ทำความรู้จักกับ Astra International ยักษ์ใหญ่แห่งตลาดรถยนต์แดนอิเหนา
เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว หนึ่งในตลาดรถยนต์ที่น่าจับตามองในภูมิภาคอาเซียนคงจะหนีไม่พ้นตลาดรถยนต์ของประเทศอินโดนีเซีย ที่คาดว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2014 จะแซงหน้าประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยตลาดรถยนต์แดนอิเหนาขยายตัวเฉลี่ยกว่า 15% ต่อปี และมีอนาคตที่สดใสเนื่องจากปัจจัยบวกจากอัตราการครองรถในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 77 คันต่อประชากรหนึ่งพันคน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทยและมาเลเซียอยู่มาก นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสนับสนุนจากประชากรจำนวนมหาศาลกว่า 240 ล้านคน ที่มีกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center
เมื่อกล่าวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว หนึ่งในตลาดรถยนต์ที่น่าจับตามองในภูมิภาคอาเซียนคงจะหนีไม่พ้นตลาดรถยนต์ของประเทศอินโดนีเซีย ที่คาดว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2014 จะแซงหน้าประเทศไทยเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียน โดยตลาดรถยนต์แดนอิเหนาขยายตัวเฉลี่ยกว่า 15% ต่อปี และมีอนาคตที่สดใสเนื่องจากปัจจัยบวกจากอัตราการครองรถในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 77 คันต่อประชากรหนึ่งพันคน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทยและมาเลเซียอยู่มาก นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสนับสนุนจากประชากรจำนวนมหาศาลกว่า 240 ล้านคน ที่มีกำลังซื้อที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามการพัฒนาของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
หนึ่งในบริษัทที่น่าจับตามองในอุตสาหกรรมรถยนต์อินโดนีเซียคือ Astra International ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ภูมิภาคอาเซียนที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดเทียบเท่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของบ้านเรา โดย Astra International ประกอบธุรกิจหลากหลาย อาทิเช่น ธุรกิจจัดจำหน่ายรถยนต์ ธุรกิจจัดไฟแนนซ์เช่าซื้อรถยนต์และเครื่องจักร ธุรกิจผลิตเครื่องจักรกล ตลอดจนธุรกิจน้ำมันปาล์ม และธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยในปัจจุบันธุรกิจหลักของ Astra International ยังคงเป็นธุรกิจจัดจำหน่ายรถยนต์ที่มีสัดส่วนประมาณ 60% ของรายได้รวม ซึ่งยังขยายตัวกว่า 11% ต่อปี
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ Astra International ประสบความสำเร็จในตลาดรถยนต์อินโดนีเซียคือการเลือกจับมือและรักษาความสัมพันธ์อันดีกับแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำที่เป็นเจ้าตลาดจนได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจำหน่ายแต่เพียงผู้เดียวในประเทศอินโดนีเซีย โดย Astra International ได้ทำการร่วมทุนกับโตโยต้าผู้นำตลาดรถยนต์อินโดนีเซียในปัจจุบันมาตั้งแต่ช่วงปี 1970 และสามารถทำส่วนแบ่งการตลาดได้กว่า 40% ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยศักยภาพการทำธุรกิจของ Astra International ทำให้บริษัทมีอำนาจต่อรองเพื่อเป็นผู้จัดจำหน่ายรถยนต์แต่เพียงผู้เดียวให้แก่ผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำรายอื่นๆ เช่น ไดฮัทสุ อีซูซุ ยูดีทรัคส์ และ เปอร์โยต์ ซึ่งส่งผลให้ Astra International มีส่วนแบ่งการตลาดของยอดขายรถยนต์ในประเทศอินโดนีเซียกว่า 50% ในปัจจุบัน
กลยุทธ์ความสำเร็จในการขยายธุรกิจของ Astra International คือ การให้ความสำคัญต่อธุรกิจหลักที่ตนเองมีความถนัดไปพร้อมกับการมองหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่มีต่อธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง โดยในช่วงปี 1990 ทางรัฐบาลอินโดนีเซียผลักดันให้เกิดการสร้างแบรนด์รถยนต์แห่งชาติขึ้น ซึ่ง Astra International ได้ทำการลงทุนเป็นเม็ดเงินกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำการยกระดับเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ โดยมุ่งหวังให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นไปสู่บริษัท อย่างไรก็ตามการถ่ายโอนเทคโนโลยีไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นมีระบบการคัดกรองการไหลออกของเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ โดยในท้ายที่สุด Astra International ได้ค่อยๆ ถอยและหันกลับไปมุ่งเน้นการทำธุรกิจตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ที่เป็นธุรกิจหลักที่ถนัดและมุ่งเน้นทำการขยายธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้กิจการของบริษัทมีความพึ่งพิงกับอุตสาหกรรมรถยนต์น้อยลง สัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจรถยนต์ลงลงจาก 80% ในปี 1990 จนเหลือประมาณ 60% ในปัจจุบัน โดยตัวอย่างธุรกิจใหม่ๆ ที่ Astra International ทำคือ ธุรกิจจัดไฟแนนซ์เช่าซื้อรถยนต์และเครื่องจักร ธุรกิจผลิตเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นการต่อยอดธุรกิจให้มีความครบวงจรและหลากหลายมากขึ้น ธุรกิจใหม่ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยส่งเสริมสำคัญที่ทำให้รายได้รวมของบริษัทขยายตัวกว่า 20% ต่อปี ในช่วง 5 ปีหลัง
อีไอซีมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยมีความคล้ายคลึงกับอุตสาหกรรมรถยนต์อินโดนีเซียในแง่ของสภาพอุตสาหกรรมที่พึ่งพาผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ โดยบทเรียนของ Astra International ชี้ให้เห็นถึงการกำหนดทิศทางการดำเนินธุรกิจของผู้เล่นท้องถิ่นที่สามารถไขว่คว้าโอกาสจากการเข้ามาของผู้เล่นต่างชาติได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยด้วยการอาศัยความชำนาญในตลาดท้องถิ่น แต่ก็มิวายลดความเสี่ยงและหาทางต่อยอดธุรกิจให้มีความหลากหลายและครบวงจรมากขึ้น