SHARE
SCB EIC ARTICLE
01 พฤศจิกายน 2018

โอกาสและผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ต่ออุตสาหกรรม particleboard ไทย

หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้งในปี 2018 คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ผลกระทบของสงครามการค้าต่อภาคธุรกิจไทย” ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทั้งมาตรา 232 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียมจากทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปี 2018 และมาตรา 301 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ในช่วงกลางปี 2018 ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2018 สหรัฐฯได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 5,745 รายการ ในอัตรา 10% ก่อนเพิ่มเป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 โดยหนึ่งในหมวดสินค้าคือเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าแผ่นชิ้นไม้อัด (particleboard) จากไทยเป็นวัตถุดิบ จึงส่งผลให้ผู้ผลิต particleboard ของไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้เขียน: โดย SCB Economic Intelligence Center (EIC)

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2018

 

iStock-855896108.jpg

 

หนึ่งในประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้งในปี 2018 คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ผลกระทบของสงครามการค้าต่อภาคธุรกิจไทย” ที่นอกจากจะได้รับผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทั้งมาตรา 232 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลาร์ เครื่องซักผ้า เหล็ก และอะลูมิเนียมจากทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปี 2018 และมาตรา 301 ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ในช่วงกลางปี 2018 ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2018 สหรัฐฯได้เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มอีก 5,745 รายการ ในอัตรา 10% ก่อนเพิ่มเป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 โดยหนึ่งในหมวดสินค้าคือเฟอร์นิเจอร์ไม้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการนำเข้าแผ่นชิ้นไม้อัด (particleboard) จากไทยเป็นวัตถุดิบ จึงส่งผลให้ผู้ผลิต particleboard ของไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แม้การส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้จากจีนไปสหรัฐฯ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2013-2017) จะเติบโตต่อเนื่องปีละ 8% มาอยู่ในระดับ 1,800,000 ตัน หรือเป็นสัดส่วนถึง 40% ของปริมาณส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้ของจีนในปี 2017 แต่หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการนำเข้ากับราคาเฟอร์นิเจอร์ไม้นำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ โดยได้พิจารณาผลกระทบของรายได้ผู้บริโภคสหรัฐฯที่เปลี่ยนแปลงด้วยแล้ว อีไอซี พบว่าเฟอร์นิเจอร์ไม้จากจีนเป็นสินค้าที่มีความยืดหยุ่นต่อราคา (price elasticity) เท่ากับ -1.15 กล่าวคือ หากเฟอร์นิเจอร์ไม้จากจีนมีราคาเพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ปริมาณการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้จากจีนของสหรัฐฯ ปรับตัวลง 1.15% ดังนั้น การขึ้นภาษีนำเข้าในอัตรา 25% มีโอกาสที่จะทำให้สหรัฐฯนั้นนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้จากจีนน้อยลง 850,000 ตัน หดตัวราว 30%YOY ในปี 2019 โดยมีแนวโน้มที่สหรัฐฯจะนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ไม้จากเวียดนามและแคนาดาเป็นการทดแทน

 

เหตุการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ความต้องการนำเข้า particleboard ของจีน หดตัวราว 480,000 ลบ.ม. และส่งผลต่อเนื่องกับประเทศผู้ส่งออก particleboard ไปยังจีน ทั้ง ไทย โรมาเนีย และมาเลเซีย ที่มีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้า particleboard ของจีนที่ 45%, 20% และ 15% ทั้งนี้ อีไอซี ประเมินว่าปริมาณการส่งออก particleboard ของไทยไปจีนมีแนวโน้มหดตัวราว 200,000 ลบ.ม. หรือเพียง 8% ของปริมาณส่งออก particleboard ทั้งหมดของไทย ซึ่งถือเป็นผลกระทบที่ไม่รุนแรงนักต่ออุตสาหกรรม particleboard ของไทยในภาพรวม เนื่องจากตลาดส่งออก particleboard ของไทยพึ่งพาเกาหลีใต้และมาเลเซียถึง 60% ของการส่งออกทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลกระทบในระดับผู้ประกอบการ อีไอซี พบว่ามีผู้ผลิตไทยบางรายที่พึ่งพาตลาดจีนซึ่งมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีครั้งนี้

 

เพื่อเตรียมรับมือกับผลกระทบดังกล่าว อีไอซีแนะว่าในระยะสั้นผู้ผลิต particleboard ของไทยที่พึ่งพาตลาดจีนสูง ควรพิจารณาการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ โดยเวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมีส่วนแบ่งตลาดสูงเป็นลำดับที่ 2 รองจากจีน ซึ่งหากเฟอร์นิเจอร์ไม้ของจีนมีราคาสูงขึ้น เฟอร์นิเจอร์ไม้ของเวียดนามจะสามารถทำตลาดในสหรัฐฯได้มากขึ้น และย่อมส่งผลให้ความต้องการใช้ particleboard ของเวียดนามขยายตัว นอกจากนี้ Food and Agriculture Organization of United Nations (FAO) ยังระบุว่าเวียดนามมีกำลังการผลิต particleboard ปีละ 250,000 ลบ.ม. หรือเพียง 60% ของความต้องการใช้ทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือต้องนำเข้าจากไทยและมาเลเซียราว 30% และ 10% ของความต้องการใช้ทั้งหมด ภายใต้สถานการณ์ที่ความต้องการใช้ particleboard มีแนวโน้มขยายตัวแต่กำลังการผลิตมีอยู่อย่างจำกัด อีไอซี ประเมินว่าความต้องการนำเข้า particleboard ของเวียดนามมีโอกาสขยายตัว ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดผ่านการใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการมีความพร้อมด้านปริมาณไม้ยางพาราขนาดเล็กที่มีมากกว่าความต้องการใช้ในการผลิต particleboard และผลิตภัณฑ์ทดแทนไม้อื่นๆ ถึงปีละ 400,000 ตัน ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าคู่แข่งหลักอย่างมาเลเซียถึง 8%

 

บทวิเคราะห์ดังกล่าวเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของภาคอุตสาหกรรมไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ ควรประเมินผลกระทบของสงครามการค้าต่อธุรกิจของตนเพื่อนำไปหาแนวทางการลดผลกระทบและสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจจากสงครามการค้าครั้งนี้

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ