ส่องโอกาสโรงไฟฟ้าถ่านหินในต่างแดน
ถ่านหิน...พลังงานที่มีความจำเป็นต่อระบบผลิตไฟฟ้าไทย ด้วยข้อได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าและปริมาณสำรองทั่วโลกที่มากกว่าเมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วคงต้องยอมรับว่าอนาคตถ่านหินในไทยยังไม่สดใสนักจากแรงต่อต้านอย่างหนักเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บทบาทของถ่านหินในไทยจึงได้ลดความสำคัญลงอย่างชัดเจน ในทางกลับกัน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียยังคงเดินหน้าสนับสนุนการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของธุรกิจนี้ที่ยังคงมีอยู่ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถตนเองเพื่อมองหาโอกาสธุรกิจในประเทศเหล่านี้แทน
ผู้เขียน: ทับขวัญ หอมจำปา
ถ่านหิน...พลังงานที่มีความจำเป็นต่อระบบผลิตไฟฟ้าไทย ด้วยข้อได้เปรียบเชิงต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าและปริมาณสำรองทั่วโลกที่มากกว่าเมื่อเทียบกับก๊าซธรรมชาติ แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วคงต้องยอมรับว่าอนาคตถ่านหินในไทยยังไม่สดใสนักจากแรงต่อต้านอย่างหนักเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม บทบาทของถ่านหินในไทยจึงได้ลดความสำคัญลงอย่างชัดเจน ในทางกลับกัน กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียยังคงเดินหน้าสนับสนุนการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพและโอกาสของธุรกิจนี้ที่ยังคงมีอยู่ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถตนเองเพื่อมองหาโอกาสธุรกิจในประเทศเหล่านี้แทน
ตลาดที่น่าสนใจอันดับแรกคงหนีไม่พ้น "อินโดนีเซีย" ซึ่งมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตถ่านหินสำคัญของโลกและยังมีความต้องการไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินอยู่มาก อินโดนีเซียผลิตถ่านหินได้เป็นอันดับที่ 4 ของโลก และยังให้ลำดับความสำคัญของการใช้ถ่านหินในภาคธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก เศรษฐกิจของประเทศยังเติบโตสูงประมาณ 6-7% ต่อปี ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงยังเติบโตได้ได้ดี ในขณะเดียวกันด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะจำนวนมากจึงต้องมีระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าแยกกันหลายระบบ และต้องมีปริมาณไฟฟ้าสำรองค่อนข้างมาก
ด้วยเหตุดังกล่าว ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอินโดนีเซีย ทำให้ต้องมีแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาในระบบอีกกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 2020 โดยรัฐบาลได้ใช้วิธีกระตุ้นการลงทุนในโปรเจ็กต์ถ่านหินจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศผ่านโครงการ "Fast-Track Program" โดยในช่วงแรกได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 7 พันเมกะวัตต์ ซึ่งโปรเจ็กต์เหล่านี้จะได้รับการประกันรายได้เป็นกรณีพิเศษจากรัฐบาลอินโดนีเซีย
อีกตลาดที่มีศักยภาพด้านดีมานด์โดดเด่นไม่แพ้อินโดนีเซีย คือ "อินเดีย" ประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรอินเดียยังไม่มีไฟฟ้าใช้ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศก็ใกล้เคียงกัน รวมไปถึงอินเดียยังต้องพึ่งพาพลังงานราคาถูกในการพัฒนาประเทศเช่นกัน แต่ด้วยจำนวนประชากรของอินเดียที่มีมากกว่าอินโดนีเซียถึง 5 เท่า จึงไม่แปลกใจที่รัฐบาลอินเดียได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินเข้าระบบภายในปี 2020 ไว้สูงถึง 1 แสนเมกะวัตต์!
อย่างไรก็ดี ปริมาณถ่านหินที่อินเดียผลิตได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ถึงแม้ว่าจะสามารถผลิตถ่านหินได้มากกว่าอินโดนีเซียหากแต่สามารถป้อนธุรกิจภายในประเทศได้เพียง 80% ของความต้องการทั้งหมด การขาดแคลนถ่านหินในอินเดียทำให้ธุรกิจไฟฟ้าต้องแบกรับภาระต้นทุนการนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นเนื่องจากภาครัฐยังไม่มีนโยบายชดเชยต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นเหมือนอย่างในไทย
ในขณะที่ "เวียดนาม" เป็นตลาดใกล้ตัวที่เริ่มกลับมาน่าสนใจมากขึ้น ภายหลังเศรษฐกิจเริ่มมีเสถียรภาพ เวียดนามมีแผนปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าจากการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นหลักมาใช้ถ่านหินเป็นหลักจึงต้องการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าระบบอีกประมาณ 3 หมื่นเมกะวัตต์ภายในปี 2020 พร้อมทั้งดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าด้วยการปรับโครงสร้างค่าไฟเพื่อให้ผลตอบแทนดีขึ้น ปฏิรูปตลาดให้แข่งขันเสรีมากขึ้น และเพิ่มสิทธิพิเศษแก่โปรเจ็กต์ถ่านหินโดยเฉพาะ เช่น การรวบรัดการเจรจาสัญญาให้รวดเร็วขึ้น หรือการยกเว้นค่าเช่าที่ดิน เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเริ่มเห็นบริษัทรายใหญ่จากเกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐฯ รวมถึงไทยในตลาดผลิตไฟฟ้าในเวียดนามมากขึ้น ซึ่งล้วนอยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินระดับเมกะโปรเจ็กต์ไม่ต่ำกว่า 1 พันเมกะวัตต์ต่อโรง แต่เช่นเดียวกันกับอินเดีย...เวียดนามมีแนวโน้มประสบปัญหาด้านปริมาณการผลิตของถ่านหินที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และท้ายที่สุดจะต้องกลายเป็นผู้นำเข้าถ่านหินสุทธิในปี 2015 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากตลาดผลิตไฟฟ้าของ 3 ประเทศข้างต้นที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก ประกอบกับประสบการณ์และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยทำให้มองดูเป็นตลาดที่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นอย่างเช่น "ญี่ปุ่น" แม้ว่าได้หันมาพึ่งพาโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้นประมาณ 20% ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ฟูกุชิมา แต่ญี่ปุ่นเป็นตลาดพัฒนาแล้วที่มีความซับซ้อน อีกทั้งหากมีการหวนกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์จะกระทบต่อความต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคตได้ หรือตลาด "จีน" แม้ยังมีโอกาสสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกมหาศาล แต่รัฐวิสาหกิจของจีน 5 รายที่ลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้ามีความแข็งแกร่งและมีส่วนแบ่งตลาดถึงเกือบครึ่งหนึ่งไปแล้ว นักลงทุนไทยจึงอาจเจาะตลาดจีนได้ค่อนข้างยากเช่นกัน
ไม่ว่าจะลงทุนในประเทศใด แน่นอนว่าประเด็นด้านราคาเชื้อเพลิงก็ยังคงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ...แล้วราคาถ่านหินจะมีทิศทางเป็นอย่างไร ? อีไอซีประเมินว่าถ่านหินยังมีปัญหาอุปทานส่วนเกินจากอินโดนีเซียซึ่งจะกดดันราคาถ่านหินให้อยู่ในระดับทรงตัวในช่วง 1-3 ปีนี้ โดยมีแนวโน้มว่าราคาจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในแต่ละปีไม่ต่างจากอัตราเงินเฟ้อมากนัก แม้ภาครัฐของอินโดนีเซียจะมีความพยายามควบคุมการผลิตภายในประเทศ แต่สุดท้ายแล้วผู้ประกอบการยังต้องการส่งออกให้ได้มากที่สุดเนื่องจากต้นทุนการผลิตยังต่ำกว่าราคาตลาดโลก ดังนั้น ราคาถ่านหินที่ทรงตัวในช่วงนี้น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถตัดสินใจลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมนำตัวแปรด้านคุณภาพของถ่านหินเข้ามาพิจารณาเพิ่มเติมด้วย ปัจจุบันโรงไฟฟ้าถ่านหินต้องคัดสรรถ่านที่มีคุณภาพสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อให้ได้ค่าความร้อนที่สูงกว่า มีความชื้นต่ำกว่า และยังลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นที่ยอมรับจากชุมชน ในการทำสัญญาระยะยาวจึงต้องพิจารณาถึงคุณภาพของถ่านหินให้ละเอียดด้วยเช่นกัน เนื่องจากเหมืองในแต่ละประเทศมีคุณภาพแตกต่างกัน โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องนำเข้าถ่านหินจากอินโดนีเซียเพราะได้มีการทำสัญญาจับจองถ่านหินคุณภาพดีไปพอสมควรแล้ว จึงเหลือแต่ถ่านหินเกรดต่ำลงมา ต้นทุนการนำเข้าเมื่อคิดเป็นพลังงานความร้อนที่ได้นั้นจึงอาจสูงขึ้นกว่าที่คาด ตัวอย่างเช่น หากต้องการตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อินเดีย การนำเข้าถ่านหินจากริชาร์ดส์เบย์ในแอฟริกาใต้เมื่อคิดต่อหน่วยความร้อนแล้วจะได้ต้นทุนที่ถูกกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการนำเข้าถ่านหินจากท่าบาลิกปาปันในอินโดนีเซีย เพราะถึงแม้ว่าระยะทางจากอินโดนีเซียจะใกล้ท่าเรือที่มุมไบมากกว่าแต่ถ่านหินจากแอฟริกาใต้มีคุณภาพดีกว่า
รูปแบบการลงทุนรวมไปถึงความเสี่ยงในการลงทุนต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น จะเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจของนักลงทุน ตัวอย่างเช่น การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในอินโดนีเซียนั้นต่างชาติสามารถถือครองหุ้นได้สูงสุด 95% จึงต้องหาพาร์ตเนอร์ท้องถิ่น (ยกเว้นเป็นโครงการความร่วมมือภาครัฐ-เอกชนที่ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100%) ส่วนสถานะทางการเงินของผู้รับซื้อไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า "off-taker" รวมไปถึงการประกันด้านรายได้จากรัฐบาลเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของโครงการเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงกฎเกณฑ์ด้านภาษีและการนำเงินเข้า-ออกประเทศว่ามีข้อจำกัดหรือไม่ อาทิ การทำโปรเจ็กต์ในอินเดียหากเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กกว่า 1 พันเมกะวัตต์จะต้องเสียภาษีนำเข้าเครื่องจักรสูงถึง 21% ส่วนเวียดนามก็เริ่มมีการจำกัดการนำเงินออกนอกประเทศเพื่อให้ภาคการเงินมีเสถียรภาพมากขึ้น เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้น หน้าตาของคู่แข่งในท้องถิ่นอาจเปลี่ยนไป กลุ่มธุรกิจที่มีเหมืองถ่านหินเป็นของตัวเองเริ่มหันมาทำโรงไฟฟ้ามากขึ้นในช่วงราคาถ่านหินตกต่ำเพื่อใช้ข้อได้เปรียบในเรื่องการมีซัพพลายเป็นของตนเอง แต่นั่นก็อาจเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่าในอนาคตเราอาจเห็นผู้ประกอบการในธุรกิจไฟฟ้าหันไปลงทุนเป็นเจ้าของเหมืองถ่านหินกันมากขึ้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงในเชิงอุปทานของถ่านหินนั่นเอง