SHARE
FLASH
16 พฤษภาคม 2018

กนง. คงดอกเบี้ย แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเข้ากรอบเป้าหมายได้

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 16 พฤษภาคม 2018 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม คณะกรรมการฯ ยังมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป และจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

ผู้เขียน: วชิรวัฒน์ บานชื่น 

 

Analysis.png

keypoint.jpg

    • ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ ธนาคารแห่งประเทศไทย วันที่ 16 พฤษภาคม 2018 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยในการประชุมครั้งนี้ กรรมการ 1 ท่านลาประชุม คณะกรรมการฯ ยังมองว่าการคงอัตราดอกเบี้ยจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไป และจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทรงตัวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

    • กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และดีกว่าที่ประเมินไว้ในการประชุมครั้งก่อน กล่าวคือ การส่งออกและท่องเที่ยวที่ขยายตัวตามเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญ พร้อมทั้งอุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้เดิม อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ กนง. กังวลและติดตามยังคงเป็นเรื่องการใช้จ่ายในประเทศที่ยังขยายตัวในระดับต่ำ เพราะกำลังซื้อยังไม่กระจายตัวไปสู่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเท่าที่ควร ขณะที่การจ้างงานยังกระจุกตัวในบางกลุ่มอุตสาหกรรม และภาระหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังมีอยู่มาก

    • กนง. มองอัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามที่ได้ประเมินไว้ ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น โดย กนง. ได้ระบุว่าการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น แต่ราคาอาหารสดที่อยู่ในระดับต่ำจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ นอกจากนี้ ยังคงระบุว่าอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง อาทิ ธุรกิจ e-commerce และการแข่งขันด้านราคา สำหรับคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชน กนง. พบว่าโดยรวมปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นมาจากการประชุมครั้งก่อน

    • กนง. ประเมินว่าภาวะตลาดการเงินโดยรวมยังคงผ่อนคลาย และลดความกังวลด้านอัตราแลกเปลี่ยนลงในการสื่อสารครั้งนี้ โดยระบุว่า เงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับอ่อนค่าลง ขณะที่เงินบาทเทียบสกุลเงินของประเทศคู่ค้าคู่แข่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัย และในระยะข้างหน้าอัตราแลกเปลี่ยนยังมีแนวโน้มผันผวน ซึ่งต่างจากการประชุมครั้งก่อนที่ระบุว่า ค่าเงินบาทมีความผันผวนสูงขึ้นและยังมีแนวโน้มผันผวนต่อไป สำหรับภาวการณ์เงินด้านอื่นๆ กนง. ยังคงการสื่อสารที่คล้ายเดิม กล่าวคือ สภาพคล่องในระบบยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อขยายตัวเพิ่มขึ้น และระบบการเงินโดยรวมยังคงมีเสถียรภาพ

 

Implication.png

886_20100622103105.gif

อีไอซีคาด กนง. คงดอกเบี้ยต่อเนื่องในปี 2018

  • อีไอซีคาดว่า กนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ต่อเนื่องในปี 2018 แม้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนล่าสุดจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ แต่อีไอซีคาดว่า กนง. จะไม่รีบขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายโดยทันที โดยในการประชุมครั้งนี้ กนง. กล่าวว่า นโยบายการเงินจะมีส่วนช่วยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายได้ “อย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นคำที่เพิ่มเติมเข้ามาจากการประชุมครั้งก่อน จึงสะท้อนการสื่อสารของ กนง. ได้ว่า การที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจนส่งผลให้
    เงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้ากรอบเป้าหมายนั้นอาจจะไม่เพียงพอต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่คงต้องเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนของปัจจัยด้านอุปสงค์ซึ่งอาจสะท้อนจากเงินเฟ้อพื้นฐานด้วย

  • อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่ กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 1 ครั้งในช่วงปลายปี หาก 1) เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องและช่องว่างการผลิตปิดลง พร้อมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทรงตัวภายในกรอบเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หรือ 2) ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน และพบปัญหาเป็นวงกว้างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ (macroprudential policy) ก็อาจทำให้ กนง. จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ สำหรับประเด็นความกังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่กระจายตัวและหนี้ครัวเรือนที่สูงนั้น กนง. ได้สื่อสารว่าปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ด้วยนโยบายเชิงโครงสร้าง จึงไม่ควรคาดหวังว่า กนง. จะคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำต่อเนื่องจนกว่ากำลังซื้อจะกระจายตัว

  • อีไอซีมองว่าวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในรอบนี้จะเป็นการปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น กนง. จะประเมินผลกระทบอย่างถี่ถ้วน เพื่อไม่ให้การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายส่งผลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของผู้ร่วมตลาด

 

ตารางสรุปคำแถลงการณ์ของ ธปท. เทียบกับการประชุมครั้งก่อน 

 

หัวข้อ

 

การประชุมครั้งก่อน

(28 มี.ค. 2018)

 

การประชุมครั้งนี้

(16 พ.ค. 2018)

เศรษฐกิจไทย


เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าและบริการที่โตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง และหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจและยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ด้านการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ทั้งนี้ ความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ มาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์


เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงส่งจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก แม้ว่าการจ้างงานมีสัญญาณปรับดีขึ้นแต่การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งเนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ได้ส่งผลดีต่อรายได้ครัวเรือนและการจ้างงานอย่างทั่วถึง อีกทั้งหนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องโดยได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากโครงการภาครัฐ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงจากการเบิกจ่ายที่อาจล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ ความเสี่ยงภายนอกที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง อาทิ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

สถานการณ์เงินเฟ้อ


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้าน อุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต


อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นช้ากว่าที่ประเมินไว้เดิมเล็กน้อยจากราคาอาหารสดที่ลดลงมากกว่าคาด ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้าน อุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ความเสี่ยงที่ กนง. ติดตาม


1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ

2. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ

2. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มติ 6 ต่อ 1 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50% (กรรมการ 1 ท่านลาประชุม)

เหตุผลของกนง.


การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ แต่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการเงินเฟ้อ นโยบายการเงินจึงควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง


การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยด้านต่างประเทศ แต่ยังต้องติดตามความเข้มแข็งของการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการเงินเฟ้อที่ต้องเข้าสู่กรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน นโยบายการเงินจึงควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง

 

 

EIC_Infographic_policy_rate2018_May-01.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ