SHARE
FLASH
03 พฤศจิกายน 2014

ธนาคารกลางญี่ปุ่นขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ (QQE)

าคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมระลอกสอง (QQE) แบบไม่กำหนดกรอบเวลาสิ้นสุด หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงต่อเนื่องสวนทางกับเป้าหมาย 2% ของ BOJ

ผู้แต่ง : ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ, เขมรัฐ ทรงอยู่ และ ธนกร ลิ้มวิทย์ธราดล 

477529807-s.jpg

Event.png

885_20100622103059.gif

  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตัดสินใจออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติมระลอกสอง (QQE) แบบไม่กำหนดกรอบเวลาสิ้นสุด หลังตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานปรับตัวลดลงต่อเนื่องสวนทางกับเป้าหมาย 2% ของ BOJ

Analysis.png

884_20100622103051.gif

  • BOJ ตั้งเป้าขยายฐานเงินที่อัตรา 80 ล้านล้านเยนต่อปี เพิ่มเติมจากมาตรการ QQE ของเดิมที่ระดับ 60-70 ล้านล้านเยน ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) เกือบทั้งหมด (รูปที่ 1) มาตรการใหม่นี้จะทำให้ฐานเงินในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวขึ้นถึง 30% ในปี 2015 พร้อมๆ กับงบดุลของ BOJ ที่จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอีกราว 17% ของ GDP ทั้งนี้มาตรการที่กล่าวข้างต้นยังไม่มีการกำหนดกรอบเวลาสิ้นสุดจนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ระดับเหนือ 2% อย่างมีเสถียรภาพตามคำแถลงของ BOJ
  • การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มถือตัวแปรสำคัญที่กดดันเงินเฟ้อมาอย่างต่อเนื่อง ทิศทางตัวเลขเงินเฟ้อพื้นฐานของญี่ปุ่นเริ่มแสดงสัญญาณชะลอตัวมาตั้งแต่เดือนเมษายนและได้เปลี่ยนแนวโน้มเป็นขาลงให้เห็นในเดือนสิงหาคมเป็นต้นมาจนแตะระดับ 1% ในที่สุดในเดือนกันยายน (รูปที่ 2) สอดคล้องกับตัวเลขการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ หลังการประกาศขึ้นภาษีจาก 5% เป็น 8% ในเดือนเมษายน โดยตัวเลขการใช้จ่ายภาคครัวเรือน (Real household spending) ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายนที่ผ่านมาหดตัวลงเฉลี่ย 5.4%YOY (ก่อนหน้านี้ญี่ปุ่นเคยได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการขึ้นภาษีในปี 1997 จนผลักให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่สภาวะถดถอยในช่วงสองปีต่อมาและเริ่มต้นสภาวะเศรษฐกิจเงินฝืดในสุด) นอกจากนี้ทิศทางราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องยังถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้เงินเฟ้อในส่วนของพลังงานลดลง

  • ทิศทางเงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่องอาจทำให้ภาคเอกชนเริ่มคาดการณ์ถึงสภาวะเงินฝืดอีกครั้ง มุมมองของผู้ประกอบการและแรงงานต่อการลดลงของระดับราคาส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจในการเพิ่มการจ้างงานและขึ้นค่าจ้างของภาคเอกชน สร้างความเสี่ยงต่อนโยบายเศรษฐกิจที่มุ่งนำพาญี่ปุ่นออกจากสภาวะเงินฝืด รวมไปถึงการปรับโครงสร้างตลาดแรงงานในระยะยาว ซึ่งความเสี่ยงนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ BOJ ตัดสินใจขยายมาตรการ QQE

    รูปที่ 1: ตารางเปรียบเทียบสินทรัพย์และมาตรการ QQE รอบใหม่ของ BOJ

    8320_20141103164111.jpg

    ที่มา: BOJ

    รูปที่ 2: เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงแบกรับผลกระทบจากการขึ้นภาษีเมื่อเดือนเมษายนเป็นต้นมา

    8321_20141103164137.jpg

    Note: เงินเฟ้อพื้นฐานไม่รวมราคาอาหาร แต่รวมราคาน้ำมัน 

    รูปที่ 3: ปริมาณเงินที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นอัดฉีดเพิ่มเติมต่อปีเท่ากับ 10-20 ล้านล้านเยน หรือราว 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

    8322_20141103164158.jpg
    ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ Bloomberg และ CEIC 

Implication.png

886_20100622103105.gif

  • ผลกระทบต่อตลาดการเงินของไทยจะมีไม่มากนัก แม้ว่าการเพิ่มวงเงิน QQE ครั้งนี้จะทำให้ปริมาณเงินรวมที่ BOJ เพิ่มเข้าสู่ระบบอยู่ที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี ใกล้เคียงกับปริมาณเงินที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ อัดฉีดเข้าสู่ระบบเฉลี่ยต่อปีในมาตรการ QE3 แต่มูลค่าของการซื้อสินทรัพย์ที่ BOJ เพิ่มขึ้นนั้น มีเพียง 10-20 ล้านล้านเยนหรือราว 140 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูงนักเมื่อเทียบกับขนาดของมาตรการ QQE เดิม (รูปที่ 3) จึงไม่น่าส่งผลให้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากเดิมมากนัก

  • การอ่อนค่าของเงินเยนอาจจะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น หลังจากที่ BOJ ได้ประกาศเพิ่มวงเงินในการอัดฉีดปริมาณเงินเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2014 ซึ่งอยู่เหนือความคาดหมายของตลาด ส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงทันทีถึง 2.8% มาอยู่ที่ 112 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ปริมาณเงินที่อัดฉีดเพิ่มเติมนั้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับมาตรการ QQE เดิม จึงไม่น่าจะกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าได้มากนัก ดังนั้น หากค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงอีกจากระดับปัจจุบันจะต้องขึ้นอยู่กับว่า BOJ จะมีการออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมที่เหนือความคาดหมายของตลาดอีกหรือไม่

  • ผู้ส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยนไม่มากนัก และจะได้ประโยชน์จากการผ่อนคลายของ BOJ ในระยะยาว สินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังญี่ปุ่นคือ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  และรถยนต์ ซึ่งมีการนำเข้าวัตถุดิบจากญี่ปุ่นเป็นสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ถึงแม้ว่าค่าเงินเยนที่อ่อนค่าจะส่งผลให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยไปยังญี่ปุ่นแพงขึ้น แต่การนำเข้าวัตถุดิบที่ถูกลงจะช่วยชดเชยรายได้จากการส่งออกที่ลดลงได้ นอกจากนี้การผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของญี่ปุ่นเป็นไปเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยในระยะยาว หลังจากที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นฟื้นตัวแล้ว

 

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ