SHARE
SCB EIC ARTICLE
02 มีนาคม 2018

ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยางพาราจากความสำเร็จในเออีซี สู่ทิศทางกลยุทธ์ของไทย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยางพาราประสบปัญหาจากราคาที่ตกต่ำ โดยราคายางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ในเดือนมกราคม 2016 นั้นลดลงเหลือเพียง 41.70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 14 ปี ดังนั้น ไทยจึงมีความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้นแต่กลับไม่ได้ส่งผลต่อราคายางพารามากนัก เนื่องจากการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตยางพารารวมทั่วโลกราว 13.2 ล้านตันในปี 2017 ส่งผลให้สต็อกของยางพาราโลกไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ ความพยายามจำกัดปริมาณส่งออกยางพาราที่แม้จะส่งผลต่อการปรับตัวของราคายางพาราในระยะสั้น แต่กลับทำให้สต็อกเพิ่มขึ้นในระยะกลางและกดดันต่อราคายางในระยะกลางต่อไปในขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ตามข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ โดยสองประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ เวียดนามและมาเลเซีย

ผู้เขียน: ภราดร หีมมุเด็น

เผยแพร่ในโพสต์ทูเดย์ วันที่ 2 มีนาคม 2018

 

iStock-639664000.jpg

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมยางพาราประสบปัญหาจากราคาที่ตกต่ำ โดยราคายางพาราแผ่นรมควันชั้น 3 ในเดือนมกราคม 2016 นั้นลดลงเหลือเพียง 41.70 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 14 ปี ดังนั้น ไทยจึงมีความพยายามในการแก้ปัญหาดังกล่าว ด้วยการส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศมากขึ้นแต่กลับไม่ได้ส่งผลต่อราคายางพารามากนัก เนื่องจากการสนับสนุนการใช้ยางพาราในประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นปริมาณที่น้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณผลผลิตยางพารารวมทั่วโลกราว 13.2 ล้านตันในปี 2017 ส่งผลให้สต็อกของยางพาราโลกไม่ได้ลดลง นอกจากนี้ ความพยายามจำกัดปริมาณส่งออกยางพาราที่แม้จะส่งผลต่อการปรับตัวของราคายางพาราในระยะสั้น แต่กลับทำให้สต็อกเพิ่มขึ้นในระยะกลางและกดดันต่อราคายางในระยะกลางต่อไป ในขณะเดียวกันประเทศต่างๆ ในอาเซียนมีกลยุทธ์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา ตามข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ โดยสองประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ เวียดนามและมาเลเซีย

 

 

โดยเวียดนามมีการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราโดยเน้นในส่วน plantation ด้วยการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อเพิ่มผลผลิตของยางพารา ซึ่ง IRSG (International Rubber Study Group) คาดว่าผลผลิตยางพาราของเวียดนามจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8.5% ต่อปีในช่วงตั้งแต่ปี 2013 ถึง 2020 จาก 0.7 ล้านตันเป็น 1.3 ล้านตัน
โดยเวียดนามมีข้อได้เปรียบจากต้นทุนทางด้านแรงงานที่ต่ำ และผลผลิตต่อไร่ที่สูงถึง 271 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเทียบกับไทยที่มีผลผลิตต่อไร่ราว 241 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ บริษัทยางพาราในเวียดนามยังได้มีการขยายพื้นที่ปลูกในกัมพูชาและลาวอีกด้วย โดย Vietnam Rubber Group และ Hoang Anh Gia Lai Group มีพื้นที่ปลูกยางพาราราว 6.25 แสนไร่และ 1.8 แสนไร่ในสองประเทศดังกล่าว ตามลำดับ ในขณะที่มาเลเซียมีกลยุทธ์ในการลดพื้นที่ปลูกยางพาราและพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการเพิ่มมูลค่าคือถุงมือยางอย่างต่อเนื่องและครบวงจร ทำให้อุตสาหกรรมถุงมือยางในประเทศเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูลจาก Malaysian Rubber Board พบว่าการผลิตถุงมือยางของมาเลเซียเพิ่มขึ้นจาก 1.2 หมื่นล้านคู่ในปี 2000 มาเป็น 3.4 หมื่นล้านคู่ในปี 2015 หรือเติบโตเฉลี่ยราว 7.5% ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ อุตสาหกรรมถุงมือยางสร้างมูลค่าการส่งออกให้แก่มาเลเซียถึง 2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2015 ซึ่งสร้างมูลค่ามากกว่าการส่งออกยางแผ่นรมควันชั้น 3 กว่า 6.4 เท่า นอกจากนี้ การส่งออกในรูปถุงมือยางยังลดความเสี่ยงจากการผันผวนของราคายางพาราต่อการส่งออก

 

 

จะเห็นได้ว่าเวียดนามและมาเลเซียประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราโดยเลือกพัฒนาเฉพาะส่วนของซัพพลายเชนที่เหมาะสมกับข้อได้เปรียบของประเทศ สำหรับประเทศไทยควรพัฒนาอุตสาหกรรมในส่วนที่มีการเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งถุงมือยางโดยมีเหตุผลหลักคือ 1.) อุตสาหกรรมถุงมือยางมีการเติบโตในอนาคตที่สูง จากการเติบโตของอุตสาหกรรมสุขภาพและอัตราส่วนผู้สูงอายุต่อประชากรรวมที่เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการใช้ถุงมือยางพาราของโลกจะโตราว 7.5% ในช่วงตั้งแต่ปี2018 - 2020 2.) บริษัทผู้ผลิตถุงมือยางมี Return on Equity (ROE) สูงโดย ROE เฉลี่ย 3 ปีตั้งแต่ปี 2014 - 2016 สูงถึง 15.0%เมื่อเทียบกับผู้แปรรูปยางพาราขั้นต้นที่มี ROE เฉลี่ยเพียง 1.8% เท่านั้น 3.) ไทยมีความพร้อมทางด้านวัตถุดิบในฐานะผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงค่าแรงที่ถูกกว่ามาเลเซีย โดยสำหรับบริษัทที่ต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมถุงมือยาง ควรมีความเข้าใจด้านการตลาด know-how และความเข้าใจในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยปัจจัยทั้งสองจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญในการประสบความสำเร็จของบริษัทในอุตสาหกรรมนี้ สำหรับไทยควรสนับสนุนอุตสาหกรรมถุงมือยางอย่างเป็นระบบและครบวงจร ภาครัฐควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง โดยสนับสนุนตั้งแต่การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้า เช่น ถุงมือยางพาราที่มีโอกาสก่อให้เกิดการแพ้ต่ำ สนับสนุนการพัฒนาทางด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และแบรนด์เพื่อสร้างตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ เช่น การลดภาษีด้วยการนับค่าใช้จ่ายในการออกแบบและพัฒนาแบรนด์

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ