SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 เมษายน 2018

อีคอมเมิร์ซกับการพัฒนาเศรษฐกิจจีน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

Outlook_TH_Q2_2018_BoxPic FC4.jpg

 

 

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดอีคอมเมิร์ซมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจีน โดยอีคอมเมิร์ซมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน นอกจากนี้ ภาครัฐและภาคเอกชนจีนยังได้ยกระดับการบริการด้านการเงินและการขนส่งควบคู่ไปกับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ในปัจจุบัน จีนเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านการเงินและโลจิสติกส์แห่งหนึ่งของโลก

สัดส่วนและการขยายตัวของการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นปัจจัยสนับสนุนการบริโภคในจีนในระยะ 10 ปีที่ผ่านมาศูนย์วิจัย AliResearch รายงานว่า ในปี 2016 จีนมีผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ 467 ล้านคน คิดเป็น 64% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั้งหมด1 โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการบริโภคสินค้าออนไลน์ในจีนมีอัตราการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยราว 55% ต่อปี (รูปที่ 25) และในปี 2016 ยอดค้าปลีกออนไลน์ขยายตัวอย่างรวดเร็วที่ 26%YOY ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตของยอดค้าปลีกภายในประเทศกว่า 3 เท่า และสัดส่วนของการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 0.6% ในปี 2007 เป็น 16% ในปี 2016 นอกจากนี้ อีคอมเมิร์ซยังมีส่วนช่วยลดข้อจำกัดการเข้าถึงสินค้าในพื้นที่ชนบทของจีนและทำให้ยอดค้าปลีกในพื้นที่ชนบทจีนมีการเติบโตสูงกว่ายอดค้าปลีกในตัวเมืองตั้งแต่ปี 2013 (รูปที่ 26) ดังนั้น การขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของการบริโภคผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซจึงเป็นฟันเฟืองหนึ่งที่ทำให้การบริโภคภายในประเทศจีนโตต่อเนื่องเป็นตัวเลขสองหลัก

 

รูปที่ 1: ยอดค้าปลีกออนไลน์ของจีนขยายตัวเฉลี่ย 55% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

ยอดค้าปลีกออนไลน์ของจีน 2007-2016

หน่วย: ล้านล้านหยวน

 

 

Outlook_TH_Q2_2018_Box FC2.jpg

 

 

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ AliResearch

 

รูปที่ 2: ยอดค้าปลีกในพื้นที่ชนบทของจีนเติบโตสูงกว่าในตัวเมืองตั้งแต่ปี 2013

ค้าปลีกในตัวเมืองและในพื้นที่ชนบทของจีน 2010-2017

หน่วย: %YOY

 

Outlook_TH_Q2_2018_Box FC3.jpg

 

 

ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ National Bureau of Statistics of China

 

นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกตั้งแต่ปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่การค้าข้ามพรมแดนผ่านอีคอมเมิร์ซเริ่มมีบทบาทในภาคการส่งออกจีนมากขึ้น ในปี 2010-2016 การค้าข้ามพรมแดนผ่านอีคอมเมิร์ซขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 33% (รูปที่ 27) โดยมีสัดส่วนต่อการค้าข้ามพรมแดนทั้งหมดเพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2010 เป็น 28% ในปี 2016 และศูนย์วิจัย AliResearch คาดว่า ต่อมาในปี 2020 สัดส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 38%2 แสดงให้เห็นว่าการค้าข้ามพรมแดนผ่านอีคอมเมิร์ซจะเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนการส่งออกจีนและส่งเสริมศักยภาพของจีนในการเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ของโลกต่อไปในอนาคต

 

รูปที่ 3: การค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซขยายตัวเฉลี่ย 33% ใน 5 ปีที่ผ่านมา

มูลค่าการค้าข้ามพรมแดนผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและอัตราการเติบโตเฉลี่ย 2010-2016

หน่วย: ล้านล้านหยวน

Outlook_TH_Q2_2018_Box FC4.jpg

 

ที่มา: การวิเคราะห์ของอีไอซีจากข้อมูลของ UNIDO

 

การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และการบริการด้านโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญสำหรับการทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซในจีน การขาดความเชื่อมั่นในระบบการชำระเงินออนไลน์และระบบขนส่งสินค้าที่ไม่ครอบคลุมทั้งประเทศเป็นอุปสรรคหลักในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาอีคอมเมิร์ซจีน ในช่วงปี 2004-2005 ภาคเอกชนของจีน นำโดย Alibaba จึงได้พัฒนาการบริการชำระเงินออนไลน์ที่เชื่อถือได้และระบบการขนส่งสินค้าที่ทันสมัย พร้อมกับการสนับสนุนด้านนโยบายของรัฐบาลในการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสำหรับธุรกิจออนไลน์ การยกระดับการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และระบบการขนส่งเป็นผลดีต่อทั้งร้านค้าและผู้บริโภคออนไลน์ โดยมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 125.7 พันล้านหยวนในปี 2008 เป็น 1.3 ล้านล้านหยวนในปี 20123 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่า ปัจจุบัน การบริการชำระเงินออนไลน์ของจีนมีความก้าวหน้าอย่างมากและจีนได้ต่อยอดพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเงินให้ครอบคลุมไปถึงการบริการด้านสินเชื่อ การบริหารสินทรัพย์ และการประกันภัย ในขณะที่ระบบโลจิสติกส์ของจีนมีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก โดยจีนได้นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการให้บริการขนส่งสินค้าเพื่อลดขั้นตอนและลดต้นทุนในการส่งสินค้า

 

 

1 AliResearch, “Inclusive Growth and E-commerce: China’s Experience”, April 2017

2 AliResearch, “Inclusive Growth and E-commerce: China’s Experience”, April 2017
3 Hongfei, “National Report on E-commerce Development in China”, UNIDO, 2017

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ