SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 เมษายน 2018

เจาะลึกเศรษฐกิจไทย ปี 2018 (ไตรมาส 2/2018)

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


สรุปแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2018

อีไอซีมองเศรษฐกิจไทยปี 2018 โตต่อเนื่องที่ 4.0%YOY ตามกำลังซื้อจากต่างประเทศและการลงทุนที่ฟื้นตัว ด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจโลกที่ยังคงแข็งแกร่งและความเสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในประเทศสำคัญที่มีน้อยลง ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าของไทยจึงจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในปีนี้ ทั้งนี้ จะเห็นได้จากการเติบโตอย่างสดใสในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2018 โดยการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น 15.0%YOY ขณะที่มูลค่าการส่งออกยังคงเติบโตได้สูงที่ 13.8%YOY การเติบโตดังกล่าวส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนมีการขยายตัวในส่วนของเครื่องมือเครื่องจักรเป็นสำคัญ สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 2 เดือนแรกที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 17.7%YOY นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนยังมีปัจจัยบวกเพิ่มเติมจากการขยายตัวของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะความชัดเจนของโครงการ EEC ที่เพิ่มขึ้นหลังพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกผ่านการอนุมัติให้เป็นกฎหมาย อีกทั้งประเด็นความกังวลเรื่องการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวก็ได้คลี่คลายลงไปหลังมีการเลื่อนบังคับใช้บทลงโทษใหม่จากกำหนดการเดิม วันที่ 1 มกราคม 2018 เป็น 1 กรกฎาคม 2018 รวมถึง
มีการปรับลดบทลงโทษลงทั้งการลดเพดานค่าปรับและการยกเลิกโทษจำคุก

การใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศขยายตัวได้ต่อเนื่องแต่มีแนวโน้มกระจุกตัว การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเป็นสำคัญ สะท้อนจากดัชนีการบริโภคสินค้าคงทนแบบปรับฤดูกาลในช่วงเดือนแรกของปีที่เพิ่มขึ้น 9.0%YOY นำโดยยอดขายรถยนต์นั่งที่เติบโตสูงถึง 27.3%YOY อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของผู้บริโภคยังมีแนวโน้มกระจุกตัวสะท้อนจากการบริโภคในกลุ่มสินค้าไม่คงทนยังคงขยายตัวต่ำโดยขยายตัวได้เพียง 0.9%YOY ในช่วงเดียวกัน เนื่องจากอัตราการว่างงานยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้น โดยใน 2 เดือนแรกของปี 2018 อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยยังคงเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.3% ต่อกำลังแรงงานรวม ขณะที่จำนวนผู้มีงานทำแบบล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) ก็ลดลง -0.4%YOY ในช่วงเดียวกัน การชะลอตัวของตัวชี้วัดดังกล่าวสะท้อนถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ส่งผ่านถึงตลาดแรงงานมากนัก ขณะที่ในส่วนของรายได้ภาคเกษตรแบบปรับฤดูกาลใน 2 เดือนแรกของปีก็มีการหดตัวลงที่ -5.6%YOY จากราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ ดัชนีราคาสินค้าเกษตรแบบปรับฤดูกาลมีการหดตัวมาแล้ว 10 เดือนติดต่อกัน รายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนักประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้แนวโน้มกำลังซื้อภาคครัวเรือนในหลายส่วนยังมีข้อจำกัด ภาคธุรกิจที่ต้องพึ่งพาผู้บริโภคในประเทศเป็นหลักอาจต้องเผชิญกับภาวะกำลังซื้อที่ไม่ได้เติบโตสูงมากซึ่งอาจทำให้การบริโภคในประเทศมีแนวโน้มกระจุกตัวในกลุ่มสินค้าที่พึ่งพาผู้มีรายได้สูง อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้มีการออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยบางกลุ่มแล้ว คาดว่า
จะสามารถช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายได้อย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี

จับตาความเสี่ยงในภาคการส่งออกที่เพิ่มขึ้น อีไอซีมองว่าภาคการส่งออกมีความเสี่ยงเพิ่มสูงขึ้นในปี 2018 จากค่าเงินบาทในปัจจุบันที่แข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าสำคัญสะท้อนจากดัชนี Real effective exchange rate (REER) ที่เพิ่มขึ้นราว 5% ตั้งแต่ต้นปี 2017 โดยอีไอซีมองว่าการแข็งค่าโดยเปรียบเทียบนั้นจะกระทบกับกลุ่มสินค้าเกษตรเป็นสำคัญ เนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์มีความเสี่ยงที่จะถูกทดแทนได้ง่าย อีกทั้งธุรกิจนี้ยังมีสัดส่วนการนำเข้าน้อยและอัตรากำไรไม่สูงมากนัก ทำให้ความเสี่ยงต่อกำไรในภาพรวมมีมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้เริ่มดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าในบางสินค้าแล้วและยังมีแนวโน้มที่จะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม รวมไปถึงความเสี่ยงที่สถานการณ์จะบานปลายไปเป็นสงครามทางการค้าระหว่างประเทศหากมีมาตรการตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อการคาดการณ์การเติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ 5.0% ของอีไอซี

 

อีไอซีมองอัตราดอกเบี้ยนโยบายนิ่งตลอดปีที่ 1.50% เนื่องจากการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงมีลักษณะกระจุกตัวและแรงกดดันจากเงินเฟ้อก็ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอีไอซีมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับเพิ่มขึ้นเพียงช้าๆ เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 1.1% อย่างไรก็ดี อีไอซีมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ กนง. อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะการเงินที่ผ่อนคลายซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบทางเศรษฐกิจได้

 

 

Outlook_TH_Q2_2018_TH_Overview.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ