SHARE
OUTLOOK:U.S. ECONOMY
09 มกราคม 2019

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวผ่านจุดสูงสุด เตรียมรับผลกระทบจากสงครามการค้า

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวผ่านจุดสูงสุดเตรียมรับผลกระทบจากสงครามการค้า

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 3 ปี 2018 ขยายตัวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เล็กน้อย โดยเศรษฐกิจขยายตัวราว 3.0%YOY หรือ 3.4%QOQ SAAR1 นำโดยการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวถึง 2.9%YOY ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ปี 2014 ด้วยแรงสนับสนุนจากมาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอัตราการว่างงานที่ต่ำ
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนก็เติบโตต่อเนื่องที่ 6.1%YOY ในขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัว 4.4%YOY ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ต้องเร่งส่งออกก่อนถูกจีนเก็บ
ภาษีนำเข้า ส่วนการนำเข้าสินค้าขยายตัว 6.5%YOY จากการเร่งนำเข้าสินค้าจีนเพื่อเก็บเป็นสินค้าคงคลังก่อนที่สหรัฐฯ จะเก็บสินค้าภาษีนำเข้าจีน ซึ่งในปี 2017 สหรัฐฯ มีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนราว 21% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมด ทั้งนี้ อีไอซีประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2018 ขยายตัวอยู่ที่ 2.9%YOY

ในปี 2019 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงที่ 2.5%YOY เนื่องจากผลบวกจากมาตรการกระตุ้นทางการคลังเริ่มลดลง ในขณะที่
การส่งผ่านนโยบายการเงินเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ยสูง เช่น ภาคอสังหาริมทรัพย์
และรถยนต์ อย่างไรก็ดี โอกาสที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2019 ยังมีค่อนข้างต่ำ เพราะแรงสนับสนุนจากตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่งโดยอัตราการว่างงาน
ในเดือนพฤศจิกายน 2018 ทรงตัวที่ 3.7% กดดันให้ค่าจ้างแรงงานขยายตัวถึง 3.2%YOY สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งมีส่วนทำให้การบริโภคภายในประเทศ
ยังคงเป็นปัจจัยหลักของการเติบโตในปี 2019 ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (PCE) ที่อยู่ใกล้เป้าหมาย 2% ในเดือนพฤศจิกายนที่ 1.8% ประกอบกับตลาดแรงงาน
ที่แข็งแกร่ง ทำให้ Fed ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต (dot plot) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปี 2019 และ 1 ครั้งในปี 2020

ผลการเลือกตั้งกลางเทอมที่ผ่านมาทำให้เกิดการคานอำนาจของสองสภาและ ประธานาธิบดีแต่ไม่ส่งผลต่อนโยบายการค้า สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีนมีแนวโน้มดำเนินต่อเนื่อง สภาคองเกรสมีแนวโน้มที่สองพรรคหลัก ทั้งพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันจะถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ทำให้ร่างกฎหมายใหม่ๆ
ในบางประเด็นผ่านสภาได้ยากขึ้น อาจมีความเสี่ยงที่สภาคองเกรสจะไม่สามารถตกลงร่างงบประมาณปี 2019 และจับตาการขยายเพดานหนี้สาธารณะ (debt ceiling)
ที่อาจนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่า government shutdown หรือการปิดทำการชั่วคราวของหน่วยงานรัฐฯ ได้บ่อยครั้ง แต่จะไม่ส่งผลต่อนโยบายสำคัญๆ ที่ทั้งสองพรรคมีความเห็นร่วมกัน เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะเดียวกัน ทรัมป์ก็อาจใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีโดยไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรส โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้ากับจีน ดังนั้นหากจีนและสหรัฐฯ ยังไม่สามารถเจรจายุติข้อพิพาทการค้าได้ภายใน 90 วัน สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้าจาก 10% เป็น 25% กับสินค้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในช่วงเดือนมีนาคม 2019

นัยต่อเศรษฐกิจไทย
• มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed นักลงทุนได้ คาดการณ์ไปแล้วส่วนใหญ่ ทำให้ดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีทิศทางอ่อนค่า ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าเงินบาทในปี 2019 จะแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ


• สงครามการค้าส่งผลลบต่อการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะการส่งออกอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) รวมถึงเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบโดยมูลค่าส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวจากไทยไปสหรัฐฯ ใน 11 เดือนแรกลดลง -71.7%YOY และ -55.5%YOY ตามลำดับ อย่างไรก็ดี การส่งออกไปสหรัฐฯ ในภาพรวมขยายตัว 5.8%YOY อีไอซีมองว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ในปี 2019 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวได้ดีแม้จะชะลอลง รวมทั้งไทยยังได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ จากจีนมายังไทยในบางหมวด อาทิ ยางล้อ เป็นต้น

• การลงทุนทางตรงจากสหรัฐฯ มายังไทยใน 9 เดือนแรกของปี 2018 ขยายตัว 28.1%YOY ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิต โดยมีผู้ผลิตจากสหรัฐฯบางรายเริ่มพิจารณาย้ายฐานการผลิตบางส่วนมายังไทยเพื่อกระจายความเสี่ยงจากสงครามการค้า เช่น Harley Davidson ผู้ผลิตจักรยานยนต์สัญชาติอเมริกัน เป็นต้น

Infographic_US_Q12019.jpg



ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ