SHARE
SCB EIC ARTICLE
09 กรกฏาคม 2018

เศรษฐกิจยูโรโซน: เงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมาย สนับสนุน ECB ยุติมาตรการ APP ภายในปีนี้

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 1 ปี 2018 เติบโตต่ำที่สุดในรอบ 6 ไตรมาสที่ 0.4%QOQSA2 โดยได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว อาทิ สภาพอากาศที่หนาวกว่าปกติ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มแรงงานในฝรั่งเศสและเยอรมนี การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ และเงินยูโรเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นกว่า 15.2%YOY ในช่วงเวลาดังกล่าวซึ่งกระทบภาคส่งออก ทั้งนี้ เศรษฐกิจยูโรโซนในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตที่ยังขยายตัวได้ในระดับสูงอยู่ที่ 54.9 ในเดือนมิ.ย. และเงินยูโรที่พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี และนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของยุโรปหลายราย ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะเติบโตได้ราว 2.3% ในปี 2018 จาก 2.5% ในปีก่อน

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มดีขึ้นอยู่ที่ 1.7% ในปี 2018 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.4% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนมีแนวโน้มดีขึ้นจาก 1) ราคาน้ำมันดิบโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 2) เงินยูโรที่พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 3) อัตราการว่างงานที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับต่ำที่สุดในรอบกว่า 9 ปีที่ 8.4% ในเดือนพ.ค. และ 4) ค่าจ้างที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี จากตลาดแรงงานที่ตึงตัวและการใช้กำลังการผลิตที่มากขึ้น ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.7%, 1.7% และ 1.7% ในปี 2018, 2019 และ 2020 ตามลำดับ จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ราว 1.4%, 1.4% และ 1.7% ตามลำดับ

ECB ส่งสัญญาณยุติ APP สิ้นปีนี้ อีไอซีคาดการขึ้นดอกเบี้ยเริ่มช่วงครึ่งหลังปี 2019 ในการประชุมวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา ECB ได้ประกาศลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน พร้อมทั้งส่งสัญญาณยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme: APP) ภายในสิ้นปีนี้ (อ่านเพิ่มเติมใน Flash: ECB ส่งสัญญาณยุติ APP สิ้นปีนี้ อีไอซีคาดการขึ้นดอกเบี้ยเริ่มช่วงครึ่งหลังปี 2019) ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าจะเริ่มปรับขึ้นครั้งแรกในช่วงครึ่งหลังของปี 2019 โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ ECB อาจไม่สามารถเร่งออกมาตรการตึงตัวทางการเงินได้ตามที่คาด ประกอบด้วย 1) อัตราเงินเฟ้อที่อาจต่ำกว่าระดับที่ ECB คาด 2) นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ 3) ความไม่แน่นอนทางการเมืองในอิตาลี และ 4) การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ทั้งนี้ ECB จะยังคงดูข้อมูลทางเศรษฐกิจประกอบการตัดสินใจในการหยุดการเข้าซื้อพันธบัตร และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหากแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อยังคงเป็นไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืน

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • เศรษฐกิจยูโรโซนที่เติบโตได้ต่ำกว่าคาดในไตรมาสแรก ประกอบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กลับมาแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลง 2.9% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ3 ทั้งนี้ อีไอซีคาดว่าเงินยูโรจะแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ราว 1.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อยูโรในช่วงสิ้นปี 2018 ตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของ ECB
  • การส่งออกจากไทยไปยูโรโซนขยายตัว 15.2% ในช่วง 5 เดือนแรกของปี ทั้งนี้ ภาคการผลิตในยูโรโซนที่ยังเติบโตได้ดีอาจสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าจากไทย โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ เพิ่มมากขึ้น
  • ธุรกิจด้านยานยนต์สัญชาติยุโรปมีการลงทุนในพื้นที่ EEC ของไทย เพื่อรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภท Plug-in Hybrid และโรงงานประกอบแบตเตอรี่ อาทิ บริษัท BMW ที่ได้ลงทุนในโครงการดังกล่าวด้วยเม็ดเงินราว 2 พันล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2019 และบริษัท Mercedes-Benz ที่จะลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท ในช่วงปี 2018-2020

2 อัตราการเติบโตเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (แบบปรับฤดูกาล)
3 อัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินยูโร ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2018 เทียบกับสิ้นปี 2017


Outlook_Q3_2018_EU.jpg



 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ