SHARE
FLASH
14 กุมภาพันธ์ 2018

กนง. คงดอกเบี้ย มองค่าเงินบาทยังน่าห่วง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018

ผู้เขียน: วชิรวัฒน์ บานชื่น  

 

Analysis.png

keypoint.jpg

    • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2018

    • กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัวชัดเจนมากขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่โตต่อเนื่อง ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อครัวเรือนมีการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และปัญหาเชิงโครงสร้างในตลาดแรงงาน สำหรับการลงทุนภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจแม้ชะลอลงบ้าง สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตามยังคงเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

    • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

    • ภาวะการเงินโดยรวมอยู่ในระดับผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ด้านสินเชื่อ SMEs เริ่มปรับดีขึ้นในหลายธุรกิจและหลายพื้นที่

    • กนง. ยังคงติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่มีความผันผวนสูงขึ้นชัดเจน โดยมีสาเหตุหลักจากความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินการคลังของประเทศอุตสาหกรรมหลัก นอกจากนี้ เศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

 

Implication.png

886_20100622103105.gif

อีไอซีคาด กนง. คงดอกเบี้ยต่อไปจนถึงปี 2018

  • อีไอซีคาด กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ต่อเนื่องในช่วงต้นปี 2018 เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ยังอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย และการฟื้นตัวของกำลังซื้อที่ยังไม่ทั่วถึง จะทำให้ กนง. ไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งปีแรก


  • ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงต้นปี 2018 จากปัจจัยต่างประเทศ เช่น stock market correction ในสหรัฐฯ ที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงในช่วงสั้นๆ อย่างไรก็ตาม อีไอซีมองว่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าได้ต่อเนื่อง ทำให้โอกาสที่ กนง. จะมีมาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอาจเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต

 

ตารางสรุปคำแถลงการณ์ของ ธปท.  เทียบกับการประชุมครั้งก่อน 

 

หัวข้อ

 

การประชุมครั้งก่อน

(20 ธ.ค. 2017)

 

การประชุมครั้งนี้

(14 ก.พ. 2018)

เศรษฐกิจไทย

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากรายได้ที่ปรับดีขึ้นยังไม่กระจายตัวเท่าที่ควร รวมทั้งหนี้ภาคครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญแม้การเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าออกไปบ้าง เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความเสี่ยงที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ 

เศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้จากการส่งออกสินค้าและบริการที่โตต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลก การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีโดยเฉพาะหมวดสินค้าคงทน อีกทั้งยังได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ อย่างไรก็ดี กำลังซื้อครัวเรือนยังปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นต่อไป ด้านการใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญแม้การเบิกจ่ายงบลงทุนจะล่าช้าออกไปบ้าง สำหรับความเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

สถานการณ์เงินเฟ้อ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นเล็กน้อยตามราคาพลังงานที่ทยอยปรับสูงขึ้น ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ปรับดีขึ้นบ้างแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต ในระยะต่อไปอัตราเงินเฟ้อทั่วไปยังมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างช้าๆ ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามการ
ฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ช้ากว่าในอดีต

ความเสี่ยงที่ กนง. ติดตาม

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ

2. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

6. สถานการณ์แรงงานต่างด้าว

1. นโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ

2. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์

3. ความสามารถชำระหนี้ของธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม

4. พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield)

5. การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

มติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.50%

เหตุผลของกนง.

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและพัฒนาการเงินเฟ้อ นโยบายการเงินจึงควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง

การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้น แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและ

พัฒนาการเงินเฟ้อ นโยบายการเงินจึงควรอยู่ในระดับผ่อนปรนต่อไปเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง


EIC_Infographic_policy_rate_feb20180214.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ