SHARE
SCB EIC ARTICLE
04 ธันวาคม 2014

Venture Corp กับการพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในสิงคโปร์

ถ้าพูดถึงสิงคโปร์ คงต้องนึกถึงความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จจากการที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต จนในปัจจุบันเป็นหนึ่งในฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูงอย่าง silicon wafer โดยมีบริษัทชั้นนำของโลกเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกัน บริษัทของสิงคโปร์เองก็ยังสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ผลักดันสู่การผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น การผลิตที่มีการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา (Original Design Manufacturing: ODM)

ผู้เขียน: EIC | Economic Intelligence Center

 452492171.jpg

ถ้าพูดถึงสิงคโปร์ คงต้องนึกถึงความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ประสบความสำเร็จจากการที่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิต จนในปัจจุบันเป็นหนึ่งในฐานการผลิตในอุตสาหกรรมต้นน้ำที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีสูงอย่าง silicon wafer โดยมีบริษัทชั้นนำของโลกเข้าไปลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกัน บริษัทของสิงคโปร์เองก็ยังสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเอง ผลักดันสู่การผลิตให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่น การผลิตที่มีการออกแบบ การวิจัยและพัฒนา (Original Design Manufacturing: ODM)

บริษัท Venture Corporation limited เป็นหนึ่งในบริษัท Electronics Manufacturing Services (EMS) ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่เป็นการรับจ้างประกอบตามที่บริษัทแม่กำหนด (Original Equipment Manufacturing: OEM) แต่มีการปรับตัวจนพัฒนาไปสู่การเป็น ODM โดยปัจจุบัน Venture เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการไอทีโซลูชั่นแก่แบรนด์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำทั่วโลก ตลอดจนมีลูกค้าหลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ กลุ่มสื่อสารและโครงข่าย ตลอดจน กลุ่มการแพทย์ ค้าปลีก และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และยังมีฐานการผลิตในหลายประเทศ อาทิ จีน มาเลเซีย

แม้ว่า Venture จะยังเป็นผู้รับจ้างประกอบแผงวงจร (printed circuit board assemblies (PCBA) ให้กับแบรนด์ต่างๆ เช่นเดียวกับ EMS รายอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่างคือ การเน้นไปที่สินค้าประเภท high-mix low-volume คือเน้นสินค้าในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปที่มีความซับซ้อน มูลค่าเพิ่มสูง และเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) เช่น การประกอบอุปกรณ์ไฟเบอร์ออฟติกที่ซับซ้อน อุปกรณ์โฟตอนิกส์ ตัวอย่างที่เห็นชัด คือกลุ่มสินค้าที่ Venture โดดเด่นอย่างเช่น ด้านการพิมพ์ Venture มีการพัฒนาเครื่องพิมพ์ 3D สำหรับงานอุตสาหกรรมที่สนับสนุนตลาดเฉพาะกลุ่ม เช่น เครื่องพิมพ์ 3D สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ ชิ้นส่วนเครื่องบิน ตลอดจนถึงงานด้านการแพทย์ ซึ่งปัจจุบันวงการแพทย์มีความต้องการเทคโนโลยีการพิมพ์ 3D สูง อาทิ การทำอวัยวะเทียม

ปัจจัยที่ทำให้ Venture ประสบความสำเร็จคือ ความเชื่อมโยงและต่อเนื่องในห่วงโซ่การผลิต (supply chain)  โดยให้ความสำคัญกับการกระบวนการผลิตที่มีความต่อเนื่อง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยต่อระบบการดำเนินงาน ทำให้สามารถติดต่อกับลูกค้าและ supplier ต่างๆ ได้แบบ real-time ผ่านอินเตอร์เน็ต นอกจากนี้ Venture ยังประสบความสำเร็จในการผลักดันไปสู่การเป็น ODM ซึ่งสิ่งที่ Venture ให้ความสำคัญมากคือ การวิจัยและพัฒนา โดยมีการตั้งศูนย์ออกแบบอาทิ การออกแบบระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ เครื่องยนต์ รวมถึงอุปกรณ์ที่มีความแม่นยำสูง โดยมีศูนย์ออกแบบตั้งอยู่ในเมืองที่เป็นตลาดหลักทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และในเอเชีย โดยทีมวิจัยและพัฒนาจะออกแบบรวมถึงการให้บริการในลักษณะของ turnkey solution โดยผลิตภัณฑ์และบริการจะอยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งานได้ทันที ประเด็นที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งคือ การที่ Venture จะประสบความสำเร็จในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้นั้น Venture ได้มีการไปเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น บริษัทที่เป็น supplier ผลิตชิ้นส่วนประกอบต่างๆ หรือบริษัทขนส่งและโลจิสติกส์ซึ่งช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการ ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

นอกจากความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนการบริหารจัดการและความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตของบริษัทในสิงคโปร์เองแล้ว ความสำเร็จของบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ในสิงคโปร์ส่วนหนึ่งยังมาจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้ออำนวย อาทิ ผลิตภาพการผลิตที่สูง เนื่องจากความพร้อมทั้งด้านแรงงาน วิศวกร และผู้บริหารที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ การให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาเป็นปัจจัยที่มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสิงคโปร์มีขีดความสามารถตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการออกแบบกระบวนการผลิต โดยมีกองทุนให้การสนับสนุนด้านการออกแบบวงจรไฟฟ้าคือ VIRTUS IC Design Centre of Excellence และ the Institute of Microelectronics (IME) นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังได้เพิ่มงบประมาณในแผนพัฒนาช่วงปี 2011-2015 อีกราว 20% จากในช่วงปี 2006-2010 โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มากกว่าครึ่งของรายจ่ายด้านวิจัยและพัฒนาในสิงคโปร์เป็นการใช้จ่ายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะผลักดันให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ

ถ้าย้อนกลับมาดูการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไทย จะพบว่าบริษัทไทยที่ดำเนินธุรกิจ EMS มีจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าไทยยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับเทรนด์ด้านไอทีของโลกอยู่ในบางส่วน ขณะที่ผลิตภาพแรงงานเติบโตช้าลง จนทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคต และเริ่มหันไปมองการปรับตัวของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่สถานการณ์อาจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเพราะผู้ประกอบการในไทยเองก็ปรับตัวมากขึ้น เห็นได้จากหลายบริษัทพยายามผลักดันพัฒนาไปสู่การเป็น ODM มากขึ้นเช่นเดียวกับสิงคโปร์ แต่การปรับตัวของบริษัทในไทยจะยิ่งพัฒนาได้เร็วขึ้นหากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องของ R&D ซึ่งไม่เพียงแต่ด้านเงินทุน แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีการนำเอาผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคเอกชนควรร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อเตรียมผลิตบุคคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการ เพื่อรองรับการเติบโตไปสู่ digital economy ในอนาคตอันใกล้นี้

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ