SHARE
SCB EIC ARTICLE
17 ตุลาคม 2018

ส่งออก 2019 จะชะลอเพราะอะไร?

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


Outlook_Q4_2018_Box_Export4.jpg

 

 

การเติบโตของการส่งออกสินค้ามีแนวโน้มชะลอลงในปี 2019 จากเหตุผลหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญและปริมาณการค้าโลกที่จะชะลอลง 2) ผลกระทบและความเสี่ยงของสงครามการค้า และ 3) ผลบวกจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง ทำให้อีไอซีประเมินว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 2019 จะขยายตัวได้ที่ 4.7%YOY จาก 8.5%YOY ในปี 2018


1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญและปริมาณการค้าโลกที่จะชะลอลง อีไอซีประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2019 ของสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ชะลอลงจากปี 2018 นอกจากนี้ คู่ค้าสำคัญอื่นๆ ได้แก่ มาเลเซีย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ก็มีการคาดการณ์โดย IMF ว่าจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงเช่นกัน (รูปที่ 1) ซึ่งอาจส่งผลเชิงลบต่อสินค้าส่งออกของไทยในประเทศดังกล่าวผ่าน
กำลังซื้อที่ลดลง ซึ่งมูลค่าส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวคิดเป็น 55.4% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดในปี 2017 สอดคล้องกับการคาดการณ์มูลค่าการค้าโลกของ WTO ที่คาดว่ามูลค่าการค้าโลกในปี 2019 จะขยายตัวที่ระดับ 4.0% ลดลงจากคาดการณ์ทั้งปี 2018 ที่ 4.4% อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวของการค้าโลกปี 2019 ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่เติบโตเฉลี่ยน้อยกว่า 3% ต่อปี



รูปที่ 1: เศรษฐกิจปี 2019 ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากปี 2018

Outlook_Q4_2018_Box_Export1.jpg

หมายเหตุ*: คาดการณ์ GDP ของมาเลเซีย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เป็นการคาดการณ์ของ IMF
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และประมาณการณ์ของ EIC สำนักวิจัยต่างประเทศ และ IMF


2) ผลกระทบและความเสี่ยงของสงครามการค้า นอกจากมาตรการภาษีการค้าของสหรัฐฯ ที่เริ่มส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทยบ้างแล้ว โดยเฉพาะการส่งออกหมวดอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ยังมีอีกหนึ่งสถานการณ์การค้าโลกที่เป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกไทย คือ การตอบโต้ทางการค้ากันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อการส่งออกของไทย โดยสหรัฐฯ ได้เริ่มเก็บภาษีนำเข้าจากจีนที่อัตรา 25% รอบแรกเมื่อ 6 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในกลุ่มสินค้าเม็ดพลาสติก เซมิคอนดักเตอร์ และเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งจีนได้ทำการตอบโต้กลับด้วยการประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราที่เท่ากันในกลุ่มสินค้าเกษตร ยานยนต์ และพลังงาน รวมไปถึงการประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติมอีกรอบของสหรัฐฯ ที่จะเก็บที่อัตรา 10% ในเดือนกันยายน 2018 และเพิ่มเป็น 25% ในเดือนมกราคม 2019 ในกลุ่มสินค้ายางแผ่น ไม้แผ่นและไม้แปรรูป เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ สัดส่วนมูลค่าส่งออกสินค้าหมวดดังกล่าวที่ไทยส่งไปยังจีนคิดเป็น 4.1% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยในปี 2017 การตอบโต้กันทางการค้าของสองประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทำให้ในช่วงปลายปี 2018 จนไปถึงปี 2019 ผู้ส่งออกไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของสินค้าส่งออกหมวดดังกล่าวมีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ


3) ผลบวกจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลง มูลค่าการส่งออกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันในปี 2019 อาจไม่ได้รับผลบวกด้านราคาเหมือนในปี 2018 โดยในช่วง 8 เดือนแรก ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้นถึง 38% ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันขยายตัวถึง 15%YOY โดยส่งผลผ่านทางด้านราคา อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2019 จะขยายตัวชะลอลงจากปี 2018 (อ่านเพิ่มเติมที่ : Bull-Bear) ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันซึ่งคิดเป็นสัดส่วน18% ของมูลค่าการส่งออกรวมปี 2017 อาจขยายตัวชะลอลงจากผลที่ลดน้อยลงของราคา อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังมีความเสี่ยงด้านสูงอยู่พอควรจากประเด็นการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ และปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศผู้ผลิตน้ำมันอย่าง เวเนซุเอลา ซีเรีย ไนจีเรีย และลิเบีย ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องติดตามใกล้ชิด (รูปที่ 2)


รูปที่ 2: ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ทำให้แรงส่งด้านราคาของสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันลดลง
อัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน*

หน่วย: %YOY


Outlook_Q4_2018_Box_Export2.jpg

 

 

หมายเหตุ*: การคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของอีไอซีเฉลี่ยทั้งปี 2018 และ 2019 อยู่ที่ 73 และ 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ และสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์และพลาสติก ยางพาราและผลิตภัณฑ์ และน้ำมันสำเร็จรูป

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ Bloomberg

อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าผู้ส่งออกสินค้ายังมีโอกาสได้รับอานิสงส์จากความร่วมมือทางการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้นและศักยภาพในบางตลาดทีเติบโตสูง เช่น ข้อตกลงการร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างยุโรปและญี่ปุ่น (EU-Japan Economic Partnership Agreement) ที่จะสำเร็จตามกำหนดการในเดือนมีนาคม 2019 จะสามารถเป็นโอกาสของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยได้ รวมไปถึงประโยชน์ทางอ้อมจากการตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกล่าวคือ บริษัทในสหรัฐฯ อาจหันมานำเข้าสินค้าที่โดนขึ้นภาษีนำเข้าจากไทยแทนที่การนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร เช่น ข้าวสี ยางแท่ง รวมถึงหมวดสินค้าอุตสาหกรรม เช่น กรดซิตริก และเครื่องยนต์สันดาปภายใน เป็นต้น หรือการมองหาตลาดใหม่ เช่น อินเดียที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง ก็ถือเป็นตลาดที่เพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการส่งออกไทย โดย 8 เดือนแรกปี 2018 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอินเดียขยายตัวถึง 26.6%YOY สูงกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกรวมที่ 10.0%YOY หรือคิดเป็น 3.1% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยหมวดสินค้าสำคัญที่อินเดียนำเข้าจากไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอัญมณีและเครื่องประดับ คิดเป็น 36% ของมูลค่าส่งออกของไทยไปอินเดียทั้งหมดปี 2017 ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงของอินเดียที่ในไตรมาส 1 ปี 2018 ขยายตัวถึง 7.7%YOY และ IMF คาดการณ์ทั้งปี 2018 เศรษฐกิจของอินเดียจะขยายตัวถึง 7.3%YOY และ 7.4%YOYในปี 2019 ทำให้อินเดียน่าจับตามองในฐานะตลาดที่ยังมีโอกาสสำหรับผู้ประกอบการส่งออกไทย (รูปที่ 3)

รูปที่ 3: อินเดียยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้ส่งออกไทย จากมูลค่าการส่งออกจากไทยไปอินเดียที่เติบโตได้ดี และแนวโน้มเศรษฐกิจของอินเดียที่ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
การขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอินเดียและทั่วโลก
หน่วย: %YOY
Outlook_Q4_2018_Box_Export3.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสถิติและการดำเนินโครงการคือกระทรวงการต่างประเทศของอินเดีย

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ