SHARE
SCB EIC ARTICLE
10 กรกฏาคม 2018

เศรษฐกิจในประเทศ : การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนมีลักษณะกระจุกตัว แต่เริ่มมีสัญญาณบวกสำหรับในระยะต่อไป

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 
Outlook_Q3_2018_Thai_in3.jpg

 

 

 

การใช้จ่ายภาคครัวเรือนในช่วงที่ผ่านมาเติบโตแบบกระจุกตัว การบริโภคภาคเอกชนในปี 2017 ที่ผ่านมาขยายตัวจากการเติบโตของสินค้าหมวดสินค้าคงทนเป็นสำคัญ ซึ่งสินค้าที่โตอย่างโดดเด่นในหมวดนี้คือยอดขายรถยนต์นั่งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 23.7%YOY อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาการเติบโตของการบริโภคในกลุ่มสินค้าไม่คงทน ซึ่งเป็นตัวแทนการบริโภคของครัวเรือนส่วนใหญ่ยังเติบโตได้ค่อนข้างช้า สะท้อนจากดัชนีการบริโภคภาคเอกชนหมวดสินค้าไม่คงทนของ ธปท. ที่ขยายตัวได้เพียง 0.5%YOY ซึ่งถือว่าน้อยกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังที่ 2.3%YOY ต่อปี นอกจากนี้ เมื่อแบ่งการใช้จ่ายครัวเรือนตามภูมิภาคจะพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีเพียงครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดเท่านั้นที่เร่งการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ครัวเรือนในภูมิภาคอื่นมีการชะลอการใช้จ่ายลง (รูป 7)

 

 

รูปที่ 1: การบริโภคภาคเอกชนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาขับเคลื่อนโดยครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นสำคัญ ขณะที่ภูมิภาคอื่นชะลอการใช้จ่ายลง

การใช้จ่ายภาคครัวเรือนรายภูมิภาคและการบริโภคภาคเอกชน

หน่วย: %YOY

 

Outlook_Q3_2018_Thai_in2.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติและ สศช.

 

 

อีไอซีวิเคราะห์ว่าการกระจุกตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลสะท้อนมาจากช่วงเวลาที่ตลาดแรงงานยังไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในปี 2017 มีจำนวนผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.49 แสนคน โดยมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอด 3 ปี ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.3% จาก 0.8% ในปี 2014 นอกจากนี้ รายได้ภาคเกษตรก็หดตัวเฉลี่ยที่ -1.0%YOY ต่อปีใน ช่วงเวลาเดียวกัน รายได้ของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางจึงชะลอตัว เป็นข้อจำกัดที่สำคัญของการใช้จ่ายในช่วงที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกของปี 2018 การกระจุกตัวเริ่มคลี่คลายลง ในไตรมาสแรก การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ 3.6%YOY โดยยังคงเป็นสินค้าคงทนที่เติบโตสูงที่ 9.4%YOY อย่างไรก็ดี การกระจุกตัวเริ่มคลี่คลายลงจากสินค้ากึ่งคงทนและไม่คงทนที่มีการขยายตัวที่ 2.4%YOY และ 2.0%YOY เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่เติบโต 0.6%YOY และ 1.8%YOY ตามลำดับ

 

รายได้ภาคครัวเรือนเริ่มฟื้นตัวทั้งในและนอกภาคเกษตร การฟื้นตัวตามวัฏจักรเศรษฐกิจเริ่มส่งผลดีต่อแนวโน้มรายได้ของครัวเรือนไทยที่ซบเซามาเป็นเวลานาน โดยสภาวะในตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนการจ้างงานที่ปรับเพิ่มขึ้น 2.4%YOY ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก เดือน เม.ย. ที่ขยายตัวที่ 0.5%YOY ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงมาอยู่ที่ 1.0% จาก 1.2% ในช่วงต้นปี อีกทั้งค่าจ้างเฉลี่ยนอกภาคเกษตรของลูกจ้างคนไทยแบบปรับฤดูกาลก็ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.0%YOY (รูปที่ 8) และเป็นการเพิ่มขึ้นทุกเดือนในช่วง 4 เดือนแรกของปี นำโดยสาขาธุรกิจที่มีการจ้างงานจำนวนมากอย่าง ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร โดยทั้ง 3 สาขามีจำนวนลูกจ้างภาคเอกชนรวมกันราว 6.9 ล้านคน คิดเป็นครึ่งหนึ่งของจำนวนลูกจ้างภาคเอกชนทั้งหมด นอกจากนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (อ้างอิงข้อมูล ณ วันที่ 2 กรกฎาคม 2018) รายได้ภาคเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวตั้งแต่เดือน เม.ย. หลังจากหดตัวมา 9 เดือนติดต่อกัน และได้มีการขยายตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่ 2 ของปี (รูปที่ 9) โดยในระยะต่อไป รายได้ภาคเกษตรมีแนวโน้มได้รับผลบวกจากผลผลิตต่อเนื่องจากสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวย ส่วนด้านราคาอาจได้รับประโยชน์จากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้าหลังจากราคาพืชผลสำคัญที่ลดต่ำลงเริ่มทรงตัว ทั้งนี้ อีไอซีปรับประมาณการการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นเป็น 3.5%YOY จาก 3.1%YOY ในการประมาณการครั้งก่อน เพื่อสะท้อนถึงการเติบโตในช่วงที่ผ่านมาและแนวโน้มของรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น

 

 

สามารถอ่านต่อได้ที่ฉบับเต็ม

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ