SHARE
SCB EIC ARTICLE
16 เมษายน 2018

Banking Agent การให้บริการทางการเงินที่เข้าถึงประชาชนมากขึ้น

Banking Agent คือ ตัวแทนที่ธนาคารพาณิชย์ได้พิจารณาเลือกให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการให้บริการทางการเงินในบางประเภทธุรกรรมแทนธนาคารพาณิชย์

ผู้เขียน: อมรเทพ พิภพศิริรัตน์

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2018

 

158673029.jpg

 

 

 

 

“การมีแบงก์กิ้งเอเย่นต์จะช่วยให้ธนาคารสามารถขยายธุรกรรมทางการเงิน ทั้งรับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่จะได้ประโยชน์มาก เนื่องจากเพิ่มช่องทางการทำธุรกรรมทางการเงินที่สะดวกขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเดินทาง ขณะที่ธนาคารยังได้รับอานิสงส์ด้านต้นทุน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเปิดสาขาใหม่เพิ่มขึ้น และลดต้นทุนด้านการขนย้ายเงินไปพื้นที่ต่างจังหวัด”

 

ที่มา : น.ส.ดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2018 

 

 

 

Banking Agent คืออะไร?

 

Banking Agent คือ ตัวแทนที่ธนาคารพาณิชย์ได้พิจารณาเลือกให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการให้บริการทางการเงินในบางประเภทธุรกรรมแทนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประเทศไทยได้นำรูปแบบ Banking Agent มาปรับใช้มาระยะหนึ่งแล้ว โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกประกาศเรื่องการแต่งตั้ง Banking Agent ครั้งแรกในปี 2010 โดยอยู่ในรูปแบบของธนาคารพาณิชย์อื่นๆ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ ไปรษณีย์ ผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งธุรกรรมที่ให้บริการนั้นมีตั้งแต่ รับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน รับชำระเงิน จ่ายเงิน อย่างไรก็ตาม ในประกาศดังกล่าวยังไม่อนุญาตให้แต่ละ Banking Agent สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทุกธุรกรรม ยกตัวอย่างเช่น การรับฝากเงินสามารถทำได้กับ Banking Agent ประเภทธนาคารพาณิชย์อื่นๆ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ ส่วนการถอนเงินจะทำได้ผ่าน Banking Agent  ประเภทไปรษณีย์เท่านั้น

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2018 ทางธปท. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์[1] ซึ่งอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้ง Banking Agent ให้ครอบคลุมถึงนิติบุคคลประเภทอื่นๆ เช่น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด บริษัทจำกัด รวมไปถึงบุคคลธรรมดา[2] โดยต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1) สถานที่บริการต้องมีหลักแหล่งที่ชัดเจน 2) มีเครื่องมือ อุปกรณ์และระบบที่เหมาะสมกับการเป็น Banking Agent 3) เจ้าของนิติบุคคลจะต้องมีอายุ ภูมิลำเนา ฐานะทางการเงินที่ผ่านเกณฑ์และไม่เคยได้รับโทษทางกฎหมาย อีกทั้งธนาคารพาณิชย์จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่เข้มงวด เช่น ความสามารถในการเป็น Banking Agent ที่ดี ระบบบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่สอดคล้องกับธนาคารพาณิชย์

 

เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้ขยายขอบเขตให้ Banking Agent ทั้งหมดสามารถให้บริการธุรกรรมทางการเงินได้เหมือนกัน ได้แก่ รับฝากเงิน รับถอนเงิน จ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อย และชำระเงิน แต่สามารถให้บริการถอนเงินและจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายย่อยได้ไม่เกิน 5,000 บาทต่อรายการและไม่เกิน 20,000 บาทต่อวันสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย และจะมีเพียงธนาคารพาณิชย์อื่นๆ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจเท่านั้นที่ให้บริการจ่ายเงินสำหรับผู้ใช้บริการรายใหญ่[3]ได้  และที่สำคัญธนาคารพาณิชย์จะต้องกำหนดแนวทางการกำกับดูแล Banking Agent ให้ตรงตามมาตรฐานของธปท. ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ Banking Agent เหล่านี้สามารถดำเนินงานได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของธปท. และธนาคารพาณิชย์

 

 

ทำไมต้องมี Banking Agent?

จุดประสงค์หลักของการมี Banking Agent คือเพิ่มช่องทางบริการทางการเงินที่นอกเหนือจากสาขาธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินอื่นๆ รวมถึงเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ตรงกับความต้องการ และด้วยต้นทุนที่ถูกลง ทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทาง

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบัน ธนาคารพาณิชย์เริ่มหันมาลงทุนในด้านการให้บริการผ่าน Internet Banking หรือ Mobile Banking มากขึ้น เพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงบริการทางการเงินในพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ตาม การบริการผ่านช่องทางดังกล่าวยังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด การมี Banking Agent จึงอาจช่วยให้บางคนในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการผ่าน Internet Banking หรือ Mobile Banking สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกมากขึ้น นอกจากนี้ Banking Agent อาจทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความคุ้นเคยกับการใช้บริการผ่าน Internet Banking หรือ Mobile Banking  มากขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น  ประเทศเคนยา ซึ่งได้เริ่มต้นจากการให้บริการการเข้าถึงทางการเงินด้วยระบบดิจิทัล หรือระบบ M-Pesa ในปี 2007 โดยบริษัท Telecommunication อย่าง Safaricom ที่เป็นผู้บุกเบิกในเรื่องของการชำระเงินผ่านมือถือ และได้กระจาย M-Pesa Agent ที่ทำหน้าที่คล้ายกับ Banking Agent ไม่ว่าจะเป็น รับฝากเงิน ถอนเงิน และโอนเงิน โดยระบบนี้ได้ทำให้ประชาชนที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นและทำให้ประชาชนเกิดความเคยชินกับการใช้บริการทางการเงินผ่านมือถือมากขึ้น จากข้อมูลของ Worldbank พบว่าในปี 2014 มีผู้ที่ถือบัญชีทำธุรกรรมทางการเงินผ่านมือถือสูงถึง 39.7% ซึ่งมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ สวีเดน รวมถึงออสเตรเลีย

      

ทั้งนี้ หากรูปแบบ Banking Agent ในประเทศไทยได้ประยุกต์การใช้ระบบดิจิทัลมากขึ้น ก็อาจมีแนวโน้มให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่าน Internet Banking หรือ Mobile Banking ได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และช่วยให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย ประหยัด และรวดเร็วมากยิ่งขึ้นในการทำธุรกรรมทางการเงิน

 

ตัวอย่างประเทศในเอเชียที่นำรูปแบบ Banking Agent ไปปรับใช้

ประเทศเพื่อนบ้านที่ดำเนินนโยบาย Banking Agent ได้แก่ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งธนาคารกลางแห่งประเทศมาเลเซีย (BNM) ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้มี Banking Agent ในปี 2012  เพื่อธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการทางการเงินกับประชาชนที่อยู่ตามชนบทด้วยต้นทุนต่ำแต่ได้ประโยชน์มาก ในขณะที่ Banking Agent มีหน้าที่หลักให้บริการรับฝาก ถอน โอน ชำระเงินกู้ ชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ชำระเงินโดยบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต รวมถึงการบริการการเปิดบัญชี แต่การอนุมัติการเปิดบัญชีจะยังคงเป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งหน้าที่เหล่านี้ก็คล้ายกับหน้าที่ของ Banking Agent ในประเทศไทย

 

ผลของการมี Banking Agent ในประเทศมาเลเซีย[4] พบว่า ในปี 2015 ชาวมาเลเซียในชนบทสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ถึง 97% จาก 46% ในปี 2011 อีกทั้งจำนวน Banking Agent ก็เติบโตมากขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2016 พบว่ามี Banking Agent สูงถึง 7,984 ราย นอกจากนี้ การใช้บริการทางการเงินของชาวมาเลเซียส่วนใหญ่เป็นการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ (Bill payment) คิดเป็น 63% และรองลงมาคือ การฝากเงิน คิดเป็น 26% การออกกฎหมายของ BNM ครั้งนี้ได้ทำให้ชาวมาเลเซียที่อยู่ห่างไกลสาขาของธนาคารสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินผ่าน Banking Agent ได้สะดวกมากขึ้น และสามารถใช้บริการภายในเวลาทำการที่มากขึ้นอันเนื่องมาจากเวลาเปิด-ปิดของ Banking Agent ที่ยาวนานกว่าสาขาของธนาคาร อีกทั้งยังช่วยให้ประชาชนได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการชำระเงินแบบไม่ใช้เงินสด

 

อีกประเทศในทวีปเอเชียที่ได้นำรูปแบบ Banking Agent ไปปรับใช้คือ ประเทศอินเดีย ซึ่งตัวแทนนั้นถูกแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

 

1) Business Facilitators เป็นตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ในการทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติของผู้กู้ ดำเนินการสมัครการกู้ในขั้นต้น รวมถึงให้คำปรึกษาในด้านการออมเงินและการจัดการหนี้สิน ซึ่งสามารถเป็นได้ในรูปแบบของกลุ่มชมรมชาวนา สหกรณ์ ร้านค้าในนามบริษัท รวมถึงไปรษณีย์

 

2) Business Correspondents เป็นหน่วยงานนอกระบบสถาบันการเงินที่ธนาคารพาณิชย์ได้เลือกมาเป็นตัวแทนเพื่อช่วยในการขยายบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหน้าที่หลักคือ รับฝาก ถอน โอนเข้าบัญชีธนาคารเดียวกันหรือต่างธนาคาร รวมถึงการชำระหนี้เงินกู้จากธนาคาร โดย Business Correspondents จะเป็นในรูปแบบของ องค์กรภาคเอกชน (NGOs) สถาบันการเงินรายย่อย (MFIs) สหกรณ์ ไปรษณีย์ ร้านค้าทั่วไปรวมถึงปั๊มน้ำมัน

 

ทั้งนี้ ธนาคารกลางแห่งประเทศอินเดีย (RBI) ได้ออกประกาศให้มี Business Facilitators และBusiness Correspondents ในปี 2006 เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในสังคม อันเนื่องมาจากการที่ชาวชนบทไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ จาก Banking Agent ทั้ง 2 ประเภทนี้ จะเห็นได้ว่า Banking Agent ซึ่งทำหน้าที่คล้ายกับรูปแบบ Banking Agent ในประเทศไทยคือ ประเภท Business Correspondents

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่มีการนำระบบ Business Correspondents มาปรับใช้ในประเทศอินเดียเป็นเวลา 5-8 ปี พบว่า ระบบ Business Correspondent ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการที่ RBI สนับสนุนให้เพิ่มสาขาธนาคารมากขึ้นในทุกหมู่บ้านควบคู่ไปกับการมี Business Correspondents ตามหมู่บ้าน จึงทำให้ชาวอินเดียเลือกใช้บริการผ่านสาขาธนาคารมากกว่า จากผลสำรวจของ The 2014 Financial Inclusion Insights survey พบว่า 72% ของชาวอินเดียที่ใช้บริการทางการเงินมีความเชื่อมั่นกับการทำธุรกรรมผ่านสาขาธนาคาร และมีเพียง 3% เท่านั้นที่เชื่อมั่นระบบ Business Correspondents[5] ทั้งนี้ ทาง RBI ได้พยายามผลักดันให้บริการทางการเงินสามารถเข้าถึงคนอินเดียได้ทั่วถึงมากขึ้นโดยใช้ระบบดิจิทัลเป็นหลัก ซึ่งคาดการณ์ได้ว่า Banking Agent ทั้ง 2 ประเภทจะเป็นตัวกลางสำคัญในการให้ความรู้เรื่องการทำธุรกรรมการเงินรูปแบบใหม่และเทคโนโลยีกับคนอินเดียทั้งในเมืองและตามชนบทได้เป็นอย่างดี ซึ่งสามารถนำไปสู่การที่ประชาชนจะเข้าถึงบริการทางการเงินที่หลากหลายและสะดวกมากขึ้น

 

ความท้าทายของผู้ให้บริการทางการเงิน

 

จากกรณีศึกษาในต่างประเทศที่นำรูปแบบ Banking Agent มาปรับใช้ พบว่า ในส่วนของธนาคารพาณิชย์จะได้รับประโยชน์ในเรื่องของต้นทุนที่ลดลงจากการที่ไม่ต้องขยายสาขาและการจ้างพนักงานเพิ่ม     การเข้าถึงลูกค้าได้หลากหลายและสามารถให้บริการลูกค้าได้ทั่วถึงมากขึ้น รวมถึงการที่ธนาคารสามารถพัฒนากลยุทธ์ในด้านอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น ระบบสินเชื่อ ระบบการจ่ายเงินแบบ QR อย่างไรก็ตาม การมี Banking Agent ก็สร้างผลกระทบให้กับธนาคารพาณิชย์อยู่ไม่น้อย ซึ่งก็คือ การหา Banking Agent ในช่วงแรก ธนาคารอาจต้องลงทุนมากเป็นพิเศษเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ Banking Agent ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์สำหรับการให้บริการทางการเงิน การจัดฝึกอบรม รวมถึงค่าธรรมเนียมที่อาจเรียกเก็บจาก Banking Agent ในอัตราส่วนที่น้อยกว่า

 

ส่วน Banking Agent จะได้รับประโยชน์ในเรื่องของส่วนแบ่งค่าธรรมเนียม ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่จะเข้ามามากขึ้น ซึ่งทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทั้งนี้ CGAP[6] พบว่าสิ่งที่ Banking Agent จะต้องพิจารณาคือต้นทุนต่างๆ จากการให้บริการ เช่น ต้นทุนในการรักษาสภาพคล่องของเงิน ต้นทุนพื้นที่ของการให้บริการ ต้นทุนเวลาและค่าจ้างพนักงานในการให้บริการ เป็นต้น  นอกจากนี้  แรงจูงใจที่ธนาคารพาณิชย์จะให้กับ Banking Agent ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ค่าธรรมเนียมที่ตรงกับความต้องการของ Banking Agent การสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามาฝากเงินกับ Banking Agent มากขึ้น รวมถึงการสนับสนุนด้านต้นทุนต่างๆ เพื่อให้ Banking Agent ยังคงดำเนินการแทนธนาคารพาณิชย์ต่อไป[7]

 

picture.png

 



[1] ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. 3/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์
[2] สำหรับการแต่งตั้งบุคคลธรรมดา ธนาคารพาณิชย์จะต้องขออนุญาตธปท. เป็นรายกรณี
[3] บริการที่จ่ายเงินหรือแคชเชียร์เช็คให้กับนิติบุคคลองค์กร หรือวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
[4] World Bank Group Global Knowledge & Research Hub in Malaysia (2017), “Financial Inclusion in Malaysia Distilling Lessons for Other countries”
[5] Asian Development Bank Institute (2014), “Financial Inclusion in Asia Country Survey.”
[6] CGAP คือองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาจากความร่วมมือขององค์กรชั้นนำระดับโลก 34 แห่งที่ต้องการให้กลุ่มคนที่ด้อยโอกาสหรือปัจจัย ทางการเงินสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้
[7] Tarazi, Michael, and Paul Breloff (2011) “Regulating Banking Agents.” Focus Note 68. Washington, D.C.: CGAP, March.

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ