลค่าประมาณ 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 15% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และคาดว่าจะขยายตัวเป็น 1.7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2020 หรือเพิ่มขึ้นปีละ 6% ซึ่งตลาดที่ค่อนข้างใหญ่นี้สอดคล้องกับสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและจะส่งผลให้มีการเกิดของโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่มุ่งหวังที่จะเข้ามาจับตลาดกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น

ตลาดที่ขยายตัวจากผู้สูงอายุส่งผลให้เกิดธุรกิจที่ให้บริการเฉพาะเจาะจง สำหรับผู้บริโภคกลุ่มนี้มากขึ้น

ความต้องการที่แตกต่างของกลุ่มผู้บริโภคสูงอายุประกอบกับการขยายตัวของเม็ดเงินใช้จ่ายส่งผลให้เกิดธุรกิจบริการใหม่ๆ ซึ่งเห็นได้ในต่างประเทศที่มุ่งเน้นการตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้สูงอายุหลังเกษียณโดยเฉพาะ เช่น ธุรกิจตัวแทนหางานสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการหารายได้หลังจากเกษียณ ธุรกิจบริการด้านสุขภาพของผู้สูงอายุที่เข้าไปตรวจเช็คถึงในที่พักอาศัย ธุรกิจบริการขับรถรับส่งคนชราที่ดัดแปลงรถรับส่งให้มีความเหมาะสมและเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนชราโดยเฉพาะ ธุรกิจผู้อำนวยความสะดวกในการถือของในห้างสรรพสินค้าสำหรับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถถือของหนักได้ นอกจากนั้นยังมีกองทุนวางแผนเงินสำรองเลี้ยงชีพที่คอยให้คำปรึกษาสำหรับคนวัยทำงานและผู้สูงอายุที่ต้องการเกษียณตัวในต่างประเทศ เป็นต้น

ประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทย กำลังทยอยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตามกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นกัน

ในอนาคตข้างหน้า แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดจะเริ่มเห็นชัดเจนมากขึ้นในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเช่นกัน ซึ่งในปี 2013 สัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 11% ของประชากร และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 13% ในปี 2020 ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้ขนาดตลาดธุรกิจผู้สูงอายุในประเทศกำลังพัฒนาขยายตัวเช่นกัน โดยประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งอายุเฉลี่ยของประชากรในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 38 ปี ในปี 2020 เพิ่มขึ้นจาก 35 ปีในปี 2013

 25-1.jpg


หนึ่งโอกาสธุรกิจสำหรับประเทศไทยที่เริ่มเกิดขึ้นแล้วคือการเจาะตลาดผู้สูงอายุต่างชาติ

ด้วยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยประกอบกับค่าครองชีพที่ค่อนข้างถูกทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่ชาวต่างชาติที่เกษียณอายุแล้วเลือกที่จะมาใช้ชีวิตบั้นปลายหรือพำนักระยะยาวตามฤดูโดยเฉพาะฤดูหนาว ยกตัวอย่างเช่น ชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในภาคเหนือของไทย และชาวสแกนดิเนเวียที่นิยมพักระยะยาวตามแถบจังหวัดชายทะเล ทั้งนี้  ปัจจุบันชาวต่างชาติจำนวนประมาณ 50,000 คน อาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยใช้วีซ่าสำหรับผู้เกษียณอายุและต้องการพำนักระยะยาวในประเทศไทย และถ้าประมาณค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อหัวต่อปีแล้ว คาดว่าจะคิดเป็นเงินถึงราว 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยดึงดูดชาวต่างชาติที่เกษียณอายุ คือ เรื่องของอากาศที่ อบอุ่นทั้งปี ค่าครองชีพที่ต่ำ รวมไปถึงความมีน้ำใจของคนไทย และความพร้อมของธุรกิจบริการต่างๆ

ประเทศไทยมีค่าครองชีพที่ค่อนข้างถูกเมื่อเปรียบเทียบกับค่าครองชีพในประเทศที่พัฒนาแล้ว สังเกตง่ายๆ จากค่าใช้จ่ายด้านอาหารที่ถูกกว่าราวครึ่งหนึ่ง โดยจากดัชนี The Big Mac Index ซึ่งพบว่าราคาแฮมเบอร์เกอร์ของประเทศไทยค่อนข้างถูกกว่าแฮมเบอร์เกอร์ในประเทศที่พัฒนาแล้วประมาณ 50% ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุชาวต่างชาติที่เกษียณอายุในประเทศไทยสามารถรักษามาตรฐานการใช้ชีวิตเท่าเดิมเหมือนเมื่ออยู่ในประเทศบ้านเกิดตนเองได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ลดลงเท่าตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่จำเป็นของผู้สูงอายุนั้น บริการของโรงพยาบาลในประเทศไทยนั้นมีระดับมาตรฐานเทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้วในราคาที่ถูกกว่าอย่างมากสะท้อนให้เห็นชัดเจนจากจำนวนคนไข้ต่างประเทศที่เลือกเข้ามาใช้บริการรักษาพยาบาลในประเทศไทยปีละกว่าล้านคน นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนอีกหลายประการที่ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเป้าหมายในการเกษียณอายุของผู้สูงอายุชาวต่างชาติ อาทิเช่น สภาพอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี ความมีน้ำใจของคนไทย สังเกตได้จากการหนีฤดูหนาวของนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกที่นิยมเข้ามาพำนักระยะยาวราว 3-4 เดือน ในประเทศไทยในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าหนาวของทางฝั่งยุโรป

25-2.jpg


อสังหาริมทรัพย์ประเภทหมู่บ้านผู้สูงอายุ ที่ครบวงจรด้วยบริการด้านสุขภาพมีความน่าสนใจมาก

ในช่วงปี 2008 ได้มีการผู้ประกอบการชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างโครงการบ้านจัดสรร โดยเฉพาะพื้นที่แถบชายทะเล โดยมีโครงการบางส่วนมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติที่ต้องการเกษียณตัวในประเทศไทย และได้ทำการจับมือกับศูนย์สุขภาพของโรงพยาบาล เพื่อตอบรับความต้องการทางด้านการแพทย์ของกลุ่มลูกค้าสูงอายุ โดยธุรกิจดังกล่าวได้รับการตอบรับของลูกค้าชาวต่างชาติเป็นอย่างดี โดยในปัจจุบันโครงการลักษณะดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดแหล่งท่องเที่ยวต่างอากาศสำคัญๆ เช่น ชลบุรี ระยอง หัวหิน ภูเก็ต และ กระบี่ เป็นต้น โดยโครงการส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดระดับไฮเอนด์ที่มีการตกแต่งหรูหราแต่ยังคำนึงถึงการใช้ชีวิตของคนสูงอายุ เช่น การทำทางลาดคู่กับบันได และ การทำราวจับตามทางเดินในตัวอาคาร พร้อมสถานอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น สระว่ายน้ำ สปอร์ตคลับ และ ห้องซาวน่า เป็นต้น

ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยการอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือครองที่ดินเป็นรายโครงการ เอื้ออำนวยให้เกิดธุรกิจที่มุ่งเน้นตลาดผู้สูงอายุชาวต่างชาติมากขึ้น

ปัจจัยในการถือครองดินเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย การให้สิทธิการถือครองที่ดินแก่ชาวต่างชาติเป็นรายโครงการในนิคมอุตสาหกรรมบริการเป็นมาตรการหนึ่งที่ภาครัฐฯ จะสามารถกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้บริการผู้สูงอายุชาวต่างชาติใหม่ๆ ในประเทศมากขึ้น โดยในปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมบริการ "ไทยไดมอนซิตี้" เป็นโครงการที่ริเริ่มการมุ่งเน้นการพัฒนาที่ดินเพื่อธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งมีโซนที่จัดสรรเพื่อลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะด้วยไม่ว่าจะเป็นชุมชนเพื่อผู้เกษียณอายุ ศูนย์สุขภาพ ศูนย์การค้า และ สนามกอล์ฟ  เป็นต้น โดยให้สิทธิถือครองที่ดินได้ด้วยแม้จะเป็นการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน และในอนาคตคาดว่าจะมีโครงการใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดมากขึ้น

อีกหนึ่งโอกาสธุรกิจในไทยเกิดจากการเตรียมรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเอง

ในขณะที่ตลาดผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติมีแนวโน้มเติบโต อีกตลาดหนึ่งที่น่าจับตามองสำหรับประเทศไทยคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างชัดเจนมากขึ้นในประเทศไทยเอง โดยประเทศไทยจะเป็นประเทศที่สองในภูมิภาคอาเซียนรองจากสิงคโปร์ที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยภายในปี 2020 คาดว่าประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปี กว่า 13 ล้านคน หรือ คิดเป็น 19% ของจำนวนประชากรในประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2013 อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับบริการต่างๆ เพื่อผู้สูงอายุในต่างประเทศแล้วจะเห็นว่าธุรกิจบริการที่มุ่งเน้นเจาะตลาดผู้สูงอายุคนไทยโดยตรงยังไม่แพร่หลายนักและยังมีอุปสรรคอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุในไทยก็ยังคงติดกับภาพลักษณ์ของ "บ้านพักคนชรา" เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ด้วยขนาดของตลาดที่มีขนาดใหญ่ ตลาดผู้สูงอายุไทยเป็นจึงตลาดที่ไม่ควรมองข้าม

อสังหาริมทรัพย์สำหรับผู้สูงอายุคนไทยมีโอกาส แต่มีช่องว่างที่ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อลบภาพลักษณ์ของ "บ้านพักคนชรา"

ในอดีตคนไทยถูกปลูกฝังมาว่าจะต้องเลี้ยงดูบุพการีเมื่อยามแก่เฒ่าและมักจะเห็นครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกหลายรุ่นอายุอยู่ด้วยกันเป็นหลัก แต่ด้วยวิถีชีวิตของคนเมืองในปัจจุบันที่มีข้อจำกัดในหลายๆ ด้านทำให้โครงสร้างของครอบครัวมีแนวโน้มเปลี่ยนไป โดยครอบครัวคู่สมรสมีบุตรมีสัดส่วนลดลงเรื่อยๆ จากราว 32% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2007 เป็น 21% ในปี 2020 สวนทางกับครอบครัวคู่สมรสไม่มีบุตรที่จะขยายตัวจาก 9% ในปี 2007 เป็นประมาณ 14% ในปี 20201 ซึ่งแนวโน้มโครงสร้างที่เปลี่ยนไปนี้จะเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดของโมเดลธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุในอนาคต เพราะนั่นหมายความว่าคู่สมรสจะต้องดูแลตัวเองมากขึ้นเมื่อสูงอายุ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มุ่งเน้นตลอดผู้สูงอายุในประเทศมีจำนวนยังไม่แพร่หลายมากนัก ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคยังคงติดกับภาพลักษณ์ของ "บ้านพักคนชรา" ที่เสมือนว่าเป็นการทอดทิ้งบุพการี หนึ่งในความท้าทายของผู้ประกอบการจึงเป็นเรื่องของการสร้างความแปลกใหม่ของโมเดลธุรกิจ เพื่อให้ผู้บริโภคก้าวผ่านทัศนคติเดิมๆ

การปรับภาพลักษณ์และลักษณะๆ ต่างๆ ของอสังหาริมทรัพย์ให้แตกต่างเพื่อเจาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีกำลังซื้อเป็นแนวทางเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ

โครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อผู้สูงอายุที่เริ่มเห็นในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายรูปแบบและระดับราคา ได้แก่ (1) โครงการที่มีโมเดลธุรกิจเป็นการขายสิทธิในการเข้าอยู่อาศัยตลอดชีวิต กล่าวคือ ผู้บริโภคไม่ได้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์และไม่สามารถขายสิทธิต่อให้ผู้อื่น โดยจุดเด่นของโครงการอยู่ที่การออกแบบสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม รวมถึงการมีบริการทางการแพทย์ให้บริการเป็นประจำทุกวัน (2) โครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายโดยเน้นให้ออกแบบให้บ้านมีลักษณะเฉพาะเพื่อผู้สูงอายุ ยกตัวอย่างเช่น บ้านแต่ละหลังจะมีสัญญาณเตือนไปยังสถานีพยาบาล/ ส่วนดูแลกลาง เป็นต้น รวมถึงการลงทุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกสบายและศูนย์บริการต่างๆ ครบถ้วนอยู่ในโครงการ นอกจากนี้ ลักษณะเด่นของโครงการทั้งสองรูปแบบคือการมีส่วนดูแลกลางที่จะบริหารจัดการเรื่องบริการทางการแพทย์ และการจัดให้มีกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเป็นอีกจุดขายสำคัญที่จะช่วยลบภาพลักษณ์การเป็นสถานสงเคราะห์ของบ้านพักคนชรา ให้เป็นการลงทุนเพื่อซื้อบริการที่จำเป็นและรูปแบบชีวิตที่ต้องการในวัยเกษียณอายุ

ธุรกิจอื่นๆ มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากปรับสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุมากขึ้นเช่นกัน

นอกเหนือจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แล้ว ยังมีอีกหลายธุรกิจโดยเฉพาะด้านการบริการที่สามารถต่อยอดสินค้าและบริการเพื่อจับกลุ่มตลาดผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพและเคยจำกัดการใช้อยู่ในโรงพยาบาลให้กลายเป็นสินค้าสามัญประจำบ้าน ยกตัวอย่างเช่น เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ความดัน ระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น การจัดแพคเกจทัวร์สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งจะมีโปรแกรมและกิจกรรมที่ไม่เร่งรีบจนเกินไป รวมไปถึงการเจาะกลุ่มท่องเที่ยวเรือสำราญซึ่งเป็นที่นิยมในผู้สูงอายุ การออกแบบสินค้าให้เหมาะกับสรีระของผู้สูงอายุ เช่น การมีด้ามจับยาวขึ้น การมีอุปกรณ์ช่วยผ่อนแรง เป็นต้น

การวิเคราะห์และทำความเข้าใจความต้องการและพฤติกรรมของผู้สูงอายุจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ การได้อยู่ใกล้ชิดและไม่ขาดการติดต่อกับลูกหลานเป็นหนึ่งความต้องการอันดับต้นๆ ของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุมีความเป็นห่วงและอยากพูดคุยกับลูกหลานอยู่ตลอดเวลาแต่ปัญหาเกิดขึ้นคือสภาพสังคมเมืองทำให้ลูกหลานอาศัยอยู่ในที่ห่างไกล จึงเป็นการยากที่จะพบปะ ที่แย่ไปกว่านั้นคือรูปแบบการติดต่อสื่อสารของคนสมัยปัจจุบันที่พูดคุยทางออนไลน์มากขึ้นยิ่งทำให้การพูดคุยกับผู้สูงอายุน้อยลงไปอีก การช่วยให้ผู้สูงอายุมีทักษะในการใช้งานการสื่อสารออนไลน์จึงน่าจะตอบสนองความต้องการและเป็นโอกาสทางธุรกิจที่เกิดขึ้น ธุรกิจการจัดคอร์สหรือโปรแกรมสอนผู้สูงอายุเพื่อการใช้งานเทคโนโลยีสื่อสารต่างๆ ที่ผู้สูงอายุไม่คุ้นเคยซึ่งนับว่าเป็นไอเดียที่มีความแปลกใหม่และน่าสนใจอยู่ไม่น้อยอีกพฤติกรรมหนึ่งของผู้สูงอายุคือการสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ตามต้องการโดยไม่ต้องรอสมาชิกในครอบครัวซึ่งมักติดภารกิจอื่นเป็นประจำ หนึ่งในธุรกิจที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการในการเดินทางของผู้สูงอายุจึงเป็นการให้บริการรถรับส่งที่ดัดแปลงตัวรถให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุเช่น ราวจับทางขึ้นรถ เบาะรถยนต์ที่ให้ความสำคัญเรื่องหลังเป็นพิเศษ เป็นต้น

ชัดเจนว่าผู้สูงอายุเป็นตลาดที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต การบ้านวันนี้สำหรับธุรกิจคงเป็นเรื่องของการทำความเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ เพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสทางธุรกิจสำคัญในอนาคต


1 EIC Insight (เมษายน 2010) "โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงทำให้การบริโภคของไทยเปลี่ยนอย่างไร"

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ