SHARE
SCB EIC ARTICLE
29 สิงหาคม 2018

Iran deal ข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน: นัยต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์และราคาน้ำมันโลก

ข้อตกลงนิวเคลียร์หรือข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (The Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) เป็นข้อตกลงระหว่างอิหร่าน และ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)[1] ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ บวกเยอรมนี หรือที่รู้จักกันในกลุ่ม P5+1 และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ภายใต้ข้อตกลงนี้ อิหร่านจะจำกัดปริมาณการสะสมและการผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะซึ่งเป็นธาตุยูเรเนียมชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวมถึงใช้ในอาวุธนิวเคลียร์ เป็นเวลา 15 ปี เพื่อแลกกับการที่ทางสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้ต่ออิหร่านก่อนหน้านี้ โดยมีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)[2] ทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์

ผู้เขียน: ธตรฐ จีรัญพงษ์

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนสิงหาคม 2018

iStock-951304398.jpg

 

 

“US President Donald Trump has fulfilled an election campaign promise to pull out of the landmark 2015 nuclear deal agreed between Iran and world powers, an agreement former Secretary of State John Kerry said “made the world a safer place.”

 

ที่มา: Independent, 9 พฤษภาคม 2018

 

 

ข้อตกลงนิวเคลียร์คืออะไรและเหตุใดที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัว?

ข้อตกลงนิวเคลียร์หรือข้อตกลงร่วมว่าด้วยแผนปฏิบัติการครอบคลุม (The Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA)  เป็นข้อตกลงระหว่างอิหร่าน และ 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC)[1] ได้แก่ จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ บวกเยอรมนี หรือที่รู้จักกันในกลุ่ม P5+1 และสหภาพยุโรป เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2015 ภายใต้ข้อตกลงนี้ อิหร่านจะจำกัดปริมาณการสะสมและการผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะซึ่งเป็นธาตุยูเรเนียมชนิดหนึ่งที่สามารถเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์รวมถึงใช้ในอาวุธนิวเคลียร์ เป็นเวลา 15 ปี เพื่อแลกกับการที่ทางสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ ยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรที่ใช้ต่ออิหร่านก่อนหน้านี้ โดยมีทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)[2] ทำหน้าที่เฝ้าสังเกตการณ์

 

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศนำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2018
ที่ผ่านมา หลังจากที่ส่งสัญญาณเป็นนัยมาอย่างต่อเนื่อง และมองว่าข้อตกลงนิวเคลียร์นี้มีโครงสร้างที่บกพร่อง
ซึ่งทรัมป์ต้องการที่จะให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องหลายจุด เช่น ต้องการที่จะจำกัดโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของอิหร่านอย่างถาวร ควบคุมโครงการพัฒนาขีปนาวุธ และจัดการอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง เป็นต้น นอกจากนี้ ทางการสหรัฐฯ ประกาศจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดและรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์กับอิหร่าน และจะคว่ำบาตรต่อชาติที่ช่วยเหลือและทำการค้ากับอิหร่านอีกด้วย

 

สถานะข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปัจจุบันเป็นเช่นไรและมีนัยอย่างไรต่อประเด็นภูมิรัฐศาสตร์

 

การประกาศถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงนิวเคลียร์ทำให้เกิดปฏิกิริยาด้านลบจากทั่วโลกต่อการตัดสินใจของทรัมป์ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปได้กล่าวโจมตีสหรัฐฯ ว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรับประกันความปลอดภัยในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศสรวมพลังประกาศสนับสนุนข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านต่อไป ถึงแม้สหรัฐฯ จะถอนตัวไปแล้วก็ตาม และจะหารือร่วมกับทางจีนและรัสเซียเพื่อเดินหน้าควบคุมแผนการนิวเคลียร์อิหร่านให้อยู่ในข้อตกลงต่อไป รวมถึงสหภาพยุโรปได้ประกาศจะยึดมั่นในข้อตกลงนี้ต่อไปถ้าอิหร่านยังคงทำตามคำมั่นสัญญา อย่างไรก็ตาม ประเทศที่เป็นคู่แข่งของอิหร่านอย่างอิสราเอลและซาอุดีอาระเบียต่างออกมาแสดงความยินดีและสนับสนุนการตัดสินใจของทรัมป์

 

การตัดสินใจของทรัมป์ในครั้งนี้ทำให้อิหร่านได้ต่อว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ ไร้ความชอบธรรม และบ่อนทำลายข้อตกลงระหว่างประเทศ เพราะทำให้อิหร่านไม่สามารถร่วมเจรจาใดๆ กับสหรัฐฯ ได้อีก รวมถึงไม่สามารถจะเปิดประเทศต่อโลกตะวันตกได้เท่าเดิม โดยที่ทางการอิหร่านได้ปฏิเสธคำกล่าวหาของสหรัฐฯ มาโดยตลอดว่ากำลังพัฒนานิวเคลียร์ ทางด้านผู้ตรวจสอบของสหประชาชาติกล่าวว่าอิหร่านไม่ได้ทำผิดข้อตกลงอย่างที่สหรัฐฯ กล่าวหาเพราะได้มีการตรวจสอบและเฝ้าระวังจาก IAEA ทั้งนี้ อิหร่านได้ประกาศว่าจะยังคงปฏิบัติตามข้อตกลงแม้ว่าสหรัฐฯ ถอนตัวไป โดยได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเจรจาเงื่อนไขกับสหภาพยุโรป จีน และรัสเซีย โดยหากสามารถบรรลุเงื่อนไขความร่วมมือกันได้ ข้อตกลงจะยังคงอยู่ แต่เงื่อนไขเหล่านี้เรียกร้องให้ชาติยุโรปปกป้องการซื้อขายน้ำมันของอิหร่าน รวมถึงปกป้องการค้าของอิหร่านจากมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ทำให้สถานการณ์การเจรจาปัจจุบันนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างไร หากชาติภาคีไม่สามารถทำตามเงื่อนไขดังกล่าวได้ ทางการอิหร่านจะเริ่มกระบวนการผลิตยูเรเนียมเสริมสมรรถนะเพื่อเข้าสู่การผลิตอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง

           

ความกังวลในเรื่องผลกระทบหลังจากสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์และมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านจะยังคงมีต่อไป และหากอิหร่านไม่สามารถบรรลุเงื่อนไขกับชาติภาคีได้ก็อาจจะทำให้ข้อตกลงนิวเคลียร์ล่มสลายลง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสันติภาพและประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกใน 3 ด้าน ได้แก่

            หนึ่ง ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปซึ่งเป็นเสาหลักของโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จะอ่อนแอลง เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีของทรัมป์และผู้นำสหภาพยุโรปในเรื่องการค้าในขณะนี้ ประกอบกับการที่ทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อาจยิ่งทำให้ความไม่ลงรอยของผู้นำทั้งสองฝั่งเพิ่มขึ้น

            สอง ความมั่นคงและความปลอดภัยในตะวันออกกลางจะอ่อนแอลง ภูมิภาคจะมีความระส่ำระส่ายมากขึ้นจากความเสี่ยงที่จะเกิดสงคราม เนื่องจากสหรัฐฯ สนับสนุนชาติคู่แข่งของอิหร่านอย่างอิสราเอลและซาอุดีอาระเบีย ที่มีความบาดหมางมาอย่างต่อเนื่องทำให้เสถียรภาพทางการเมืองในตะวันออกกลางมีแนวโน้มแย่ลงได้

            สาม อาวุธนิวเคลียร์จะถูกนำมาใช้ในการทำสงครามได้ง่ายขึ้น เนื่องจากเมื่อข้อตกลงนิวเคลียร์ล่มสลายลงจะทำให้อิหร่านสามารถเพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มกำลังเพื่อใช้ในการสงคราม ทำให้ความเสี่ยงสงครามนิวเคลียร์เพิ่มมากขึ้นหากเกิดความขัดแย้งในภูมิภาคในอนาคต

 

นัยจากมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ต่อราคาน้ำมันดิบโลก

การถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์และมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นในช่วงไตรมาสสอง และยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งหลังของปี ร่วมกับปัจจัยวิกฤติการเมืองในเวเนซุเอลา เนื่องจากอุปทานน้ำมันดิบโลกบางส่วนหายไปจากปริมาณการส่งออกน้ำมันที่ลดลงของอิหร่านที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโอเปก[3]และอันดับ 5 ของโลก ทั้งนี้ ผลกระทบต่อตลาดน้ำมันดิบโลกจะยิ่งชัดเจนหากสหรัฐฯ ประกาศมาตรการคว่ำบาตรขั้นรุนแรงหรือเต็มรูปแบบ โดยมีเส้นตายสำหรับเหตุการณ์สำคัญในช่วงที่เหลือของปีอีก 2 ช่วง ได้แก่ 1) เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2018 สหรัฐฯจะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้งทางภาคยานยนต์ การค้าทองคำและโลหะมีค่า และการซื้อสินทรัพย์สหรัฐฯ เช่น ธนบัตร โดยรัฐบาลอิหร่าน เป็นต้น และ 2) ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2018 สหรัฐฯ จะกลับมาคว่ำบาตรในภาคพลังงาน การทำธุรกรรมเกี่ยวกับปิโตรเลียม และการบริการจัดจำหน่ายประกันของอิหร่าน เป็นต้น รวมถึงบทลงโทษทางการเงินกับประเทศที่ทำการค้าขายน้ำมันกับอิหร่านหลังจากนี้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าสหรัฐฯ อาจจะยังไม่เร่งดำเนินมาตรการคว่ำบาตรกับอิหร่านอย่างสูงสุดที่จะทำให้อุปทานน้ำมันดิบและการส่งออกน้ำมันของอิหร่านลดลงอย่างถาวรในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เนื่องจากจะทำให้ราคาน้ำมันดิบถีบตัวสูงขึ้นจนมีแนวโน้มไปแตะที่ระดับมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล[4] ได้หากเกิดภาวะอุปทานตึงตัวมากๆ โดยยังไม่มีอุปทานน้ำมันดิบจากประเทศอื่นมาอุดช่องว่างนี้ได้เพียงพอ ทำให้ประชาชนและเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งในวันที่ 6 พฤศจิกายนนั้นจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะมีแนวโน้มผ่อนท่าทีการคว่ำบาตรออกไปก่อนเพื่อเลี่ยงผลลบอันไม่พึงประสงค์จากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงเกิดคาดจากปัญหาการขาดแคลนอุปทานน้ำมันดิบ

 

นัยต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบโลกและเศรษฐกิจไทย 

ทิศทางในอนาคตของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านนั้นจะยังเป็นที่จับตาจากนักลงทุน ผู้ประกอบการ และธุรกิจต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมัน โดยมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านขั้นรุนแรงหลังทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์จะทราบข้อสรุปที่แน่ชัดในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ในท้ายที่สุดนั้น ถ้าข้อตกลงนิวเคลียร์ยังอยู่ อีไอซีมองว่าราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ราว 70 – 80 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากจะช่วยลดความเสี่ยงด้าน supply shock จากปัจจัยข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านลงได้ แต่หากข้อตกลงนิวเคลียร์ล่มสลายลง เสถียรภาพในตะวันออกกลางด้านภูมิรัฐศาสตร์จะมีแนวโน้มแย่ลง และเป็นปัจจัยผลักดันให้ราคาน้ำมันอาจถีบตัวสูงขึ้นได้ ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงที่อิหร่านจะถูกสหประชาชาติคว่ำบาตรอีกครั้งหากกลับลำหันมาเริ่มผลิตและพัฒนานิวเคลียร์เพื่อต่อต้าน ดังนั้น ปัจจัยความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านหลังจากนี้จะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการเมืองในตะวันออกกลางในระยะถัดไป รวมถึงเพิ่มความผันผวนต่อการคาดการณ์อุปทานและราคาน้ำมันดิบโลกในช่วงที่เหลือของปีได้

 

สำหรับนัยต่อเศรษฐกิจไทย อีไอซีมองว่าการนำเข้าน้ำมันจะไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรอิหร่านนี้โดยตรงเพราะไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน แต่นำเข้าน้ำมันจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซาอุดีอาระเบีย และมาเลเซียเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจไทยจะยังได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันในครั้งนี้ โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์ คือ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันและการส่งออกของไทย สำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันต้นน้ำอย่างบริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันและผลิตปิโตรเคมีจะมีรายได้สูงขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ในด้านการส่งออก ระดับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะสนับสนุนการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยจากปัจจัยด้านราคา อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนั้นจะส่งผลลบต่อผู้ประกอบการที่มีค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมันเป็นต้นทุนหลัก เช่น ธุรกิจสายการบิน ขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งจะได้รับผลกระทบด้านลบในระยะสั้น เพราะต้องแบกรับภาระต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น รวมถึงภาคครัวเรือนและผู้ใช้รถจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขายปลีกที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี การที่ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปี 2016 จนถึงปัจจุบัน จากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์น้ำมันโลกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ระดับน้ำมันคงคลังของ OECD ที่ลดลง ปัญหาคอขวดของท่อส่งน้ำมันในสหรัฐฯ รวมทั้งปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะวิกฤตการเมืองในเวเนซุเอลา และข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านในขณะนี้ จะส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องจากการส่งออกที่ดีตามการเติบโตเศรษฐกิจโลก นอกจากนั้น ภาครัฐไทยได้มีมาตรการช่วยดูแลการปรับขึ้นราคาพลังงานให้เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไปผ่านกองทุนน้ำมันและดูแลราคาสินค้าทั่วไปให้ปรับขึ้นอย่างเหมาะสม ตลอดจนมาตรการลดค่าใช้จ่ายผ่านโครงการสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อย โดยจะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ผ่านมา แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะสูงขึ้นอย่างมาก แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคต่างๆ นั้นมีการปรับตัวขึ้นไม่มากนัก ซึ่งนอกจากมาตรการของภาครัฐแล้ว ฐานภาษีน้ำมันขายปลีกและแนวโน้มค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยที่แข็งขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็มีส่วนที่ทำให้อัตราส่วนการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงงานในประเทศไม่สูงมากนักด้วย  อย่างไรก็ดี ยังต้องจับตาพัฒนาการความเสี่ยงจากการตัดสินใจคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นอย่างมากจนสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่องเป็นเวลานานได้ และอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและไทยในระยะต่อไปได้ 

 

graph_iran_deal.png


[1] คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เป็นหนึ่งใน 6 เสาหลักของสหประชาชาติ ที่มีอำนาจในการเรียกระดมพลจากรัฐสมาชิกในสหประชาชาติเพื่อจัดตั้งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าไปปฏิบัติหน้าที่รักษาสันติภาพในประเทศและสงครามต่าง ๆ และยังมีอำนาจในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อประเทศต่าง ๆ
[2] ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในทางสันติ และห้ามใช้สำหรับทางการทหารทั้งปวง ซึ่งรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์
[3] โอเปก (OPEC) คือกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและเป็นองค์กรนานาชาติที่จัดตั้งขึ้นเพื่อความร่วมมือทางด้านนโยบายน้ำมัน
[4] จากข้อมูลของ Bank of America “Oil is now a game of chicken”, 5 กรกฎาคม 2018 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ