SHARE
SCB EIC ARTICLE
10 กรกฏาคม 2018

BULL-BEAR: ราคาน้ำมัน (ไตรมาส 3/2018)

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 

ราคาน้ำมัน 
(USD/บาร์เรล)

2017F

2018F

2019F
(ค่าเฉลี่ย)  Q1 Q2 Q3 Q4 เฉลี่ย Q1 Q2 Q3F Q4F เฉลี่ย สูงสุด* ต่ำสุด* เฉลี่ย

ราคาน้ำมันดิบ WTI

52 48 48 55 51 63 68 66 67 66 75 54 68
ราคาน้ำมันดิบ Brent 54 50 52 61 54 67 75 73 74 72 72 57 75


*ข้อมูลจาก Leading global houses ( 22 พฤษภาคม 2018)
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC

 

EIC’s view: Bear

ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 3 ปี 2018 มีแนวโน้มปรับระดับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นมามากรับข่าวไปแล้วในไตรมาสที่ 2 จากการกลับมาคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน รวมไปถึงข่าวที่สหรัฐฯ กำลังพิจารณาออกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาภายหลังจากการเลือกตั้ง ตอกย้ำปริมาณการผลิตน้ำมันของเวเนซุเอลา
ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปี

ทั้งนี้ สำหรับปัจจัยเรื่องสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ต่ออิหร่าน อีไอซีมองว่าจะส่งผลบวกต่อราคาน้ำมันดิบเพียงระยะสั้น และไม่รุนแรงเท่ากับการคว่ำบาตรต่ออิหร่านเมื่อครั้งที่แล้วในปี 2012-2015 เนื่องจาก สหรัฐฯ เป็นประเทศเดียวที่กลับมาคว่ำบาตร ในขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปยืนยันไม่ถอนตัวจากข้อตกลง ซึ่งมีแนวโน้มคงการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านต่อไป แต่ถ้าอิหร่านไม่สามารถส่งออกไปยุโรปได้ คาดว่าอิหร่านจะยังส่งออกไปจีนทดแทน ซึ่งปัจจุบันจีนมีความขัดแย้งเรื่องการค้ากับสหรัฐฯ จึงไม่น่าลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน

ในส่วนของปัจจัยที่จะกดดันราคาน้ำมันดิบไม่ให้ปรับระดับสูงขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 3 เป็นเรื่องของอุปสงค์ที่มีแนวโน้มลดลงตามฤดูกาลจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นต่างๆ และอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตสหรัฐฯ จะขุดเจาะน้ำมันออกมาไม่มากพอที่จะกดราคาน้ำมันไว้ได้ เนื่องจากความท้าทายต่างๆ เช่น การขนส่งน้ำมันทางท่อ และท่าเรือมีปัญหาคอขวด อีกทั้งผู้ถือหุ้นในบริษัทน้ำมันต้องการเงินปันผลจากราคาหุ้นที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันมากกว่าที่จะสนใจเรื่องการเพิ่มปริมาณการผลิต แต่คาดว่าในไตรมาส 3 อุปทานน้ำมันจากสหรัฐฯ จะออกสู่ตลาดได้มากขึ้น จากการเปิดท่อขนส่งน้ำมัน Mariner East 2 ในแหล่ง Marcellus และ Utica รัฐ Pennsylvania ทำให้ขนส่งน้ำมันได้เพิ่มขึ้นจาก 0.7 เป็น 3.45 แสนบาร์เรลต่อวัน

อย่างไรก็ตาม ไตรมาส 3 ยังมี upside risk จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (geo-political risk) ในประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อย่างเวเนซุเอล่า ซีเรีย ไนจีเรีย และลิเบีย ซึ่งหากปัญหาทางการเมืองยังคงยืดเยื้อจนเกิดความรุนแรงจะทำให้อุปทานน้ำมันเกิดการตึงตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทะยานสูงขึ้นในระยะสั้นได้

 

BULLs BEARs
  • ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงอาวุธนิวเคลียร์ที่เคยทำไว้กับอิหร่าน และจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจสูงสุดต่ออิหร่าน รวมถึงการพิจารณาใช้มาตรการคว่ำบาตรกับประเทศที่ให้ความช่วยเหลืออิหร่านในเรื่องอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตและการส่งออก น้ำมันดิบของอิหร่าน ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบเกิดการตึงตัว และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับสูงขึ้นในระยะสั้น

  • ปริมาณการผลิตน้ำมันในเวเนซุเอลาได้แตะระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี อยู่ที่ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนเมษายน 2018 หรือลดลง 40% ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลามีไม่มากนัก นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังพิจารณามาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลา เนื่องจากความไม่โปร่งใสของการจัดการเลือกตั้ง หลังจากที่นายนิโคลัส มาดูโร ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งหากสหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเวเนซุเอล่า ก็จะส่งผลเชิงจิตวิทยา ที่ทำให้ระดับราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นได้

  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้รายงานตัวเลขล่าสุดน้ำมันดิบคงคลังของ OECD (The Organization of Economic Cooperation and Development) ซึ่งมีปริมาณการใช้น้ำมันราว 50% ของโลก ลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ในเดือนมีนาคม 2018 มาอยู่ที่ 2,812 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงกับระดับน้ำมันดิบคงคลังค่าเฉลี่ย 5 ปี ที่ OPEC วางเป้าหมายไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการน้ำมันดิบโลกที่แข็งแกร่ง ซึ่งหากระดับน้ำมันดิบคงคลังยังลดลงต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน

  • ปริมาณแท่นขุดเจาะน้ำมันในสหรัฐฯ เดือนพฤษภาคม 2018 เพิ่มขึ้นเป็น 844 แท่น โดยขยายตัวราว 17% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า จัดว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2015 สะท้อนถึงปริมาณอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ รายงานครั้งล่าสุดของสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าในไตรมาส 3 ปี 2018 สหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 17.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าระดับปัจจุบันราว 4
    แสนบาร์เรลต่อวัน

  • อุปทานน้ำมันดิบโลกในไตรมาส 3 ปี 2018 ยังคงมากกว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบราว 3 แสนบาร์เรลต่อวัน โดย EIA ประเมินอุปทานน้ำมันดิบของโลกในไตรมาส 3 จะอยู่ที่ราว 101.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบจะอยู่ที่ราว 100.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำมันดิบที่เพิ่มสูงขึ้นจะมาจากการขยายตัวของปริมาณการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ เป็นหลักที่ 2.2% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

  • ไตรมาส 3 เป็นฤดูกาลปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นส่งผลให้ความต้องการน้ำมันดิบเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการกลั่นมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้ กำลังการกลั่นจะหายไปมากที่สุดในตะวันออกกลาง และเอเชีย ประมาณ 2.2 และ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ

  • OPEC และ Non-OPEC Ministerial Meeting ครั้งที่ 4 ตกลงปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ โดยจากผลการประชุมร่วมกัน ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2018 มีเป้าหมายจะปรับลด compliance rate จาก 152% ในเดือนพฤษภาคม 2018 ลงเหลือ 100% ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2018 ซึ่งคาดว่าจะเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 1% ของการผลิตน้ำมันโลก

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ