SHARE
SCB EIC ARTICLE
15 สิงหาคม 2018

ปัจจัยกำหนดการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศต่างๆ

ในปี 2017 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกทะลุ 1 ล้านคันเป็นปีแรก อย่างไรก็ดี 90% ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากระจุกตัวอยู่เพียง 10 ประเทศเท่านั้น โดยจีน สหรัฐฯและญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านปริมาณรถยนต์ที่ใช้ในท้องถนน ขณะที่นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ และสวีเดนเป็นผู้นำด้านสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับยอดขายรถยนต์รวม เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศเหล่านี้เป็นผู้นำในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และเราสามารถหาบทเรียนอะไรจากการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศได้บ้าง

ผู้เขียน: ดร. ยรรยง ไทยเจริญ

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 สิงหาคม 2018

 

iStock-954558336.jpg

 

 

ในปี 2017 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกทะลุ 1 ล้านคันเป็นปีแรก อย่างไรก็ดี 90% ของตลาดรถยนต์ไฟฟ้ากระจุกตัวอยู่เพียง 10 ประเทศเท่านั้น โดยจีน สหรัฐฯและญี่ปุ่นเป็นผู้นำด้านปริมาณรถยนต์ที่ใช้ในท้องถนน ขณะที่นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ และสวีเดนเป็นผู้นำด้านสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเทียบกับยอดขายรถยนต์รวม เป็นที่น่าสนใจว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศเหล่านี้เป็นผู้นำในการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และเราสามารถหาบทเรียนอะไรจากการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าในต่างประเทศได้บ้าง

 

จากประสบการณ์ต่างประเทศ พบว่า มีเงื่อนไขหลักอยู่ 2 ด้าน ได้แก่ วิสัยทัศน์ร่วมที่ชัดเจนและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ในส่วนแรกนั้น ประเทศที่สำเร็จในการผลักดันตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมีแรงบันดาลใจร่วมที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความมั่นคงทางพลังงาน หรือด้านความเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งนำไปสู่การมีวิสัยทัศน์ร่วมของสังคมและเป้าหมายระยะยาวที่ชัดเจน ซึ่งช่วยสร้างความร่วมมือและความมั่นใจของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนในการผลักดันการการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น นอร์เวย์ที่มีสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก เริ่มจากวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนนำไปสู่การประกาศเป้าหมายสัดส่วนรถยนต์ที่ขายใหม่ต้องมีการปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ (zero emission) ภายในปี 2025 หรือจีนที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุดในโลก เพื่อลดปัญหามลพิษคู่กับเป้าหมายการเป็นผู้นำการผลิต โดยได้ตั้งเป้าหมายให้มียอดขายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงสะอาดจำนวน 7 ล้านคันภายในปี 2025

 

สำหรับสภาพแวดล้อมของตลาดที่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าประกอบด้วยความพร้อมอย่างน้อย 3 ด้าน

ด้านแรกคือ ความพร้อมด้านแรงจูงใจ ซึ่งมีทั้งมาตรการด้านราคา (เงินอุดหนุนและภาษี) และมาตรการด้านการควบคุมปริมาณ ในส่วนของต้นทุนการซื้อที่ยังสูงอยู่ซึ่งผู้บริโภคระบุว่าเป็นอุปสรรคหลักต่อการตัดสินใจใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ในหลายประเทศ ได้นำนโยบายเงินอุดหนุนและภาษีมาใช้ เช่น  อังกฤษให้เงินสนับสนุนการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดถึง 4,500 ปอนด์ และเนเธอร์แลนด์ยกเว้นภาษีการซื้อรถยนต์และภาษีประจำปีให้แก่รถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งในบางประเทศ เช่น นอรเวย์และจีนที่นำมาตรการลดต้นทุนการใช้งานจริง เช่น ยกเว้นค่าทางด่วน และค่าจอดรถ นอกจากนี้ กรอบนโยบายราคาพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงซึ่งรวมถึงต้นทุนด้านมลพิษ สิ่งแวดล้อม และความเสี่ยงจากการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศก็มีส่วนช่วยการใช้รถยนต์ไฟฟ้าโดยไม่เป็นภาระด้านการคลังของภาครัฐ ขณะที่บางประเทศได้ออกมาตรการควบคุมปริมาณการใช้รถยนต์สันดาปภายใน เช่น จีนจำกัดการจดทะเบียนและจำกัดวันขับของรถยนต์สันดาปภายในในพื้นที่ 6 เมืองใหญ่ผลักดันให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองเหล่านี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ 2 – 4 เท่า

 

ด้านที่สอง ความพร้อมด้านสถานีชาร์จ เนื่องจากจำนวนสถานีชาร์จสาธารณะที่เพียงพอเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะในเมืองที่ที่จอดรถส่วนตัวมีจำกัด โดยพบว่าการขยายความครอบคลุมของสถานีชาร์จมีอยู่ 2 แนวทาง ได้แก่ 1) การให้เอกชนเป็นผู้นำในการลงทุน โดยรัฐบาลมุ่งเน้นการสร้างความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนถึงทิศทางนโยบายโดยรวม เช่น นอร์เวย์ที่สามารถจูงใจให้บริษัท Tesla ลงทุนขยายเครือข่ายสถานีชาร์จในนอร์เวย์เป็นประเทศแรกในยุโรปจากการสร้างแรงจูงใจทางการเงินที่ทำให้ความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้นเร็วที่สุดในยุโรป และ 2) การกำหนดเป้าหมายการสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จและการลงทุนที่นำโดยรัฐบาลและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ในกรณีจีนซึ่งภาครัฐได้กำหนดเป้าหมายจำนวนหัวชาร์จและรัศมีการให้บริการสถานีชาร์จตามความหนาแน่นของรถยนต์ไฟฟ้าในแต่ละเมืองของประเทศ

 

และด้านที่สาม ได้แก่ ความพร้อมด้านเทคโนโลยี ในมุมมองหนึ่ง หากประเทศมีอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองจะส่งเสริมความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภค เนื่องจากจะมีโมเดลรถยนต์ที่หลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความพร้อมด้านเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็นในการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า เห็นได้จากประเทศที่มีสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าสูงสุดในโลกคือ นอร์เวย์และเนเธอร์แลนด์ ต่างไม่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ของตนเอง ขณะที่ประเทศที่มีอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นของตนเองซึ่งต่างก็มีตลาดรถยนต์และอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ค่อนข้างใหญ่ ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องดำเนินนโยบายด้านการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าให้สมุดุลกับการดูแลไม่ให้อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเครื่องยนต์สันดาปภายในถูกกระทบจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมได้ จึงเห็นได้ว่ารัฐบาลในประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะจีนและเยอรมนีซึ่งแม้จะมีมาตรการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ามากมาย แต่ยังไม่มีการประกาศเป้าหมายกำหนดเวลาที่จะห้ามขายรถยนต์สันดาปภายในที่ชัดเจน

สำหรับครั้งหน้า จะหันกลับมาพิจารณาตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทยในอนาคตกันบ้าง ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรและปัจจัยใดจะเป็นตัวกำหนดการเติบโตบ้าง

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ