SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 ตุลาคม 2018

เศรษฐกิจ CLMV: ยังคงเติบโตสูงแต่เผชิญความเสี่ยงมากขึ้นในปี 2019

เทส

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 


เศรษฐกิจกลุ่มประเทศซีแอลเอมวีจะยังคงขยายตัวสูงที่ระดับ 6-7% ในปี 2018 และ 2019 โดยมีการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศเป็นแรงสนับสนุนหลัก ในปี 2017 มูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มซีแอลเอมวีขยายตัว 21%YOY นำโดยการลงทุนจากประเทศเอเชียอย่างจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 63% ของ FDI ทั้งหมด อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญสำหรับกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้ ค่าเงินกลุ่มประเทศซีแอลเอมวีมีทิศทางอ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปีตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อ่อนค่าในระดับต่ำกว่าค่าเงินประเทศเอเชียอื่นๆ เนื่องจากอยู่ภายใต้การควบคุมจากธนาคารกลาง

ในปี 2018 ภาครัฐของกลุ่มซีแอลเอมวีได้ออกมาตรการสนับสนุนภาคธุรกิจ รวมทั้งผ่อนคลายข้อกฎหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศซึ่งเป็นแรงสนับสนุนหลักต่อเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่น สิทธิพิเศษสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว การเปิดให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนในภาคค้าส่งปลีกในเมียนมา การออกประกาศสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการลงทุนด้านโลจิสติกส์ของชาวต่างชาติในเวียดนาม และการเปิดอนุสัญญาภาษีซ้อน (Double Tax Agreement: DTA) ระหว่างกัมพูชากับประเทศคู่ค้า เป็นต้น ทั้งนี้ DTA จะช่วยลดภาระการเก็บภาษีซ้ำซ้อนระหว่างประเทศ โดยภาษีที่เรียกเก็บจากประเทศหนึ่งไปแล้ว สามารถนำมายื่นขอยกเว้นหรือขอลดหย่อนภาษีในอีกประเทศได้ ปัจจุบัน ไทยมี DTA กับกลุ่มประเทศซีแอลเอมวีทั้ง 4 ประเทศ โดย DTA ระหว่างไทย-กัมพูชาเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2018

ภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทำให้กลุ่มประเทศซีแอลเอมวีเริ่มปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 ค่าแรงขั้นต่ำสำหรับแรงงานกัมพูชาในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มและรองเท้าปรับขึ้นเป็น 170 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน สำหรับแรงงานในลาวและเมียนมาปรับขึ้นเป็น 132 และ 79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน ตามลำดับ สำหรับแรงงานภาคเอกชนในเวียดนามอยู่ที่ระหว่าง 119-171 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำสะท้อนถึงต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ค่าแรงในกลุ่มประเทศซีแอลเอมวียังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ราว 164-236 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจส่งผลทั้งทางบวกและทางลบต่อเศรษฐกิจซีแอลเอมวี มาตรการตอบโต้ของจีนที่เรียกเก็บภาษีสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ อาจทำให้จีนหันมานำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศซีแอลเอมวีแทน เช่น เส้นใยฝ้ายซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของเมียนมา และผลิตภัณฑ์ถั่วจากเวียดนาม เป็นต้น ในทางกลับกัน มาตรการเก็บภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนจะส่งผลลบทางอ้อมต่อเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามส่งออกสินค้าขั้นกลางไปยังจีนเป็นหลัก เช่น ส่วนประกอบเครื่องจักร และอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่จีนนำไปประกอบเพื่อส่งออกต่อไปยังสหรัฐฯ โดยในปี 2017 เวียดนามส่งออกสินค้าในหมวดดังกล่าวไปจีนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 45% ของการส่งออกเวียดนามไปจีน และ 7% ของการส่งออกเวียดนามทั้งหมด ในขณะเดียวกัน การส่งออกของกัมพูชา ลาว และเมียนมาไปยังจีนจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากการเก็บภาษีของสหรัฐฯ เพราะสินค้าส่งออกหลักส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า แร่ธาตุ และก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ กัมพูชาและเมียนมายังได้รับ GSP (Generalized System of Preferences) หรือสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหรัฐฯ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ดังนั้น การส่งออกของทั้งสองประเทศไปยังสหรัฐฯ จึงไม่น่าได้รับผลกระทบแม้สหรัฐฯ จะประกาศเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม

 

 

เศรษฐกิจลาว : เติบโตบนความเสี่ยงจากการขาดดุลการค้าและการคลังอย่างต่อเนื่อง

 

เศรษฐกิจลาวชะลอลงเล็กน้อยในปี 2017 อยู่ที่ระดับ 6.9%YOY จากประมาณการโดย IMF ด้วยการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้า การก่อสร้าง และการค้าส่งค้าปลีก สำหรับปี 2018 คาดว่าเศรษฐกิจลาวจะยังเติบโตที่ระดับ 6.8%YOY โดยทางการลาวได้ผลักดันภาคการท่องเที่ยวให้เป็นหนึ่งตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ผ่านแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยว Visit Laos Year 2018 ซึ่งมีเป้าหมายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 9 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 18%YOY ในปีนี้
 

การเติบโตทางเศรษฐกิจของลาวจะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 7%YOY ในปี 2019 จากประมาณการของ IMF ด้วยแรงสนับสนุนจากการส่งออกพลังงานไฟฟ้า โดยลาวมีแผนเปิดทำการเขื่อนผลิตไฟฟ้าอีก 7 แห่งในปีหน้า คาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอีกราว 2,446 MW โดยไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ผลิตได้จะส่งออกมายังประเทศไทย นอกจากนี้ การลงทุนจากจีนจะเป็นอีกแรงส่งสำคัญต่อเศรษฐกิจลาว โดยในปี 2017 การลงทุนทางตรงจากจีนขยายตัวถึง 85%YOY จากโครงการโรงไฟฟ้า และโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงลาว-จีน ซึ่งคาดว่าจะเปิดทำการในปี 2021

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจลาวคือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ในปี 2017 ลาวขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นสัดส่วน -12% ของ GDP และยังมีแนวโน้มขาดดุลต่อไปในระยะข้างหน้า สร้างแรงกดดันต่อเงินกีบให้อ่อนค่าลง ขณะที่ระดับทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ รายได้ภาครัฐที่ยังเพิ่มขึ้นไม่ทันรายจ่ายทำให้รัฐบาลลาวเผชิญปัญหาขาดดุลการคลังอย่างต่อเนื่อง ส่งผลลบต่อระดับหนี้สาธารณะที่สูงราว 61% ของ GDP ในปี 2017 ซึ่งเกินกว่าครึ่งเป็นหนี้สกุลเงินต่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจลาวอาจเผชิญความเสี่ยงในกรณีที่เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างฉับพลัน แม้จะมีรายได้บางส่วนในรูปสกุลเงินต่างประเทศจากการส่งออกก็ตาม

การขาดดุลการคลังต่อเนื่องทำให้รัฐบาลลาวพยายามหาช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ เช่น การส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว และสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ในเดือนสิงหาคม 2018 ทางการลาวได้ประกาศยกเว้นภาษีเพิ่มเติมสำหรับนักลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) โดยยกเว้นภาษีกำไรเป็นเวลา 8 หรือ 16 ปีตามพื้นที่การลงทุน สำหรับผู้ลงทุนในภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ ด้านสุขภาพ การศึกษา และภาคอสังหาริมทรัพย์ ทั้งยังยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ลงทุนพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในส่วนของการก่อสร้างถนน ระบบไฟฟ้า การประปาและการระบายน้ำ ปัจจุบัน ลาวมีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหมด 12 แห่งในพื้นที่ 7 จังหวัด และมีจำนวนบริษัทผู้ลงทุนราว 377 ราย สร้างมูลค่าลงทุนรวม 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • เงินกีบอ่อนค่าลง 3.24%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ณ วันที่ 28 กันยายน 2018 แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินกีบอย่างต่อเนื่องในอนาคตอาจสร้างแรงกดดันต่อการควบคุมค่าเงินของธนาคารกลางลาว (BOL) ซึ่งปัจจุบันกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของเงินกีบไม่เกิน 5% รวมทั้งยอดหนี้สาธารณะที่สูงและส่วนใหญ่เป็นหนี้สินในสกุลเงินต่างประเทศในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ

  • มูลค่าการค้าระหว่างไทยและลาวขยายตัว 14.2%YOY ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2018 และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2018 และ 2019 ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจลาว รวมถึงการเปิดด่านการค้าชายแดนใหม่ๆ ล่าสุด ทางการไทยเตรียมยกระดับจุดผ่อนปรนการค้าบ้านฮวก จังหวัดพะเยา ให้เป็นด่านการค้าชายแดนถาวร คาดว่าจะช่วยเพิ่มการค้ากับแขวงไชยบุรีของประเทศลาว

  • ไทยจัดเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 2 ในลาวรองจากจีน มีมูลค่าการลงทุนทางตรง (FDI) คิดเป็น 9% ของ FDI ทั้งหมดในลาวปี 2017 การลงทุนทางตรงจากไทยไปลาวยังมีแนวโน้มเติบโตดีตามสภาพแวดล้อมทางการลงทุนในลาวที่พัฒนาขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนเพิ่มเติม เช่น การยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนใน SEZ

 

Outlook_Q4_2018_LS.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ