SHARE
IN FOCUS
07 สิงหาคม 2018

การเปลี่ยนแปลงของบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทย กับโอกาสของผู้ผลิตไทยในกระแสการเติบโต

ในปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยเริ่มมีการเติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (rigid plastic packaging) อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและวิถีชีวิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์พื้นฐาน เช่น ถุงหูหิ้ว หลอดพลาสติกที่มีแนวโน้มถูกใช้งานน้อยลงจากกระแสรักษ์โลกและการรณรงค์ของภาครัฐและภาคเอกชน

ผู้เขียน: ณัฐนันท์ อภินันท์วัฒนกูล

 

 iStock-690787172.jpg

 

 

การเปลี่ยนแปลงของบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยกับโอกาสของผู้ผลิตไทยในกระแสการเติบโต

  • ในปัจจุบันอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกไทยเริ่มมีการเติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบคงรูป (rigid plastic packaging) อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและวิถีชีวิต รวมถึงบรรจุภัณฑ์พื้นฐาน เช่น ถุงหูหิ้ว หลอดพลาสติกที่มีแนวโน้มถูกใช้งานน้อยลงจากกระแสรักษ์โลกและการรณรงค์ของภาครัฐและภาคเอกชน

     

  • อีไอซีมองว่าผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ควรปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลง โดยปรับลดสัดส่วนการลงทุนในบรรจุภัณฑ์ประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง และควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible packaging) ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมีกำไรขั้นต้นราว 20 % ในขณะที่กำไรขั้นต้นของพลาสติกแบบพื้นฐานมีกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 5-10% รวมถึงการนำนวัตกรรมมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น นวัตกรรมควบคุมความชื้นในบรรจุภัณฑ์ ควบคู่ไปกับการปรับกลยุทธ์การผลิตและออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือใช้เม็ด bio-plastic เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยมีแนวโน้มเติบโตช้าลง แม้ว่าที่ผ่านมาอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติกสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2008-2012  ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกมีอัตราการเติบโตถึง 7% ต่อปี และเริ่มชะลอตัวลงเหลือ 3% ต่อปี ในช่วงปี 2013-2017 โดยเมื่อศึกษาในสัดส่วนของบรรจุภัณฑ์พลาสติกแล้ว พบว่า ปริมาณการใช้พลาสติกคงรูป (rigid plastic pacakging) เริ่มมีอัตราการเติบโตของการบริโภคที่ลดลงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณดังกล่าวถูกแทนที่ด้วยพลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packaging)

 

 

รูปที่ 1: ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเริ่มมีอัตราการเติบโตที่ช้าลง

หน่วย: พันล้าน

 

 1.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Woodmac, สถาบันพลาสติก

 

 

การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้พลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packaging) มีความต้องการมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญได้แก่ 1) การเติบโตของความเป็นชุมชนเมือง และการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัว ทำให้ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 2) การขยายตัวของครัวเรือนขนาดเล็ก เนื่องจากจำนวนคนโสด และคู่สมรสที่ไม่มีบุตรมีจำนวนมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบรรจุภัณฑ์แบบเฉพาะหน่วย (individual packaging) มากขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะมีขนาดเล็กลงเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการบริโภคสินค้าของสมาชิกในครัวเรือน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง  และ 3) การเติบโตของสังคมผู้สูงอายุ รวมไปถึงกระแสความใส่ใจด้านสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค ทำให้มีความต้องการบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่รักษาความสดใหม่ สามารถยืดอายุสินค้าให้นานที่สุด และรักษาระดับความร้อนและความเย็นของอาหารและเครื่องดื่ม โดยไม่มีสารปนเปื้อนออกมาจากพลาสติก

จากการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านดังกล่าว ทำให้ความต้องการใช้พลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packaging) ของไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น  เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ดังกล่าว มีลักษณะเป็นแบบชั้นฟิล์มหลายชั้น (multilayer film) ซึ่งมีประโยชน์ในด้านการทนความร้อนและความดันสูง ทั้งยังสามารถพิมพ์ฉลากลงบนบรรจุภัณฑ์ได้  มีความแข็งแรง ความสะดวกในการห่อหุ้มสินค้า สามารถขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์หน่วยเล็กๆ ได้ ง่ายต่อการใช้งาน และการขนส่ง เช่น ถุงแบบตั้งได้ (stand - up pouches) ถุงซิป (re - closable packs)

 

 

กฎเกณฑ์ และมาตรการจากภาครัฐ เป็นปัจจัยผลักดันในการลดการใช้พลาสติกแบบพื้นฐาน และนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกหมุนเวียนมาใช้ใหม่มากขึ้น โดยรัฐ มี 3 เป้าหมายหลักสำคัญที่จะจัดการขยะพลาสติกแบบบูรณาการคือ 1) ปริมาณขยะพลาสติกที่นำไปกำจัดจะต้องลดลง 2) การออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และ 3) มีการนำพลาสติกกลับมาใช้หลังการบริโภค 60% ภายในปี 2021 ทั้งนี้ ภาครัฐจะมีการทบทวนแนวคิดการจัดเก็บภาษีหรือค่าธรรมเนียมจากการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก เช่น ภาษีถุงพลาสติก หรือภาษีห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ให้บริษัทผลิตน้ำดื่มเลิกหุ้มฝาขวดด้วยพลาสติก (cap seal) โดยมีเป้าหมายในการลดปริมาณขยะพลาสติกให้ได้ปีละ 520 ตัน หรือมีความยาว 260,000 กิโลเมตร คิดเป็นความยาวรอบโลกถึง 6.5 รอบ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2018

ในส่วนของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกสำหรับใส่ยาทุกหน่วยงานในสังกัด ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 ตุลาคม 2018 ซึ่งมาตรการนี้จะช่วยลดการใช้ถุงพลาสติกของโรงพยาบาลในสังกัดของกรมการแพทย์ถึงปีละกว่า 9 ล้านใบ นอกจากนี้ ยังมีการรณรงค์ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกพื้นฐานในภาคเอกชนของไทย เช่น Tops daily จัดกิจกรรมรับคะแนนสะสมเพิ่ม เมื่อซื้อสินค้าในร้านโดยไม่รับถุงพลาสติก SCB จัดกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ด้วยการแจกขวดน้ำพลาสติกที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำให้แก่พนักงาน

อีไอซีมองว่ามาตรการของทั้งภาครัฐและเอกชน ดังที่กล่าวข้างต้น แม้ว่าในระยะสั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไม่มากนัก เนื่องจากคนไทยมีการใช้ถุงพลาสติกปีละ 7 พันล้านใบ แต่หากภาครัฐปฏิบัติตามเป้าหมายได้สำเร็จในการนำพลาสติกกลับมาใช้หลังการบริโภค 60% ตามที่กล่าวข้างต้น ประกอบกับกระแสการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว  จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบพื้นฐานแบบบริโภคครั้งเดียว (single use) อย่างถุงหูหิ้ว ขวดน้ำพลาสติกแบบพื้นฐาน จากปริมาณการใช้ที่ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต

 

 

รูปที่ 2: ไทยเสียเปรียบในเชิงมูลค่าต่อน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นในเอเชียปี 2017

หน่วย: พันดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

 

 2.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Trade Map

 

นอกจากนี้ ไทยยังมีความต้องการแผ่นฟิล์มเพื่อนำไปผลิตพลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible packaging) ที่มีมูลค่า ในปัจจุบันไทยนำเข้าบรรจุภัณฑ์พลาสติกประเภทฟิล์ม เช่น ถุงพลาสติกเสริมอะลูมิเนียมฟอยล์ประเภทปลอดเชื้อที่มีมูลค่าสูง ขณะที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิบรรจุภัณฑ์พลาสติกพื้นฐาน เช่น ถุงพลาสติกแบบหูหิ้ว (shopping bag) ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ทำให้เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าของพลาสติกต่อตันกับประเทศที่เป็นผู้ส่งออกสุทธิในเอเชียอย่าง จีน เกาหลี เวียดนาม ไต้หวัน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น พบว่าไทยมีความเสียเปรียบในเชิงมูลค่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกต่อตันมากที่สุด และประเทศญี่ปุ่นมีความได้เปรียบในเชิงมูลค่ามากที่สุด โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นส่งออกจะเป็นแผ่นฟิล์มที่มีหลายชั้น เพื่อผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนตัว (flexible plastic packaging) (รูปที่ 2)  ทั้งนี้ จึงเป็นเป็นอีกหนึ่งโอกาสให้ผู้ประกอบการพัฒนาตลาดสำหรับแผ่นฟิล์มเพื่อใช้สำหรับพลาสติกแบบอ่อนตัว (flexible plastic packing) ที่ยังมีความต้องการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

 

นวัตกรรมจะมีส่วนช่วยสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์พลาสติก การสร้างนวัตกรรมให้กับบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทำให้ผู้ประกอบการมีผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างและอาจเพิ่มยอดขายได้ในอนาคต ทั้งนี้ ตัวอย่างของนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์แนวโน้มของการใส่ใจต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น Active Packaging ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร และยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ จากการใช้กระบวนการต่างๆ โดยการ ดูดออกซิเจน การควบคุมความชื้น การดูดหรือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อันเนื่องมาจากแบคทีเรียหรือราบางประเภทที่ปล่อยออกมาระหว่างการเจริญเติบโต 

สำหรับในต่างประเทศ ได้เน้นนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมในการใช้พลาสติกชีวภาพ โดยยุโรปตะวันตกเป็นผู้บริโภคพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ที่สุดของภูมิภาค โดยในปี 2017 มีปริมาณการใช้พลาสติกชีวภาพถึง 500,000 ตัน หรือครึ่งหนึ่งของความต้องการทั่วโลก คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปี 2012-2017 ราว18% ปัจจัยของการเติบโตนั้นมาดจากการได้รับการสนับสนุนจากกฎระเบียบภาครัฐและความตระหนักและความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมของประชาชน โดยยุโรปพร้อมประกาศยกเลิกการใช้พลาสติกแบบ single-use ภายในปี 2025 

จากตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนได้ว่าถึงเวลาแล้วที่ที่ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการปรับปรุงสินค้าทั้งในด้านของประโยชน์การใช้งานที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นโดยใช้  flexible plastic packaging  และการใช้พลาสติกชีวภาพเพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ