SHARE
SCB EIC ARTICLE
14 กันยายน 2018

Brexit สองปีผ่านไป บทสรุปจะจบลงเช่นไร?

เวลาได้ผ่านไปสองปีกว่าแล้วตั้งแต่วันที่สหราชอาณาจักรลงประชามติว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า Brexit แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตกลงกันไม่ได้อย่างชัดเจนว่าความสัมพันธ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ผู้เขียน: วรากร รัตนากร

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนกันยายน 2018

iStock-652345422.jpg

 

 

“นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การพบกันครั้งนี้กับนายเลียม ฟ็อกซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศสหราชอาณาจักร ทั้งสองฝ่ายจะหารือเรื่องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรภายหลัง Brexit ตลอดจนการดำเนินการของสภาผู้นำนักธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิดความร่วมมือการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้มากขึ้น”

ที่มา: มติชนออนไลน์, 4 เมษายน 2018 

 

ผ่านมาสองปีกว่า Brexit คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?

 

เวลาได้ผ่านไปสองปีกว่าแล้วตั้งแต่วันที่สหราชอาณาจักรลงประชามติว่าจะถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (European Union: EU) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า Brexit แต่ทั้งสองฝ่ายก็ยังคงตกลงกันไม่ได้อย่างชัดเจนว่าความสัมพันธ์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทว่าเวลาที่เหลืออยู่สำหรับการเจรจาลดน้อยลงเรื่อยๆ เนื่องจากสหราชอาณาจักรถูกกำหนดให้ออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2019 ซึ่งหมายความว่าการเจรจาต้องแล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดช่วงการประชุมใหญ่สหภาพยุโรปในวันที่ 18 ตุลาคมปีนี้ มิฉะนั้น ทางสหราชอาณาจักรจะต้องแยกตัวออกมือเปล่าและสูญเสียข้อตกลงทางการค้าการลงทุนต่างๆ ที่เคยผูกอยู่กับสหภาพยุโรป

 

เส้นตายการออกจากสหภาพยุโรปกำลังใกล้เข้ามา ขณะเดียวกันความขัดแย้งภายในรัฐบาลเอง ทำให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบเรื่อง Brexit ลาออกถึงสามคน ได้แก่ นายเดวิด เดวิส รัฐมนตรีกระทรวงการแยกตัวจากสหภาพยุโรป นายสตีฟ เบเคอร์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการแยกตัวจากสหภาพยุโรป และนายบอริส จอห์นสัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันที่มีแนวคิดค่อนไปทาง Soft Brexit ซึ่งหมายถึงสหราชอาณาจักรจะไม่ได้แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปอย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ รัฐบาลอังกฤษยังเผชิญปัญหาความอ่อนแอของรัฐบาลหลังพรรครัฐบาลเสียเสียงข้างมากในการเลือกตั้งก่อนกำหนดในปี 2017 ทำให้การเจรจากับทางสหภาพยุโรปคืบหน้าอย่างเชื่องช้า และขณะนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าข้อตกลงความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายจะเป็นรูปแบบไหน โดยเฉพาะด้านการค้าที่ยังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่

 

สหราชอาณาจักรมีตัวเลือก Brexit ในการออกจากสหภาพยุโรปอย่างไรบ้าง?

 

ในทางทฤษฎี สหราชอาณาจักรมีตัวเลือกในแง่ความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหภาพยุโรปอยู่ 3 รูปแบบใหญ่ คือ ความตกลงรูปแบบนอร์เวย์ ความตกลงรูปแบบแคนาดา และการออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีความตกลงทาง
การค้าใดๆ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปแตกต่างกัน


1) ความตกลงทางการค้ารูปแบบนอร์เวย์

ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรประเมินว่าความตกลงทางการค้ารูปแบบนอร์เวย์นั้นจะส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด เพราะสหราชอาณาจักรจะยังอยู่ในเขตเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Area: EEA)1แต่แยกออกจากสหภาพศุลกากร (EU Customs Union)2 (รูปที่1: ประเทศในแต่ละกลุ่มพันธมิตรยุโรป) ทำให้ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดและไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่สูงจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ยังสามารถทำการค้าเสรีกับประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปได้ อย่างไรก็ดี สภาผู้แทนราษฎรสหราชอาณาจักรได้ปฏิเสธข้อตกลงรูปแบบนอร์เวย์ไปเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2018 เพราะเห็นว่าสหราชอาณาจักรไม่ได้แยกออกจากสหภาพยุโรปอย่างแท้จริง ทั้งยังต้องทำตามกฎเกณฑ์บางอย่างที่สหราชอาณาจักรไม่ได้ต้องการอีกด้วย เช่น การไม่มีอำนาจเด็ดขาดในการควบคุมพลเมืองยุโรปที่จะเข้าออกประเทศ

 

pic_brexit.png

 

 

2) ความตกลงการค้ารูปแบบแคนาดา


ถ้าสหราชอาณาจักรเลือกที่จะออกจากทั้งเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) และสหภาพศุลกากร (EU Customs Union) วิธีเดียวที่จะยังสามารถค้าขายเสรีกับสหภาพยุโรปต่อได้ก็คือการทำความตกลงทางการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ในรูปแบบเดียวกับแคนาดาแทน

 

ถึงแม้ว่าการค้าเสรีสำหรับสินค้าระหว่างทั้งสองฝ่ายจะถูกรักษาไว้ด้วย FTA แต่อุปสรรคต่อการค้าขายก็จะเพิ่มมากขึ้นอยู่ดีเพราะทางสหราชอาณาจักรไม่ได้อยู่ในตลาดร่วมสหภาพยุโรป (EU) อีกต่อไป จึงยังมีภาษีศุลกากรต่อสินค้าบางชนิดและมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีหลายอย่าง เช่น การใช้โควตาและการตรวจสอบแหล่งกำเนิดของสินค้าจะเกิดขึ้นและส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการส่งออกของสหราชอาณาจักร

 

ข้อดีของการเลือกทำ FTA กับสหภาพยุโรปแบบเดียวกับแคนาดา คือ สหราชอาณาจักรจะสามารถทำการค้าขายกับประเทศอื่นนอกเหนือจากสหภาพยุโรปด้วยกฎเกณฑ์ของตนเอง เช่น สามารถทำ FTA กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศในอาเซียนได้อิสระโดยไม่ต้องพึ่งสหภาพยุโรป และยังไม่ถูกกีดกันด้วยอุปสรรคทางการค้ากับสหภาพยุโรปมากเท่ากรณีไม่มี FTA กับสหภาพยุโรป

 

3) การออกโดยไม่มีความตกลงกับสหภาพยุโรป

ตัวเลือกที่จะส่งผลเสียต่อสหราชอาณาจักรมากที่สุด คือ การแยกตัวจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีความตกลงทางการค้าเสรีที่จะมาทดแทนตลาดร่วมสหภาพยุโรปและสหภาพศุลกากร ซึ่งจะทำให้สหราชอาณาจักรต้องทำการค้าขายกับประเทศในสหภาพยุโรปตามกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก (WTO) ซึ่งหมายความว่าสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างทั้งสองฝ่ายจะถูกเรียกเก็บภาษีและต้องผ่านการตรวจสอบและควบคุมสินค้าที่ยุ่งยาก การค้าขายระหว่างทั้งสองฝ่ายจึงมีแนวโน้มที่จะลดลงหากเทียบกับการมีสหราชอาณาจักรอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป

 

 ทางรัฐบาลสหราชอาณาจักรคาดว่ามูลค่าผลผลิตของแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจ (Gross Value Added: GVA)3 หากออกจากสหภาพยุโรปโดยไม่มีความตกลงทางการค้าจะลดลงโดยเฉลี่ยเกือบ 8%4 เทียบกับกรณีที่ไม่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปภายในปี 2020 และวิเคราะห์ว่าโดยรวมแล้วสหราชอาณาจักรจะเสียหายมากกว่าสหภาพยุโรป เนื่องจากสหราชอาณาจักรต้องพึ่งพาด้านการค้ากับสหภาพยุโรปมากกว่าที่สหภาพยุโรปพึ่งพาจากสหราชอาณาจักร และสำหรับสหภาพยุโรป ประเทศที่รับผลเสียมากที่สุด คือ ประเทศที่มีสหราชอาณาจักรเป็นคู่ค้ารายสำคัญ ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศ เช่น ไอร์แลนด์ และ ลักเซมเบิร์ก แต่ประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปไม่ได้พึ่งพาการค้ากับสหราชอาณาจักรในสัดส่วนที่สูง ผลกระทบโดยรวมจึงไม่รุนแรงเท่ากับกรณีที่สหราชอาณาจักรต้องเผชิญ

 

จากความตกลง 3 รูปแบบข้างต้น อีไอซีมองว่าลักษณะรูปแบบความตกลงแคนาดามีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่สุด เพราะทั้งสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปต่างรู้ว่าการไม่มีความตกลงทางการค้าใดๆ จะส่งผลกระทบต่อทุกฝ่าย ทว่าอุปสรรคเดียวที่ยังทำให้ทั้งสองฝ่ายตกลงกันไม่ได้ คือ สหราชอาณาจักรต้องการความตกลงที่พิเศษกว่าประเทศอื่น เช่น ต้องการคงการค้าเสรีด้านสินค้ากับสหภาพยุโรป แต่ก็อยากลดอุปสรรคการค้าภาคบริการในธุรกิจการเงินด้วย ซึ่งทางสหภาพยุโรปกลัวว่าการให้สิทธิพิเศษกับสหราชอาณาจักรนี้จะทำให้ประเทศอื่นในสหภาพยุโรปเอาเป็นแบบอย่างได้ในภายหลัง

 

ปัจจุบัน เราจะเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นภายในสหราชอาณาจักรภายใต้ความไม่แน่นอนของข้อตกลง Brexit โดยสถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มย้ายงานบางส่วนออกจากอังกฤษไปที่สำนักงานในยุโรปแทน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป ทำให้ตำแหน่งงานธุรกิจการเงินในสหราชอาณาจักรอาจจะหายไปราว 5,000 ตำแหน่ง5 และอาจส่งผลให้กรุงลอนดอนสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลกได้ในระยะยาว

 

Brexit จะมีผลกระทบต่อไทยในอนาคตอย่างไร?

 

ผลกระทบโดยตรงของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยนั้นค่อนข้างจำกัด เนื่องจากมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหราชอาณาจักรมีสัดส่วนเพียง 1.5% ของการส่งออกไทยทั้งหมด6 แต่ที่น่าสนใจคือ ไทยมีโอกาสทำ FTA กับสหราชอาณาจักรได้โดยตรง ตั้งแต่ช่วงปีหน้าหลังสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ

 

การจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-UK Business Leadership Council) เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2016 และการพบปะหารือระหว่างรัฐบาลไทยและนางเทเรซา เมย์ ในเดือนกรกฎาคมปีนี้ ณ กรุงลอนดอน แสดงให้เห็นถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายในการขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนร่วมกัน และได้เปิดช่องทางสำหรับการเจรจา FTA ระหว่างทั้งสองประเทศในอนาคตหลัง Brexit ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีอย่างยิ่งสำหรับไทยที่จะสร้างพันธมิตรทางการค้ากับหนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลก

 

ในขณะที่สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปกำลังวุ่นวายกับทั้งตัวเลือกและผลกระทบของ Brexit ไทยควรมองวิกฤตินี้เป็นโอกาสทองสำหรับการเพิ่มพันธมิตรทางการค้ารายสำคัญ และต่อยอดความสัมพันธ์ที่มีกับสหราชอาณาจักรเพื่อทำให้การเจรจาด้านความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนที่แนบแน่นนี้มีโอกาสเติบโตยิ่งขึ้นในอนาคต อีไอซีมองว่าไทยควรพิจารณาทำข้อตกลงที่จะช่วยลดความเข้มงวดของมาตรการด้านสุขอนามัยสินค้าอาหาร ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกอาหารไทยไปสหราชอาณาจักร รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมบริการและเทคโนโลยีในไทย ซึ่งเป็นภาคที่สหราชอาณาจักรให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยข้อตกลงดังกล่าวน่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคบริการของไทย ทั้งยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรได้เป็นอย่างดีในระยะต่อไป



1 EEA คือ เขตเศรษฐกิจยุโรปที่เป็นผลจากข้อตกลงระหว่างรัฐสมาชิกของ EFTA (European Free Trade Association) 3 ประเทศไม่รวมสวิตเซอร์แลนด์ และ สหภาพยุโรป 28 ประเทศ (รวมสหราชอาณาจักร) ทำให้ประเทศสมาชิกของ EFTA 3 ประเทศสามารถเข้าร่วมตลาดร่วมสหภาพยุโรปได้ ปัจจุบันมีสมาชิก 31 ประเทศ
2 EU Customs Union คือ สหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรปประกอบด้วยประเทศสมาชิก 28 ประเทศ (รวมสหราชอาณาจักร) และ 4 ประเทศที่มีข้อตกลงทวิภาคี ได้แก่ โมนาโก ซานมารีโน อันดอร์รา ตุรกี
3 Gross Value Added หรือ มูลค่าเพิ่มรวมเป็นตัวชี้วัดด้านการผลิตที่วัดการมีส่วนร่วมในระบบเศรษฐกิจภาคการผลิต 
4 House of Commons Exiting the European Union Committee (2018), “EU Exit Analysis Cross Whitehall Briefing”
5 Andrew MacAskill, Carolyn Cohn and Simon Jessop, “5,000 UK finance jobs may be moved by Brexit, half earlier forecast”, Reuters, 28 March 2018
6 ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์, 2017

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ