SHARE
SCB EIC ARTICLE
09 กรกฏาคม 2018

เศรษฐกิจอาเซียน 4: ขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้การเติบโตของมาเลเซีย และอินโดนีเซียจะชะลอลง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


เศรษฐกิจอาเซียน 4 ยังอยู่ในทิศทางการขยายตัว นำโดยฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ ในขณะที่การเติบโตของมาเลเซียและอินโดนีเซียชะลอลงในไตรมาสแรกของปี 2018 การลงทุนภายในประเทศเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของเศรษฐกิจอาเซียน 4 โดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัว 5.06%YOY และ 6.8%YOY ตามลำดับ สำหรับมาเลเซีย การลงทุนจากภาคเอกชนเป็นตัวช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต 5.4%YOY เช่นเดียวกับเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่เติบโต 3.6%YOY แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีทำให้ธนาคารกลางมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ต้นปี 2018 เช่นเดียวกับธนาคารกลางสิงคโปร์ที่ปรับกรอบอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สิงคโปร์ให้สามารถแข็งค่าได้มากขึ้น

ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจอาเซียน 4 ในปีนี้ คือความผันผวนของราคาน้ำมันโลก และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปีส่งผลลบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียและสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบ ในขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อาจกดดันให้สกุลเงินภายในประเทศอาเซียน 4 อ่อนค่าลง ถือเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่มีระดับหนี้ต่างประเทศค่อนข้างสูง นอกจากนี้ การบริโภคภาคครัวเรือนที่ขยายตัวต่ำยังเป็นความเสี่ยงสำคัญสำหรับอินโดนีเซียและมาเลเซีย โดยรัฐบาลชุดใหม่ของมาเลเซีย นำโดยนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้ประกาศยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าและบริการ (GST) ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2018 เป็นต้นไป เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการบริโภค อย่างไรก็ดี นโยบายดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมาเลเซียสูญเสียรายได้จาก GST ซึ่งมีสัดส่วนถึง 18% ของรายได้จากภาษีทั้งหมดในปี 2017 และอาจส่งผลเสียถึงระดับหนี้รัฐบาลที่ปัจจุบันอยู่ในระดับค่อนข้างสูง คือราว 51% ของ GDP

จับตาความคืบหน้าของข้อตกลงทางการค้า CPTPP ที่มีมาเลเซียและสิงคโปร์เป็นประเทศสมาชิก CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) เป็นข้อตกลงทางการค้ามาตรฐานสูงที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องการค้า การลงทุน ไปจนถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ประเทศอาเซียนที่เป็นสมาชิก CPTPP ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนาม ซึ่งประเทศอาเซียนอื่นๆ เช่น ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เองก็แสดงความสนใจเข้าร่วมกับ CPTPP เช่นกัน โดยคาดว่าข้อตกลง CPTPP จะช่วยเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันทั้งในแง่ของการดึงดูดการลงทุน รวมทั้งเพิ่มโอกาสทางการค้ากับตลาดใหม่ๆ อย่างแคนาดา เม็กซิโก เปรู และชิลี ซึ่งยังมีมูลค่าการค้าที่ไม่สูงนักกับประเทศอาเซียน ปัจจุบันข้อตกลง CPTPP อยู่ในระหว่างรอการรับรองทางกฎหมายโดยประเทศสมาชิก คาดว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ได้ภายในปี 2019 (อ่านเพิ่มเติมที่ Box: ติดตามความคืบหน้าล่าสุดของข้อตกลงทางการค้า CPTPP)

 

เศรษฐกิจสิงคโปร์ : สิงคโปร์และไทยจับมือส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพและอีคอมเมิร์ซ

 

ในไตรมาสแรกของปี 2018 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัว 4.4%YOY หรือ 1.4%QOQ SAAR เร่งตัวจากไตรมาสก่อนซึ่งเติบโต 3.6%YOY ภาคการผลิตซึ่งเป็นแรงส่งหลักขยายตัว 10.1%YOY นำโดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่ภาคบริการซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจเติบโต 3.8%YOY เศรษฐกิจที่ยังขยายตัวดีต่อเนื่องทำให้ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ตัดสินใจปรับเพิ่มความชันของกรอบอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สิงคโปร์ขึ้นเล็กน้อยในเดือนเม.ย. เพื่อให้ดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าได้มากขึ้นตามพื้นฐานเศรษฐกิจ จากเดิมที่คงกรอบอัตราการแข็งค่าของเงินสิงคโปร์ไว้ที่ 0% ตั้งแต่ปี 2016

 

อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะเติบโตราว 3.2%YOY ในปี 2018 นำโดยภาคบริการซึ่งน่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีจากแรงสนับสนุนของกิจกรรมทางการค้าระหว่างประเทศและในภาคการเงิน นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังมีแผนขึ้นอัตราภาษีในระหว่างปี 2019-2025 โดยในปี 2019 จะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในอัตรา 5 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อตันจากบริษัทที่ปล่อยคาร์บอนมากกว่า 25,000 ตัน จะเริ่มเก็บภาษีบริการอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2020 และขึ้นภาษีสินค้าและบริการ (GST) จาก 7% เป็น 9% ในระหว่างปี 2021-2025

 

รัฐบาลไทยและสิงคโปร์ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ทอัพและอีคอมเมิร์ซ โดยสิงคโปร์ได้เปิดสำนักงาน The Singapore Global Innovation Alliance (GIA) ในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเม.ย. 2018 เพื่อผลักดันความร่วมมือด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทั้งนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 3 ของไทยในปี 2017 มีมูลค่าการลงทุนคิดเป็น 6% ของมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทั้งหมดในไทย โดยเฉพาะในภาคการเงินและการประกันภัย ในขณะเดียวกัน มูลค่าการลงทุนทางตรงจากไทยไปยังสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 42%YOY ในปี 2017 โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนเติบโตสูงคือภาคการค้าส่งและค้าปลีก

 

การลงทุนในสิงคโปร์ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่เปิดกว้างต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100% ในเกือบทุกภาคธุรกิจ และเก็บภาษีนิติบุคคลที่อัตรา 17% ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน นอกจากนี้ ธุรกิจสตาร์ทอัพที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ยังขอลดหย่อนภาษีในอัตราพิเศษได้ในช่วง 3 ปีแรกของการลงทุน โดยสามารถขอยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ก้อนแรกจำนวน 1 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ และขอลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 50% สำหรับเงินได้ก้อนที่สองจำนวน 2 แสนดอลลาร์สิงคโปร์ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปิดกว้างรวมถึงนโยบายภาษีที่เป็นมิตรกับนักลงทุนทำให้สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับโดยธนาคารโลกให้เป็นประเทศที่ง่ายต่อการลงทุนและการดำเนินธุรกิจมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกในปี 2018

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินดอลลาร์สิงคโปร์อ่อนค่าลง 2.1%YTD ณ วันที่ 29 มิถุนายน เทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเนื่องจากเป็นเครื่องมือของนโยบายการเงิน ภายใต้การบริหารจัดการจากธนาคารกลาง

• สิงคโปร์ถือเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 8 ของไทย คิดเป็น 3.2% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2018 สินค้าส่งออกที่มีการขยายตัวสูง
ได้แก่ เครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็ก และน้ำมันสำเร็จรูป การส่งออกไทยไปยังสิงคโปร์มีแนวโน้มเติบโตดีในช่วงที่เหลือของปีตามเศรษฐกิจสิงคโปร์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

• จำนวนนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ที่เดินทางมายังไทยเพิ่มขึ้น 6.9%YOY และมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 7.7%YOY ในไตรมาสแรกของปี 2018 และมีแนวโน้มขยายตัวเช่นเดียวกับการส่งออก

 



Outlook_Q3_2018_ASean4.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ