SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 เมษายน 2018

เศรษฐกิจสหรัฐฯ: เงินเฟ้อกลับมา พร้อมจับตานโนบายกีดกันทางการค้า

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


เศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2017 ขยายตัวตามตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจขยายตัว 2.3%YOY ด้วยแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 2.7%YOY และการลงทุนภาคเอกชนที่ 3.2%YOY เป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรของภาคการผลิต การขนส่ง และด้าน IT รวมถึงการลงทุนของภาคพลังงาน นอกจากนี้ อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องแตะ 4.1% ในเดือนมกราคม 2018 ต่ำสุดในรอบ 17 ปี


อีไอซีปรับคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2018 ขึ้นเป็น 2.6% จากเดิม 2.3% โดยปัจจัยหลักมาจากผลของการปฏิรูปภาษีที่บังคับใช้ในปีนี้ทำให้หลายบริษัทในสหรัฐฯ มีกำไรมากขึ้นจากการเสียภาษีนิติบุคคลที่น้อยลง ซึ่งส่งผลให้หลายบริษัทได้ออกมาประกาศแผนการลงทุนเพิ่มเติม รวมถึงปรับขึ้นค่าแรงและโบนัสให้พนักงาน ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคบางกลุ่มก็มีกำลังซื้อมากขึ้นจากการเสียภาษีบุคคลธรรมดาน้อยลง ซึ่งส่งผลดีต่อการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมและรายได้ของบริษัท ด้านแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของทรัมป์ที่มีมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังต้องรอการเห็นชอบจากสภาคองเกรสนั้น หากผ่านได้สำเร็จก็จะเป็นอีกแรงกระตุ้นของเศรษฐกิจในระยะต่อไป

สัญญาณเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่กลับมา สนับสนุนให้ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยได้ 3 ครั้งในปีนี้ อีไอซีมองว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นในปี 2018 โดยมีผลจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นตามตลาดแรงงานที่ตึงตัวต่อเนื่อง ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูงกว่าปีก่อน รวมถึงปัจจัยเฉพาะชั่วคราวโดยเฉพาะผลของการปรับลดค่าโทรศัพท์ในปีก่อนจะเริ่มหายไป ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น 2.9%YOY ในเดือนมกราคม ขยายตัวสูงสุดในรอบมากกว่า 8 ปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนมกราคมก็เร่งขึ้น 0.4%MOM พร้อมกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน CPI ก็เพิ่มขึ้น 0.35%MOM ซึ่งเป็นการเร่งตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2005 สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนว่าเงินเฟ้อมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นซึ่งจะสนับสนุนให้ Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้อีก 2 ครั้งในปีนี้หลังจากปรับขึ้นมาแล้ว 1 ครั้งในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2018 อยู่ในช่วง 2.00-2.25%

การกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มรุนแรงขึ้น หลังมาตรการเซฟการ์ดเก็บภาษีนำเข้าเครื่องซักผ้า แผงโซลาร์ เหล็กกล้าและอะลูมิเนียม เกิดขึ้นแล้วในไตรมาสแรก ตามที่ีทรัมป์เริ่มหันมาผลักดันนโยบายกีดกันทางการค้าอย่างจริงจังในปีนี้ ยังมีนโยบายสำคัญที่อยู่ในระหว่างการสอบสวนและอาจมีผลในปีนี้ ได้แก่ มาตรการทางภาษีสำหรับยางวงและกรดซิตริกซึ่งไทยเป็นหนึ่งประเทศที่โดนสอบสวน และการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวอาจสร้างความกดดันให้ประเทศอื่นๆ ออกมาตรการมาตอบโต้และนำไปสู่สงครามการค้า (trade war) โลกได้ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจับตามองในปีนี้ต่อไป (อ่านเพิ่มเติมที่ Box: จับตามาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯที่อาจมีผลต่อไทย)

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • แนวโน้มนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นในปีนี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้แล้ว ความเคลื่อนไหวของ Fed จึงอาจไม่ส่งผลต่อดัชนีค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในทิศทางอ่อนค่ามากนัก ทำให้ค่าเงินบาทจะยังแข็งค่าอยู่ในกรอบ 30-31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2018

  • การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ในช่วง 2 เดือนแรกของปี เติบโตดีที่ 8.2%YOY อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยไปสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงราว 650 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าราว 2.4% ของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ จากผลของมาตรการเซฟการ์ดเก็บภาษีการนำเข้าเครื่องซักผ้าและแผงโซลาร์

  • แรงจูงใจจากการปฏิรูปภาษีอาจมีผลให้บริษัทสหรัฐฯ ตัดสินใจเลือกลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น ขณะที่อาจชะลอการออกไปลงทุนใน
    ต่างประเทศรวมถึงไทยลง นอกจากนี้ประเด็นการกีดกันทางการค้าก็อาจส่งผลให้บริษัทสัญชาติอื่นๆ ต้องปรับเปลี่ยนแผนการผลิตในไทยเพื่อส่งออก เช่น ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าสัญชาติเกาหลีอย่าง Samsung และ LG ที่อยู่ในไทย จะต้องยกเลิกส่วนที่ผลิตเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ลง
    โดยเปลี่ยนไปผลิตส่วนดังกล่าวในโรงงานที่ตั้งอยู่สหรัฐฯ แทน

 Outlook_TH_Q2_2018_US.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ