SHARE
SCB EIC ARTICLE
03 เมษายน 2018

เศรษฐกิจญี่ปุ่น: BOJ เน้นย้ำการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 2017 ขยายตัว 1.6%QOQ SAAR1 หรือ 2%YOY ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งปี 2017 เติบโต 1.7%YOY โดยถือเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2013 ด้วยแรงสนับสนุนหลักจากการส่งออกและการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งกลับมาเติบโต 6.8%YOY และ 1.1%YOY ตามลำดับ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ยังส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ระดับ 1%YOY โดยมาจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก แต่ยังคงต่ำกว่าระดับเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 2%

อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวต่อเนื่องในปี 2018 ด้วยแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่จะกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ตัวเลขอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบหลายปีที่ 2.4% ณ เดือนมกราคม บวกกับอัตราเงินเฟ้อที่จะได้แรงสนับสนุนจากราคาน้ำมันโลก นอกจากนี้ การส่งออกซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องตามอุปสงค์โลกจะเป็นอีกแรงผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตถึง 1.4%YOY ในปีนี้ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ยังคงเป็นเรื่องค่าแรงที่ฟื้นตัวช้าเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลลบต่ออัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปโดยทิศทางการฟื้นตัวของค่าแรงจะชัดเจนขึ้นหลังผลการเจรจาค่าจ้างประจำปีในฤดูใบไม้ผลิ (Spring Wage Negotiation) ภายในเดือนเมษายนนี้

อีไอซีมองว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปในปี 2018 อย่างไรก็ดี หากตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี และเงินเฟ้อส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้น อีไอซีคาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเริ่มลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินโดยสามารถปรับความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield curve) ให้มีความชันขึ้นเล็กน้อย ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจมากนัก เนื่องจากต้นทุนทางการเงินไม่ได้ปรับสูงขึ้นมาก และเป็นการเพิ่มเสถียรภาพให้กับธุรกิจธนาคารและประกันจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่เพิ่มขึ้น

ท่าทีของ BOJ อาจเป็นต้นเหตุหลักของความผันผวนในเศรษฐกิจและตลาดการเงินญี่ปุ่นปีนี้ ทิศทางการดำเนินนโยบายของ BOJ ถูกคาดการณ์ว่าจะไม่เปลี่ยนไปจากปี 2017 อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสการถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ และยูโรโซน ความท้าทายสำคัญสำหรับ BOJ ในปี 2018 จะเป็นเรื่องการสื่อสารนโยบายการเงินต่อตลาดการเงิน โดยหาก BOJ มีการประกาศลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล อาจทำให้เงินเยนเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ เกิดแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการแข็งค่าของเงินเยนอาจส่งผลลบต่อภาคส่งออก รวมถึงการฟื้นตัวของเงินเฟ้อในระยะต่อไป

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • เงินเยนทยอยแข็งค่าขึ้นเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2018 เนื่องจากเงินเยนยังคงสถานะเป็นสกุลเงินปลอดภัย ซึ่งมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินโลก โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2018 เงินเยนจะอยู่ที่ระดับ 109 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

  • การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นขยายตัว 33.9%YOY ในช่วง 2 เดือนแรกของปีโดยสินค้าส่งออกหลักจากไทยไปญี่ปุ่น ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ
    ไก่แปรรูป อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักรกล การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่นทำให้การส่งออกไปญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตดีต่อเนื่องในปี 2018

  • ในปี 2017 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีมูลค่ายื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 47% ของเงินลงทุนที่ขอส่งเสริมทั้งหมด นำโดยโครงการขนาดใหญ่ เช่น กิจการผลิตรถยนต์ และเคมีภัณฑ์ ทั้งนี้ ภาครัฐไทยมีความพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2018 ภาครัฐและบีโอไอได้ร่วมจัดสัมมนาส่งเสริมการลงทุนที่เมืองฟุกุโอกะรวมทั้งเข้าหารือกับบริษัทใหญ่ในญี่ปุ่น โดยคาดหวังเม็ดเงินลงทุน และมุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีในการบริการด้านสุขภาพ และในกระบวนการผลิต

 

Outlook_TH_Q2_2018_JP.jpg

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ