SHARE
SCB EIC ARTICLE
19 มกราคม 2018

AI First: ยุคแห่งนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์

“เมื่อผมมองไปข้างหน้า มองไปถึงทิศทางว่าการประมวลผล (Computing) กำลังมุ่งหน้าไปทางไหน สำหรับผมแล้วมันชัดเจนว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากโลกที่โทรศัพท์มือถือมาเป็นอันดับแรก (Mobile First world) ไปสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์มาเป็นอันดับแรก (AI First world)”

ผู้เขียน: ปางอุบล อำนวยสิทธิ์

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนมกราคม 2018

 

 iStock-846115830.jpg

 

 

“เมื่อผมมองไปข้างหน้า มองไปถึงทิศทางว่าการประมวลผล (Computing) กำลังมุ่งหน้าไปทางไหน สำหรับผมแล้วมันชัดเจนว่าเรากำลังเปลี่ยนผ่านจากโลกที่โทรศัพท์มือถือมาเป็นอันดับแรก (Mobile First world) ไปสู่ยุคของปัญญาประดิษฐ์มาเป็นอันดับแรก (AI First world)”

 

Sundar Pichai, Google’s CEO

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์ (9 สิงหาคม 2017)

 

 

AI First คืออะไร?

AI First คือ ยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI)1 จะกลายมาเป็นผู้ช่วยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ ซึ่งในปัจจุบัน แม้ว่านวัตกรรมนี้อยู่รอบตัวของทุกคนอยู่แล้ว เช่น การคัดกรอง spam email ของ Gmail หรือ Google Search ที่แสดงผลการค้นหาตามภาษา สถานที่ และประวัติการค้นหาของผู้ใช้ เป็นต้น แต่ในยุค AI First นั้น นวัตกรรมนี้จะก้าวหน้ามากขึ้น เช่น จากการคัดกรอง spam email ต่อไป Gmail จะสามารถคัดแยก email ตามลำดับความสำคัญได้อย่างแม่นยำ และ Google Search จะแสดงสิ่งที่ผู้ใช้สนใจโดยอัตโนมัติในช่วงเวลาที่เหมาะสม เป็นต้น

 

ความสามารถของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นั้นกว้างมาก แต่ยังถูกนำมาใช้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น โดยปัจจุบันมูลค่าทางเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนโดยปัญญาประดิษฐ์แบบ Supervised Learning เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่ง Supervised Learning คือการที่ปัญญาประดิษฐ์แปลผลจากชุดข้อมูล (Point A) ไปสู่ผลลัพธ์ (Point B) โดยอาศัย “การเรียนรู้” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่แล้ว เพื่อหารูปแบบและความสัมพันธ์ระหว่างชุดข้อมูล และนำไปช่วยในการหาผลลัพธ์อย่างแม่นยำ เมื่อมีข้อมูลที่คล้ายคลึงกันเข้ามาใหม่ เช่น การระบุ spam email การแปลงไฟล์เสียงไปเป็นข้อความ และการตรวจจับใบหน้า เป็นต้น

 

ทั้งนี้ Andrew Ng2 เคยกล่าวไว้ว่า ปัญญาประดิษฐ์จะเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมเหมือนที่ไฟฟ้าเคยเปลี่ยนมาแล้วเมื่อร้อยกว่าปีที่ผ่านมา และจะเข้าไปมีบทบาทในแทบทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการคมนาคม การแพทย์ การเงินการธนาคาร และการเกษตร  นอกจากนี้ Andrew Ng ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ทุกการตัดสินใจที่มนุษย์สามารถทำได้ภายใน 1 วินาที จะสามารถถูก automated ได้ด้วยปัญญาประดิษฐ์” ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้ "common sense" จะกลายเป็นสิ่งที่คอมพิวเตอร์ตัดสินใจได้อย่างง่ายดาย และหุ่นยนต์ผู้ช่วยจะทำให้การดำเนินกิจวัตรประจำวันของมนุษย์ง่ายขึ้น

 

ทำไมธุรกิจควรสนใจ AI First?

 

ปัญญาประดิษฐ์จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ โดยจากการสำรวจผู้บริหารทั่วโลกของ Tata Consultancy Service บริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยี พบว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะเพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจทั้งในด้านการส่งเสริมการขาย การตลาด การบริการหลังการขาย การวางแผนและพัฒนาองค์กร รวมไปถึงด้านทรัพยากรบุคคล ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็นได้ว่า ปัญญาประดิษฐ์จะอยู่ในแทบทุกการดำเนินงานของธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหาร McKinsey & Company ได้คาดการณ์ว่า ปัญญาประดิษฐ์ และ Automation จะเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางผลิตภาพการผลิตของเศรษฐกิจโลกได้ถึง 0.8-1.4% ต่อปี ระหว่างปี 2015-2065

 

สำหรับธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้าสู่ยุค AI First นั้น จากการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี Gartner พบว่า เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามามีบทบาทต่อทุกกลุ่มธุรกิจทุกขนาด บริษัทต่างๆ จะลงทุนกับเทคโนโลยี AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันให้แก่ธุรกิจตัวเอง ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่ มหาวิทยาลัย MIT’s Sloan ศึกษาร่วมกับ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหาร Boston Consulting Group จากการสำรวจผู้บริหาร ผู้จัดการ และนักวิเคราะห์ทั่วโลกกว่า 3,000 คน3] 63% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาส่งเสริมธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม ดังนั้น การทำความเข้าใจและปรับกลยุทธ์ธุรกิจให้เหมาะสมกับยุค AI First จะสร้างความได้เปรียบให้แก่องค์กร

 

ถ้าจะดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในยุค AI First ต้องทำอย่างไร?

 

ปัจจัยที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์เป็นตัวขับเคลื่อนมี 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) ข้อมูล และ 2) ทรัพยากรมนุษย์

 

จำนวนข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ เนื่องจาก เทคโนโลยี AI ในช่วงเริ่มต้นนั้น จำเป็นต้องมีข้อมูลให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้ก่อนจะนำไปวิเคราะห์สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ดังนั้น ยิ่งข้อมูลมีจำนวนมาก ก็ยิ่งเพิ่มความแม่นยำในการทำงานของปัญญาประดิษฐ์ เช่น Baidu ที่มีข้อมูลเสียงกว่า 50,000 ชั่วโมง และข้อมูลรูปภาพมากกว่า 200 ล้านรูป ทำให้ปัญญาประดิษฐ์สามารถแปลงเสียงเป็นข้อความ และตรวจจับรูปภาพได้อย่างแม่นยำ จากการที่ข้อมูลมีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยี AI ธุรกิจจึงควรพิจารณาถึงปริมาณข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ว่าเพียงพอต่อการนำมาใช้กับปัญญาประดิษฐ์หรือไม่ นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการจัดเก็บข้อมูลให้ทันสมัยก็จะช่วยในด้านการส่งผ่านข้อมูลไปให้ปัญญาประดิษฐ์และลดต้นทุนในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ให้แก่ธุรกิจอีกด้วย

 

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ ทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้ตอบโจทย์ธุรกิจ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะเริ่มมีโปรแกรมสำเร็จรูปเพิ่มมากขึ้น แต่ธุรกิจแต่ละธุรกิจยังมีโจทย์ที่แตกต่างกัน บุคลากรที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่สร้างองค์ความรู้จากข้อมูลที่มีอยู่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า หรือแก้ปัญหาทางธุรกิจได้ จะสร้างความได้เปรียบและเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันให้แก่องค์กร หากแต่การสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านปัญญาประดิษฐ์และธุรกิจเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น การจัดตั้งทีมที่รวบรวมผู้ที่สามารถพัฒนาชุดคำสั่งของปัญญาประดิษฐ์ และผู้ที่เชี่ยวชาญและเข้าใจธุรกิจนั้นๆ จึงอาจเป็นทางเลือกที่สามารถทำได้ง่ายกว่า เช่น จัดตั้งทีมที่มีทั้ง Data Scientist Machine Learning Engineer และ Business Manager เป็นต้น 

 

นอกจากปัจจัยด้านข้อมูลและบุคลากรแล้ว ธุรกิจยังควรปรับรูปแบบของผลิตภัณฑ์ที่จะสามารถจัดเก็บข้อมูลจากผู้ใช้ กลับมาเป็นฐานข้อมูลได้ เช่น การทำแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือคำนึงถึงการใช้ Internet of Things4 กับผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่ดีจะดึงดูดผู้ใช้บริการ ในขณะที่ธุรกิจก็จะได้ข้อมูลจากผู้ใช้ และนำข้อมูลเหล่านั้นมาให้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์ของ Facebook ที่มีการพัฒนาตลอดเวลาเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการ ทำให้ Facebook ได้รับข้อมูลจำนวนมหาศาลจากผู้ใช้บริการ ทั้งข้อมูลรูปภาพที่มาพร้อมการระบุตัวตน และข้อมูลสเตตัสของผู้ใช้บริการ ซึ่ง Facebbok นำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของธุรกิจ

 

ตัวอย่างธุรกิจที่ปรับตัวเข้าสู่ยุด AI First

 

ในปัจจุบัน ธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลมหาศาลได้ และเป็นเจ้าของนวัตกรรม AI อยู่แล้ว เช่น Amazon ที่มี Amazon Web Services (AWS) และนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ Alexa เป็นรายได้สำคัญของบริษัท หรือ Alphabet บริษัทแม่ของ Google ที่รายได้ในไตรมาส 2 ปี 2017 ในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้นถึง 42% จากปี 2016 เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่มีขนาดรองลงมา และบริษัทสตาร์ทอัพ ก็เริ่มพยายามนำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจของตนเองมากขึ้น เช่น ColourPop บริษัทเครื่องสำอางที่มีตัวแทนจำหน่ายทั่วโลก ที่เปลี่ยนกลยุทธ์การขายมาเน้น mobile commerce มากขึ้น แต่อุปสรรคที่พบคือ การค้นหาสินค้าเป็นเรื่องยากสำหรับลูกค้าที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังต้องการอะไร และการแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือมีพื้นที่จำกัด ColourPop จึงร่วมพัฒนานวัตกรรม AI กับทีม Qubit สำหรับแนะนำลูกค้าถึงผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ร่วมกันได้ เช่น หากลูกค้าสนใจลิปสติกสีชมพู Qubit จะแนะนำอายแชโดว์ที่เข้ากับลิปสติกนั้น เป็นต้น ซึ่งหลังจากเปิดให้ใช้ฟังก์ชันนี้ มีผู้ใช้ราว 31% และรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น 4% จากกลุ่มลูกค้าที่ใช้ฟังก์ชันนี้

 

ส่วนธุรกิจในประเทศไทยนั้น เริ่มมีการตื่นตัวที่จะประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์กับธุรกิจมากขึ้น ทั้งด้านการเงินการธนาคาร การแพทย์ และโทรคมนาคม โดยเฉพาะในวงการธนาคารที่ต่างมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Mobile Banking ของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปิดตัว SCB Easy Digital Lending ของธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ผู้ใช้บริการแอปพลิเคชัน SCB Easy สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ภายใน 3 นาที และใช้บริการได้ 24 ชั่วโมง ซึ่งบริการนี้มีหัวใจสำคัญคือปัญญาประดิษฐ์และการวิเคราะห์ข้อมูล ที่ทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอสินเชื่อได้เหมาะสมกับพฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคนได้ เป็นต้น อีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทสตาร์ทอัพไทยที่พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ คือ บริษัท AIYA ที่พัฒนาแพลตฟอร์มเอาไว้สร้าง Chatbot Application สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการพัฒนา Chatbot ขึ้นมาเอง AIYA เริ่มมาจากการทำระบบรวบรวมข้อมูลลูกค้าที่มาใช้บริการ Co-Working Space ของบริษัท และต่อมาจึงได้นำ Machine Learning และพัฒนา AIYA ให้เป็น Chatbot ที่รองรับภาษาไทย และในอนาคตจะมีธุรกิจไหนอีกบ้างที่จะนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ คงต้องติดตามกันต่อไป

 


 

1 ปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถคล้ายมนุษย์ ซึ่งรวมไปถึงการเรียนรู้ และ self-correction หนึ่งในสาขาของปัญญาประดิษฐ์ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก คือ Machine Learning
2 Andrew Ng เป็นอดีต Chief Scientist และเป็นหัวหน้าทีมพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่บริษัท Baidu ทั้งยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Coursera แพลตฟอร์มเรียนออนไลน์ และอาจารย์พิเศษที่ Stanford University สหรัฐอเมริกา

3 ที่มา: S. Ransbotham, D. Kiron, P. Gerbert and M. Reeves, “Reshaping Business with Artificial Intelligence – Closing the Gap Between Ambition and Action” Sep 06, 2017, www.sloanreview.mit.edu.
4 Internet of Things (IoT) คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต และสามารถสื่อสารกันโดยอาศัยตัว wireless sensor network ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการเชื่อมต่อนั้น จะถูกส่งไปยังฐานข้อมูลของเจ้าของผลิตภัณฑ์

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ