SHARE
SCB EIC ARTICLE
10 กันยายน 2018

ส่องโอกาสและความท้าทายของธุรกิจค้าปลีกใน EEC

ธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถคว้าโอกาสจากโครงการ EEC การขยายตัวของการผลิตและภาคบริการจะผลักดันให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น

ผู้เขียน: ปราณิดา ศยามานนท์

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ 10 กันยายน 2018 คอลัมน์ Smart EEC

iStock-838816102.jpg

 

ธุรกิจค้าปลีกเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่สามารถคว้าโอกาสจากโครงการ EEC การขยายตัวของการผลิตและภาคบริการจะผลักดันให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการ EEC คาดว่าความต้องการแรงงานใน EEC จะเพิ่มขึ้นราว 1.5 แสนคนต่อปีในช่วงปี 2560-66 จากปัจจุบันที่มีการจ้างงานในพื้นที่ประมาณ 2 ล้านคนซึ่งจะเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจค้าปลีกเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์จังหวัด (GPP) ภาคค้าปลีกของ 3 จังหวัดในบริเวณ EEC ยังเติบโตดีต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2554-2559 ขยายตัวเฉลี่ยที่ราว 4% สูงกว่าการเติบโตของ GDP ภาคค้าปลีกของทั้งประเทศ นอกจากนี้ ผังเมืองรวม EEC ที่จะมีความยืดหยุ่นในการใช้ที่ดินที่เอื้อต่อการลงทุน ที่อยู่อาศัย และพาณิชยกรรมมากขึ้น อาทิ ชุมชนเกิดใหม่บริเวณสถานีรถไฟความเร็วสูงที่สามารถกำหนดการใช้ประโยชน์รองรับเชิงพาณิชย์หรือพื้นที่สีแดง จะเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเช่นไฮเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้าได้มากขึ้น

 

นอกจากการขยายตัวของแรงงานในประเทศแล้ว ธุรกิจค้าปลีกจะมีโอกาสมากขึ้นจากการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีอยู่ราว 1.9 แสนคน ทั้งนี้ การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ประกอบกับการให้สิทธิประโยชน์ตามมาตรการสมาร์ทวีซ่าคาดว่าจะช่วยดึงดูดให้แรงงานต่างชาติที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเป้าหมายของธุรกิจค้าปลีกเนื่องจากมีรายได้สูง นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวจะเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกที่เจาะตลาดกลางถึงบนได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ดเป็นท่าเรือเชิงพาณิชย์รองรับเรือเฟอร์รี่และเรือสำราญขนาดใหญ่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม luxury tourist ขณะที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน พัทยา-หัวหิน-กรุงเทพจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวมายัง EEC มากขึ้นจากปัจจุบันที่ตลาดนักท่องเที่ยวในชลบุรีและระยองมีจำนวนราว 9.7 ล้านทริปต่อปี นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวไม่เพียงใช้จ่ายด้านที่พัก การเดินทางและอาหารเครื่องดื่มเท่านั้น แต่การใช้จ่ายซื้อสินค้าทั่วไปยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเติบโตถึงราว 7% ต่อปีในช่วงปี 2554-59 ซึ่งจะเป็นโอกาสของร้านค้าปลีกทั้ง grocery และหมวด non-grocery ที่มีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น อาทิ สินค้าไลฟ์สไตล์ และแฟชั่น ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวที่เติบโตดีจะมาพร้อมกับการลงทุนขยายโรงแรมซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มค้าปลีกที่เน้นเจาะตลาด โรงแรมและร้านอาหารมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง

 

แม้ว่า EEC เป็นโอกาสสำหรับการขยายสาขาร้านค้าปลีก แต่การเข้ามาลงทุนในอีคอมเมิร์ซของ Alibaba ในโครงการ Smart Digital Hub มูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาทด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ศูนย์กระจายสินค้า และการขนส่ง ทำให้ต้องจับตามองถึงผลกระทบในด้านต่างๆ เนื่องจาก Alibaba มีบริการที่ครบวงจรทั้งโลจิสติกส์และการชำระเงินซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในส่วนของหน้าร้าน แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ส่วนใหญ่ปรับตัวสู่ Omni channel โดยพัฒนาช่องทางออนไลน์ควบคู่กับหน้าร้านกันอยู่แล้ว นอกจากนี้ Smart Digital Hub จะผลักดันให้ผู้ประกอบการเร่งปรับตัวและอาศัยความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานขยายตลาดไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนและภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs เองก็คงต้องเริ่มปรับตัว โดยอาศัยแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ในการขายสินค้า อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดไปต่างประเทศ ดังนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกไทยทั้งรายใหญ่และรายเล็กจึงสามารถพิจารณาโอกาสในการลงทุนในพื้นที่ EEC ที่หลากหลายให้เหมาะสมกับศักยภาพของธุรกิจของตนเองได้

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ