SHARE
SCB EIC ARTICLE
12 กันยายน 2018

ทิศทางการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในไทย

จากครั้งก่อนที่ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่กำหนดการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก โดยพบว่า ปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้หลายประเทศ เช่น ประเทศในยุโรป สหรัฐฯ หรือจีนมีสัดส่วนยอดขายรถไฟฟ้าในระดับสู

ผู้เขียน: ดร. ยรรยง ไทยเจริญ

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 กันยายน 2018

 

iStock-539208137.jpg

 

จากครั้งก่อนที่ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่กำหนดการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก โดยพบว่า ปัจจัยสนับสนุนหลักที่ทำให้หลายประเทศ เช่น ประเทศในยุโรป สหรัฐฯ หรือจีนมีสัดส่วนยอดขายรถไฟฟ้าในระดับสูง ได้แก่ นโยบายสนับสนุนของภาครัฐ และความพร้อมด้านสถานีชาร์จ แต่อุปสรรคสำคัญยังเป็นต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายใน ในบทความนี้ผมจะวิเคราะห์กรณีของไทย โดยอีไอซีได้ทำการวิเคราะห์ทิศทางการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ และประเมินว่า สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะอยู่ประมาณ 1% ของยอดขายรถใหม่ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดรถโลกที่ประมาณ 2.5% ในปัจจุบัน เนื่องจากราคารถยนต์ไฟฟ้าทั้งที่ประกอบในไทยและนำเข้า (หลังเสียภาษีนำเข้า) ยังจะมีราคาสูงกว่ารถยนต์สันดาปภายในในรุ่นที่ใกล้เคียงกันอยู่มากพอสมควร และส่วนใหญ่จะมีราคาสูงกว่ากำลังซื้อของผู้ซื้อรถส่วนใหญ่ในไทย  ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจึงยังมีแนวโน้มจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อสูงที่ให้ความสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยหรือการรักษาสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ผลการสำรวจผู้บริโภคที่สนใจจะซื้อรถใน 3 ปีข้างหน้าโดยอีไอซี พบว่า ผู้บริโภคกว่า 60% มองว่ารถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้มีประสิทธิภาพดีกว่ารถยนต์สันดาปภายใน รวมทั้งระบุความกังวลต่อความเพียงพอของจำนวนสถานีชาร์จเป็นหนึ่งในปัจจัยลบสำคัญต่อการเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าในช่วงนี้

 

สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจึงน่าจะปรับตัวขึ้นอย่างช้าๆ จนถึงช่วงปี 2028 – 2030 ซึ่งเป็นช่วงที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ราคาและประสิทธิภาพของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกจะเริ่มแข่งขันได้กับรถยนต์สันดาปภายในโดยไม่ต้องพึ่งพามาตรการจูงใจจากภาครัฐ ซึ่งจะเป็นจุดเปลี่ยน (turning point) ที่จะเห็นสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 2-3% ในช่วงนั้น และหลังจากนั้นจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษถัดไปมาอยู่ที่ 15% ในปี 2040 โดยเป็นผลจากสมมติฐานแนวโน้มการพัฒนาประสิทธิภาพของแบตเตอรี่และเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ในรูป Mass production ในต่างประเทศซึ่งจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเข้ามาในไทย (technology transfer) รวมทั้งการยอมรับของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นผ่านผลของ network effect จากจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าและจำนวนสถานีชาร์จที่มีมากขึ้น อย่างไรก็ดี รถยนต์สันดาปภายในยังจะเป็นสัดส่วนใหญ่ของรถยนต์ใหม่ในประเทศในระยะ 2 ทศวรรษข้างหน้า เนื่องจากประสิทธิภาพของเครื่องยนต์สันดาปภายในมีแนวโน้มที่จะพัฒนาดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน รวมทั้งความต้องการของผู้บริโภคสำหรับรถที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ เช่น รถกระบะและรถ SUV ซึ่งยังมีแนวโน้มว่าจะใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในอยู่

 

การประมาณการข้างต้นเป็นกรณีฐานที่อีไอซีคาดว่าน่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุดจากสภาพแวดล้อมและแนวโน้มในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี สัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอาจมาเร็วและสูงกว่ากรณีฐาน หากมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เร็วกว่าคาด หรือการให้แรงจูงใจจากภาครัฐทั้งการให้เงินอุดหนุนและการลดภาษีซึ่งจะทำให้จุดคุ้มทุนของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดได้เร็วขึ้น   ในทางกลับกัน หากราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำหรือ technology transfer ล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ ก็จะส่งผลให้สัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตช้ากว่ากรณีฐานได้

 

แม้รถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะ 5 ปีข้างหน้า แต่จะส่งผลกระทบสำคัญต่อหลายอุตสาหกรรมของไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ ผลกระทบหลักจะเกิดผ่านความต้องการของชิ้นส่วนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในสำหรับตลาดส่งออกที่จะชะลอลง ซึ่งจะส่งผลให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตรุนแรงขึ้น ด้านธุรกิจพลังงาน ความต้องการใช้น้ำมันสำหรับการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมีแนวโน้มชะลอลง จากทั้งการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ไฟฟ้า และจากการเพิ่มประสิทธิภาพของรถยนต์สันดาปภายใน ขณะเดียวกันก็จะสร้างความท้าทายในการบริหารจัดการกับระบบผลิตและการจ่ายไฟฟ้าของประเทศจากอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น    

 

ในภาพรวม การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นทั้งโอกาสในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้รถยนต์สันดาปภายใน  และความท้าทายที่ต้องบริหารจัดการกับผลกระทบต่างๆที่จะเกิดขึ้นในวงกว้าง  ดังนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนควรประสานงานในการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายระยะยาว ตลอดจนร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในด้านการออกนโยบายและกฎระเบียบ รวมทั้งการลงทุนใน R&D และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ