SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 เมษายน 2018

ส่องยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนจีนผ่านกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

Outlook_TH_Q2_2018_Box AS1.jpg

 

กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (LMC: Lancang-Mekong Cooperation) เป็นยุทธศาสตร์ของจีนสำหรับการเพิ่มบทบาทด้านการค้าการลงทุนเข้ามาในกลุ่มประเทศอาเซียนบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย (รูปที่ 3) นับเป็นการเพิ่มบทบาทและอิทธิพลของจีนอย่างเป็นทางการในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง นอกจากจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้จีนสามารถมาลงทุนในโครงการต่างๆ ตลอดเส้นทางที่ลุ่มแม่น้ำโขงไหลผ่านแล้ว ยังเป็นการขยายอิทธิพลของจีนเพื่อเตรียมปูทางสำหรับการลงทุนภายใต้นโยบายแถบเศรษฐกิจและเส้นทาง (BRI: Belt and Road Initiative) ในภูมิภาค ASEAN ให้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์โดยตรงในแง่ของปริมาณการค้าการลงทุนในโครงการย่อยต่างๆ ที่จะตามมาอาทิ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ การขนส่งสินค้าทางเรือ การค้าข้ามแดนในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคโดยเฉพาะหมวดอาหารและผลไม้ เป็นต้น โดยจีนได้จัดตั้งคณะกรรมมาธิการแม่น้ำโขง (MRC: Mekong River Commission) ซึ่งมีหน้าที่ศึกษาการบริหารจัดการและการพัฒนาที่ยั่งยืนบนลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งศึกษาผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสำหรับประเทศสมาชิกด้วย ซึ่งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างหรือ LMC นี้ถูกเสนอขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2014 โดยนายกรัฐมนตรีจีน หลี่เค่อเฉียง ในเวทีประชุมผู้นำจีน-อาเซียนที่เมียนมา ทั้งนี้ ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2018 ไทยได้รับรองเอกสารผลลัพธ์แผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี สำหรับกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ซึ่งกำหนดแนวทางความร่วมมือในระยะ 5 ปีข้างหน้า และเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของไทยและประเทศสมาชิกในการประสานความร่วมมือทั้ง 3 เสาหลัก ได้แก่ 1) การเมือง 2) การพัฒนาเศรษฐกิจและความยั่งยืน และ 3) การแลกเปลี่ยนทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาชนทั้ง 6 ประเทศสมาชิก

 

อีไอซีมองว่าการเข้ามามีอิทธิพลของจีนภายใต้กรอบความร่วมมือ LMC นี้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญของจีนในการเข้ามาคานอำนาจและขยายอิทธิพลแข่งกับญี่ปุ่น ซึ่งมีโครงการ Greater Mekong Subregion (GMS) ด้วยเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาจาก Asian Development Bank (ADB) ซึ่งมีญี่ปุ่นเป็นหัวเรือใหญ่ เนื่องจากกลุ่มประเทศ CLMV และไทย เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีต่อเนื่องและยังต้องการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ อีกมาก โดย LMC จะเป็นหนึ่งในตัวกลางที่ช่วยให้จีนขยายธุรกิจด้านพลังงานน้ำ ถ่านหิน การสร้างถนนและท่าเรือตลอดเส้นทางภายใต้นโยบาย BRI และช่วยส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยจีนในอนาคตได้เป็นอย่างดี

 

รูปที่ 1: 6 ประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (LMC: Lancang-Mekong Cooperation)

 

Outlook_TH_Q2_2018_Box AS.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ