SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 ตุลาคม 2018

No deal Brexit อนาคตของสหราอาณาจักร สหภาพยุโรปและโอกาสของไทย

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


Outlook_Q4_2018_s_Box_EU3.jpg

 

 

รัฐบาลสหราชอาณาจักรออกสมุดปกขาว (white paper) โดยเปิดเผยรูปแบบความสัมพันธ์ใหม่กับสหภาพยุโรป (EU) หลัง Brexit หรือมีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า “Chequers plan” โดยมีจุดยืนหลัก คือ ต้องการให้สหราชอาณาจักรยังคงอยู่ในตลาดเดียวของสหภาพยุโรป (EU single market) แต่มีอิสระในการทำข้อตกลงทางการค้าใหม่กับประเทศอื่นๆ และสามารถควบคุมการเคลื่อนย้ายพลเมืองจาก EU ได้ ซึ่งหากมองในรายละเอียดแล้ว สหราชอาณาจักรมีจุดยืนที่แตกต่างจาก EU อยู่พอสมควร เนื่องจากตลาดเดียวของสหภาพยุโรปกำหนดให้เปิดเสรีใน 4 ปัจจัย ได้แก่ สินค้า บริการ แรงงานและเงินทุน แต่สหราชอาณาจักรไม่ต้องการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่ง EU ไม่ยอมให้สหราชอาณาจักรคัดเอาเฉพาะเรื่องที่ได้ประโยชน์ (cherry picking) ในการออกจาก EU เพราะเกรงว่าจะเกิดกรณีประเทศอื่นทำตามอีกในอนาคต ในทางกลับกันหากสหราชอาณาจักรไม่ได้ข้อตกลงที่พอใจอาจเลือกไม่เจรจากับ EU ตามที่นายกรัฐมนตรีเทรีซา เมย์ กล่าวไว้ว่า “No deal is better than bad deal” การเจรจา Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและ EU จึงยังมีอุปสรรคติดขัดอยู่มาก นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังต้องเผชิญกับเสียงแตกภายในรัฐสภา โดยแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทั้งฝ่ายต้องการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ EU (Soft Brexit) และฝ่ายที่ต้องการออกจาก EU อย่างสิ้นเชิง (Hard Brexit) จึงมีโอกาสที่ข้อตกลงจะไม่ผ่านในรัฐสภาของสหราชอาณาจักร แม้ว่าสามารถมีข้อตกลงกับ EU ได้ก็ตาม จากความเป็นได้ข้างต้น ประกอบกับเวลาในการเจรจาเหลืออยู่อีกไม่มาก ทำให้สหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงที่จะไม่มีข้อตกลงกับ EU (No deal Brexit) เพิ่มสูงขึ้น


ในกรณีสหราชอาณาจักรไม่สามารถมีข้อตกลงกับสหภาพยุโรป (No deal Brexit) จะต้องสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าการลงทุนต่างๆ ที่เคยมีกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องถูกเก็บภาษีนำเข้า และเผชิญกับมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษีอื่นๆ (non-tariff barriers) ภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) เหมือนกับประเทศที่อยู่นอกสหภาพยุโรป อาจทำให้การส่งออกสินค้าจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศในสหภาพยุโรปที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 44.3% ของมูลค่าการส่งออกสินค้า ต้องเสียภาษีนำเข้ามูลค่ากว่า 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ทำให้สหราชอาณาจักรจะต้องปรับโครงสร้างธุรกิจภายในประเทศครั้งใหญ่ในสินค้าที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมโยงกับประเทศในสหภาพยุโรปจนอาจต้องมีการย้ายฐานการผลิตได้ นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรจะต้องเร่งทำข้อตกลงทางการค้าก่อนออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการกับประเทศคู่ค้าใหม่ทั้งหมดที่เคยได้รับประโยชน์เมื่อตอนยังเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ปกติแล้ว การทำข้อตกลงทางการค้าต้องใช้เวลานานในการเจรจากับประเทศคู่ค้า จึงมีแนวโน้มที่การเจรจาข้อตกลงจะไม่สามารถแล้วเสร็จก่อนวันที่สหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2019

ผลต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร: ภาคการเงินได้รับผลกระทบมากที่สุดจาก Brexit ซึ่งเป็นภาคที่สำคัญของ สหราชอาณาจักร ในปี 2017 ภาคการเงินมีสัดส่วนสูงถึง 6.5% ของ GDP โดยมีแรงงานอยู่ในภาคการเงิน 1.1 ล้านคนหรือคิดเป็น 3.2% ของแรงงานทั้งหมด และเสียภาษีให้รัฐบาลมูลค่ารวม 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 11% ของรายรับของรัฐบาล ซึ่งหากสหราชอาณาจักรออกจาก EU โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการเงิน ย่อมส่งผลให้ภาคการเงินของสหราชอาณาจักรโดยเฉพาะภาคธนาคารเข้าถึงตลาด EU ได้ยากขึ้น และมีแนวโน้มที่ธุรกิจการเงินส่วนใหญ่จะย้ายสำนักงานออกจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศในสหภาพยุโรป ซึ่งไม่เพียงแต่สูญเสียตำแหน่งงานในภาคการเงินจำนวนมาก แต่ยังกระทบต่อฐานะการคลังของรัฐบาลสหราชอาณาจักรอ่อนแอลงอีกด้วย

ผลต่อเศรษฐกิจไทย: อีไอซีมองว่าผลกระทบของ No deal Brexit ต่อไทยสามารถส่งผ่านมาได้ 3 ช่องทาง คือ

1) ผลกระทบต่อการส่งออก No deal Brexit มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในของสหราชอาณาจักร ทำให้ความต้องการสินค้าภายในประเทศชะลอตัวและกดดันให้การส่งออกไทยไปสหราชอาณาจักรมีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยสินค้าส่งออกหลักไทยที่ไปยังสหราชอาณาจักร คือ รถยนต์และส่วนประกอบ และเนื้อไก่แปรรูป อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าไทยไปสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนราว 1.5% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ไทยจึงได้รับผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าจำกัด นอกจากนี้ ในปัจจุบันการเจรจาข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปยังเจรจาไม่สิ้นสุด ทำให้การค้าของไทยกับสหราชอาณาจักรไม่มีความแตกต่างระหว่างก่อนหรือหลัง Brexit แต่อย่างใด ในทางกลับกัน No deal Brexit กลับทำให้ไทยมีโอกาสทำข้อตกลงทางการค้า (FTA) กับสหราชอาณาจักรได้โดยตรง ซึ่งสามารถต่อรองข้อตกลงต่างๆ เพิ่มเติมแบบทวิภาคี อาทิ ลดความเข้มงวดของมาตรการด้านสุขอนามัยสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอาหารไทยไปสหราชอาณาจักร

2) ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวต่อคนสูงเป็นอันดับต้นๆ ราว 77,600 บาทต่อคนต่อทริป หากสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลงย่อมส่งผลกระทบต่อตลาดเงินให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า ซึ่งอาจมีแนวโน้มกลับไปอ่อนค่าเหมือนช่วงหลังการลงประชามติที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าถึง 10% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จนส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของคนอังกฤษ และอาจเป็นสาเหตุให้นักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรมาไทยมีแนวโน้มชะลอลงได้ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนเพียง 2.1% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ภาคการท่องเที่ยวไทยจึงได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด

3) ผลกระทบต่อการลงทุนทางตรง หลังเหตุการณ์ Brexit ทำให้ธุรกิจในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญกับตลาดใหม่ๆ รวมถึงประเทศไทยมากขึ้น หากไทยเปิดทางให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น อาทิ ขยายการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่กฎหมายกำหนดไว้เพียง 30 ปี และลดขั้นตอนการขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน อาจเป็นโอกาสของไทยที่จะได้รับเงินลงทุนทางตรงจากสหราชอาณาจักรมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มภาคบริการ ซึ่งสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญของกลุ่มธุรกิจ 4 กลุ่มหลักที่มีโอกาสขยายการลงทุนมาในไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีความต้องการ อาทิ ธุรกิจด้านการศึกษา ธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีด้านการบินและอากาศยาน และเทคโนโลยีด้านการบริการทางการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันการลงทุนทางตรงจากสหราชอาณาจักรมาไทยมีสัดส่วน 3.5% ของการลงทุนทางตรงทั้งหมด

สหราชอาณาจักรจะต้องรีบสรุปข้อตกลงกับสหภาพยุโรปให้เร็วที่สุดก่อนจะออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเหลือเวลาอีกไม่มากนัก ซึ่งผลการเจรจาที่จะออกมาย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจกับสองฝ่ายทั้งสหราชอาณาจักรและประเทศในสหภาพยุโรปไม่มากก็น้อย แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผลกระทบต่อไทยยังคงจำกัด ทั้งด้านการส่งออกและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ เป็นโอกาสที่ทำให้สหราชอาณาจักรหันมาสนใจทำการค้าการลงทุนกับไทยมากขึ้น ไทยจึงควรมอง No deal Brexit นี้ให้เป็นโอกาสที่จะช่วยสนับสนุนความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรในระยะต่อไป

รูปที่ 1: เหตุการณ์ Brexit กระทบให้ค่าเงินปอนด์อ่อนค่า สะท้อนความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน

ค่าเงินปอนด์เทียบดอลลาร์สหรัฐฯ

หน่วย: ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปอนด์

Outlook_Q4_2018_s_Box_EU2.jpg

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ