SHARE
SCB EIC ARTICLE
12 มีนาคม 2018

US tax reform : การปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ และนัยต่อการดึงดูดการลงทุนเข้าสู่สหรัฐฯ

กฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ (หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า Tax Cuts and Jobs Act) ได้ถูกผลักดันให้แล้วเสร็จหลังประธานาธิบดี Donald Trump ลงนามเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2017 โดยมีสาระสำคัญคือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 21% จาก 35% นับว่าเป็นการลดภาษีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Ronald Reagan

ผู้เขียน: อมรเทพ พิภพศิริรัตน์

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมีนาคม 2018

 

iStock-866779874.jpg

 

 

“The world is witnessing the resurgence of a strong and prosperous America.  I’m here to deliver a simple message:  There has never been a better time to hire, to build, to invest, and to grow in the United States. America is roaring back, and now is the time to invest in the future of America.  We have dramatically cut taxes to make America competitive."

 

 

ที่มา : Donald Trump, World Economic Forum Congress Centre, Davos, Switzerland (January 2018)

 

 

ทำไมสหรัฐฯ ถึงต้องปฏิรูปภาษี?

กฎหมายปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ (หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า Tax Cuts and Jobs Act) ได้ถูกผลักดันให้แล้วเสร็จหลังประธานาธิบดี Donald Trump ลงนามเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2017 โดยมีสาระสำคัญคือ การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 21% จาก 35% นับว่าเป็นการลดภาษีครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดี Ronald Reagan

 

จุดประสงค์หลักข้อแรกของการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ คือ ต้องการดึงบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ที่ได้เคยออกไปลงทุนในต่างประเทศให้กลับมาลงทุน และนำผลประกอบการที่ได้จากต่างประเทศกลับเข้าสหรัฐฯ มากขึ้น โดยรัฐบาลได้ปรับเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีจาก Worldwide Tax System1 เป็น Territorial Tax System2 ทำให้บรรษัทเหล่านี้สามารถนำผลกำไรกลับเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษี ยกเว้นครั้งแรกที่นำกลับมานั้นจำเป็นต้องเสียภาษีพิเศษหนึ่งครั้งด้วยอัตรา 15.5% สำหรับสินทรัพย์ที่เป็นเงินสดและ 8% สำหรับสินทรัพย์ที่ไม่ใช่เงินสด นอกจากนี้ ในกรณีที่เป็นบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ ที่ถือหุ้นบริษัทต่างชาติอย่างน้อย 10% บรรษัทเหล่านั้นสามารถนำเงินปันผลกลับเข้าประเทศได้โดยไม่ต้องจ่ายภาษี ทั้งนี้ อีกจุดประสงค์หนึ่งคือ ต้องการให้มีการลงทุนในประเทศมากขึ้น ทั้งจากการลงทุนของชาวสหรัฐฯ เองและการลงทุนของชาวต่างชาติ

           

การปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ส่งผลต่อการลงทุนโดยตรงจากทั่วโลก (FDI) เข้าสู่สหรัฐฯ อย่างไร?

ในช่วงก่อนการปฏิรูปภาษี การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้าสู่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 29%YOY ต่อปีในช่วงปี 2010-2015 แต่เริ่มลดลงปี 2016 ซึ่งประเทศหลักที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ ญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส สเปน และออสเตรเลีย และประเภทธุรกิจที่เข้าไปลงทุน ได้แก่ ภาคการผลิตเหล็ก ภาคข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาคสถาบันการเงิน และภาคการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

 

สำหรับช่วงหลังการปฏิรูปภาษีนั้น  คาดว่าจะมีการลงทุนจากประเทศที่มีอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate)3 ที่สูงกว่าของสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้น จากรายงานของสถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจชื่อดังของเยอรมนี4 ได้ทำการศึกษาผลของการลดอัตราภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ต่อมูลค่าการเข้าไปลงทุนของกลุ่มประเทศ EU ในสหรัฐฯ ในช่วงปี 2008-2012 และพบว่า กลุ่มประเทศใน EU จะเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นถึง 31.3% หรือประมาณ 4 แสนล้านยูโร เนื่องจากการปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงโดยเฉลี่ยของกลุ่มประเทศในยุโรปสูงกว่าของสหรัฐฯ (รูปที่ 1)    

 

ส่วนอินเดีย บรรษัทข้ามชาติของอินเดียที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม IT ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงดำเนินต่อไปและไม่นำกำไรกลับเข้าประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ส่วนกลุ่มประเทศอื่นๆ อย่างญี่ปุ่น หรือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนานั้นก็คาดว่า มีแนวโน้มที่จะเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน  ดังจะเห็นได้จากการประกาศของบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Toyota Motor Corporation ที่ร่วมมือกับ Mazda Motor Corporation ว่าจะมีการเข้าไปตั้งโรงงานเพิ่มในเมือง Hunstville รัฐ Alabama ในสหรัฐฯ ด้วยทุน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะจ้างพนักงานเพิ่มอีก 4,000 คน

 

สำหรับกลุ่มประเทศในอาเซียน มีการคาดการณ์ของ CBRE Group ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ ว่าบริษัทจากสิงคโปร์จะเพิ่มการลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการขนส่ง ในขณะที่มาเลเซียมีองค์กรบริหารกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ Khazanah Nasional ที่เคยลงทุนกับบริษัททางด้านเทคโนโลยีขั้นสูงในสหรัฐฯ อยู่แล้ว ประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มว่าจะลงทุนเพิ่มอีกเช่นกัน

 

รูปที่ 1 ตารางเปรียบเทียบอัตราภาษีที่แท้จริง 

pic_01png.png 

ที่มา : Effective Tax Rate, NYU Stern (ข้อมูลเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2018)

 

 

การปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ มีผลต่อบริษัทสหรัฐฯ อย่างไร?

การปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ในครั้งนี้ได้ทำให้หลายบริษัทสหรัฐฯ มีผลกำไรมากขึ้นจากการที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลน้อยลง อีกทั้งตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ก็มีการตึงตัวมากขึ้น จึงเป็นผลให้บริษัทเหล่านี้ออกมาประกาศว่า จะมีการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มโบนัสให้กับพนักงาน ยกตัวอย่างเช่น Walmart Inc. ได้ประกาศว่า จะมีการให้โบนัส 1 ครั้งให้กับพนักงานถึง 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 11 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง ซึ่งได้เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์นี้ นอกจากนี้ บริษัท AT&T และ Comcast ก็ได้มาประกาศเช่นกันว่า จะมีการเพิ่มโบนัส 1 ครั้งให้กับพนักงานมูลค่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

 

อีกทั้งการปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ยังมีรายละเอียดสำคัญเฉพาะบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ อย่างการเปลี่ยนระบบการจัดเก็บภาษีเป็น Territorial Tax System ส่งผลให้หลายบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เช่น Apple, Microsoft Corporation, Cisco Systems, Oracle Corporation ได้มีการประกาศว่าจะนำผลกำไรที่อยู่นอกสหรัฐฯ กลับมาในประเทศมากขึ้น ซึ่งมีการประมาณการว่าเม็ดเงินของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ ที่อยู่นอกประเทศมีมูลค่ารวมประมาณ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการคาดการณ์ว่า บริษัทสหรัฐฯ จะมีการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้พนักงานหรือการนำเงินกลับมามากขึ้น แต่การลงทุนของบริษัทเหล่านั้นในสหรัฐฯ อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมากอย่างที่รัฐบาลคาดการณ์ไว้ จากผลสำรวจของ Bank of America Merrill Lynch Global Research5 พบว่า  มีบริษัทเพียง 35% จากบริษัทสหรัฐฯ จำนวน 302 บริษัทที่จะนำไปจ่ายในเรื่องการลงทุนเพิ่ม (Capital Expenditure) ซึ่งมีบริษัทขนาดใหญ่บางบริษัทได้ประกาศแผนการลงทุนเพิ่มแล้ว เช่น Apple ที่มีแผนจะลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ กว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการสร้างสาขาใหม่ การสร้างศูนย์ข้อมูลและการจ้างงานเพิ่มอีกกว่า 20,000 คน อีกทั้ง Exxon Mobil Corporation ก็ได้ออกมาประกาศแผนการลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ ระยะเวลา 5 ปี ในการลงทุนด้านปริมาณการผลิตน้ำมัน การปรับปรุงโครงสร้างของสถานที่ผลิตและการจ้างงานเพิ่มอีกกว่าหลายพันคน

 

การปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ส่งผลต่อไทยหรือไม่?

จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าในช่วงก่อนการปฏิรูปภาษี มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ มาไทย (inflow) สูงสุดเป็นอันดับที่ 4 รองจากญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2017 มูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นราว 4.6%YOY อย่างไรก็ตาม หลังการปฏิรูปภาษีครั้งนี้อาจเป็นเหตุให้ปริมาณการลงทุนของสหรัฐฯ ในไทยอาจะลดลงได้ เนื่องจากนโยบายภาษีได้สร้างแรงจูงใจให้กับบรรษัทข้ามชาติของสหรัฐฯ หลายอย่าง ซึ่งล้วนนำไปสู่อัตราภาษีที่แท้จริงที่น้อยกว่าหลายประเทศ ซึ่งเป็นการดึงเม็ดเงินการลงทุนทางตรงกลับเข้าสู่สหรัฐฯ

 

สำหรับมูลค่าการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ ในช่วงหลังการปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ นั้นอาจเป็นไปได้ว่า จะมีการลงทุนของบริษัทไทยในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น เพราะนอกจากบริษัทไทยจะได้รับผลประโยชน์จากการเสียภาษีที่แท้จริงในอัตราที่น้อยลงแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ กำลังซื้อของชาวสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ได้ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดลงเหลือ 37% จาก 39.6% จนถึงปี 2025 จึงทำให้รายได้หลังหักภาษีของชาวสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณ 2.8% จากการคาดการณ์ของ Morgan Stanley research 6 และทำให้ชาวสหรัฐฯ มีกำลังซื้อที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับบริษัทไทยในการลงทุนเพิ่มในสหรัฐฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคของผู้บริโภคชาวสหรัฐฯ

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่บริษัทไทยจำเป็นต้องคำนึงถึง คือ ค่าแรงโดยเฉลี่ยในสหรัฐฯ ที่อาจสูงขึ้นเนื่องจากมีหลายบริษัทมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จากผลสำรวจของ the National Association of Manufacturers (NAM)7 พบว่ามี 52.2% ของบริษัทในภาคการผลิตจะเพิ่มค่าจ้างและสวัสดิการให้กับพนักงาน จึงอาจเป็นผลให้ค่าแรงโดยเฉลี่ยในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ต้นทุนของบริษัทไทยที่จะไปลงทุนในสหรัฐฯ สูงมากขึ้นด้วย 

 

ผลของการปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ในครั้งนี้เป็นนโยบายที่ได้เพิ่มขีดความสามารถของสหรัฐฯ ในการดึงดูดเม็ดเงินและการลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลก สำหรับมูลค่าการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ นั้น อาจมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น หากบริษัทไทยที่จะไปลงทุนในสหรัฐฯ นั้นสามารถเอาชนะปัจจัยลบอย่างต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น รวมถึงความเสี่ยงอื่นๆ ที่อาจเกิดจากการปฏิรูปภาษีสหรัฐฯ ได้ ทั้งนี้ ก็คงต้องจับตาดูต่อไปในระยะยาวว่า กำลังซื้อของชาวสหรัฐฯ หลังจากปี 2025 จะลดลงหลังการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหมดอายุลงหรือไม่ หรือรัฐบาลจะมีการขยายช่วงเวลาการปฏิรูปภาษีรวมถึงการออกนโยบายอื่นๆ เพื่ออำนวยผลประโยชน์ให้กับบริษัทไทยรวมถึงบริษัทต่างชาติที่ไปลงทุนในสหรัฐฯ ต่อไป



1 Bank of America Merrill Lynch Global Research (2017), “the 2017 Bank of America Merrill Lynch corporate risk management survey”
2 Morgan Stanley research (2017), “How Tax Reform May Impact U.S. Consumer Outlook”
3 Michael Short (2017), “NAM Survey: Tax Reform Will Supercharge Manufacturing Growth”

4 Worldwide System หรือ หลักเงินได้ทั่วโลก รัฐจะจัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐนั้นไม่ว่าจะได้รับเงินได้จากแหล่งภายในหรือภายนอกรัฐ หรือไม่ว่าผู้มีเงินได้นั้นจะมีสัญชาติของรัฐนั้นๆ หรือไม่ (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2016), “โครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนากฎหมายไทยเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีอากรระหว่างประเทศ”)
5 Territorial System หรือ หลักอาณาเขต รัฐจะจัดเก็บภาษีจากเงินได้ทุกประเภทที่เกิดขึ้นหรือที่ได้รับภายในดินแดนของรัฐตนเท่านั้นื โดยไม่คำนึงว่าผู้มีเงินได้จะมีสัญชาติใดและจะมีถิ่นที่อยู่ในรัฐที่เกิดเงินได้นั้นหรือไม่ (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (2016), “โครงการวิจัย เรื่อง การศึกษาเพื่อพัฒนากฎหมายไทยเพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีอากรระหว่างประเทศ”)
6 อัตราภาษีที่แท้จริง (Effective tax rate) คือ อัตราภาษีที่คำนวณจากสัดส่วนของภาษีที่จ่ายจริง (หลังหักรายได้ด้วยค่าลดหย่อนและการยกเว้นภาษี) ต่อรายได้รวม (ก่อนหักด้วยค่าลดหย่อนและการยกเว้นภาษี)
7 Zentrum fur Europaische Wirtschaftsforschung (2017), “Analysis of US Corporate Tax Reform Proposals and their Effects for Europe and Germany”

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ