SHARE
SCB EIC ARTICLE
29 มกราคม 2018

ความท้าทายของการเป็นสังคมไร้เงินสด

การชำระเงินค่าสินค้ากลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนเรา แต่วิธีการชำระเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยในอนาคตเงินสดแบบกายภาพ เช่น ธนบัตร และเหรียญ อาจถูกแทนที่ด้วยเงินเสมือนจริง ในยุคหนึ่งเราเคยจ่ายค่ากาแฟด้วยเงินธนบัตร แต่การแพร่หลายของบัตรแทนเงินสด ทำให้เราหันมาใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแทน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนได้เข้ามาปฏิวัติวงการการชำระค่าสินค้าและบริการ ทำให้ธุรกรรมการเงินสามารถเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่กี่วินาทีหลังจากการสแกนบาร์โค้ดบนโทรศัพท์มือถือ

ผู้เขียน: วีรวรรณ ฉายานนท์

 

iStock-885764280.jpg

 

การชำระเงินค่าสินค้ากลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของคนเรา แต่วิธีการชำระเงินกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยในอนาคตเงินสดแบบกายภาพ เช่น ธนบัตร และเหรียญ อาจถูกแทนที่ด้วยเงินเสมือนจริง ในยุคหนึ่งเราเคยจ่ายค่ากาแฟด้วยเงินธนบัตร แต่การแพร่หลายของบัตรแทนเงินสด ทำให้เราหันมาใช้บัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตแทน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนได้เข้ามาปฏิวัติวงการการชำระค่าสินค้าและบริการ ทำให้ธุรกรรมการเงินสามารถเสร็จสิ้นภายในเวลาไม่กี่วินาทีหลังจากการสแกนบาร์โค้ดบนโทรศัพท์มือถือ

 

การชำระค่าสินค้าโดยไม่ใช้เงินสด หรือ cashless payment กำลังเป็นที่นิยมในหลายๆ ประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะจีนและเกาหลีใต้ ที่กำลังก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดได้รวดเร็วกว่าประเทศอื่น ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูง และประชากรที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนอย่างแพร่หลาย ผลสำรวจของ Pew Research Centre ในปี 2015 ระบุว่าประชากรผู้ใหญ่ 65% ในจีน และ 94% ในเกาหลีใต้มีอินเทอร์เน็ตใช้ และ 58% ของประชากรผู้ใหญ่ในจีนมีสมาร์ทโฟนใช้ เช่นเดียวกับ 88% ในเกาหลีใต้

 

ผู้บริโภคจีนจำนวนมากสามารถปรับตัวเข้ากับระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้ดี และนิยมวิธีการชำระเงินแบบนี้เป็นอย่างมาก ผลสำรวจทั่วโลกของ KPMG พบว่า 85% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวจีนพึงพอใจที่จะจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราว 66% ของผู้ถูกสอบถาม นอกจากนี้ บริษัทที่ปรึกษา iResearch ยังรายงานว่า การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ของการชำระเงินในธุรกรรมค้าปลีกทั้งหมดในจีน หรือคิดเป็นจำนวนเงิน 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยผู้บริโภคนิยมชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน Alipay ของกลุ่ม Alibaba Group Holdings และแอปพลิเคชัน WeChat Pay ของกลุ่ม Tencent Holdings นอกจากนี้ บริษัทวิจัยด้านการลงทุน CLSA คาดการณ์ว่า การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ในจีน จะพุ่งสูงถึง 45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2021

 

บริษัทต่างๆ ในจีนพยายามชนะใจลูกค้าโดยการอำนวยความสะดวก ส่งเสริมการเข้าถึง และจัดหาแรงจูงใจต่างๆ เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ร้านค้าต่างๆ ในจีนตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อเล็กๆ ไปจนถึงภัตตาคารชั้นนำยินดีรับชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแทบทั้งสิ้น และในบางกิจการไม่ยอมรับเงินสดเลยด้วยซ้ำ เช่น ธุรกิจให้เช่าจักรยาน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายแห่งในจีนยังหยิบยื่นข้อเสนอต่างๆ เพื่อดึงดูดลูกค้า ตัวอย่างเช่น กองทุนตลาดเงิน Yu’e Bao ของ Alibaba เสนอดอกเบี้ยที่ดีกว่าให้แก่นักลงทุนที่ชำระเงินผ่าน Alipay กลยุทธ์ที่ชาญฉลาดนี้ทำให้ Yu’e Bao กลายเป็นกองทุนตลาดเงินที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีสินทรัพย์รวมสูงถึง 233 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ข้อมูล ณ เดือนพฤศจิกายน 2017)

 

ในขณะเดียวกันประชาชนเกาหลีใต้จำนวนมากก็นิยมชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต และโทรศัพท์มือถือเช่นกัน ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (Bank of Korea) รายงานว่า การชำระเงินด้วยเงินสดคิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของการชำระเงินทั้งหมด ทั้งนี้ การชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเริ่มได้รับความนิยมหลังจากการเปิดตัวของ T-money ในปี 2004 ซึ่งเริ่มจากบริการการจ่ายค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะผ่านทางบัตรสะสมมูลค่า ต่อมา T-money ได้สร้างแรงจูงใจและเพิ่มเติมความสะดวกสบายในหลากหลายด้าน เช่น การลดราคาค่าโดยสาร ส่วนลดในห้างร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ และแผ่นชิปที่สามารถใช้งานได้กับโทรศัพท์มือถือและบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตทั่วไป

 

ความสำเร็จของ T-money ความนิยมในสมาร์ทโฟน และข้อบังคับทางการเงินที่เริ่มผ่อนคลายลงตั้งแต่ปี 2015 ส่งผล Fintech ยุคใหม่ในเกาหลีใต้ถูกพัฒนาอย่างก้าวประโดด โดยบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างๆ เช่น Naver Kakao และ Samsung กำลังทุ่มทุนพัฒนาระบบการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือของตัวเองเพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ นอกจากนี้ ธนาคารกลางเกาหลีใต้ได้แสดงจุดยืนที่จะก้าวไปสู่ความเป็นสังคมไร้เงินสดภายในปี 2020 โดยเริ่มต้นจากการทยอยยุติการใช้เหรียญกษาปณ์มูลค่าต่ำ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มไม่นิยมพกพาเหรียญ และต้นทุนการผลิตเหรียญยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

แม้จีนและเกาหลีใต้จะเป็นกรณีศึกษาด้านความสำเร็จในการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ แต่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่มีโครงสร้างพื้นฐานด้านการชำระเงินที่มั่นคง กลับมีอัตราการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือในระดับต่ำกว่าที่คาด เช่น ญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีช่องทางการชำระเงินออนไลน์จำนวนมาก เช่น Suica Pasmo และ ICOCA แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกลับพบว่า ธุรกรรมการเงินผ่านแอปพลิเคชันเหล่านี้มีมูลค่าเพียง 5.1 ล้านล้านเยน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในปี 2016 นอกจากนี้ รายงานของบริษัทประกันภัย Meiji Yasuda พบว่า 70% ของชาวญี่ปุ่นในทุกกลุ่มอายุนิยมใช้เงินสดมากกว่า สาเหตุอาจจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซามาตั้งแต่ปี 1990 ชาวญี่ปุ่นจึงระมัดระวังการใช้จ่าย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เงินสดถูกมองว่าเป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้และควบคุมได้ นอกจากนี้ อัตราอาชญากรรมที่ต่ำของญี่ปุ่นทำให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในการพกพาเงินสด ในทางกลับกัน ผู้บริโภคญี่ปุ่นกลับมีความกังวลด้านความปลอดภัยของข้อมูลและความเป็นส่วนตัวในกรณีที่ต้องทำธุรกรรมผ่านระบบออนไลน์

 

สำหรับสิงคโปร์ บริษัท KPMG รายงานว่า 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจชาวสิงคโปร์ยังคงนิยมการชำระเงินแบบเงินสด สาเหตุหนึ่งก็คือ ประชาชนสามารถเข้าถึงเงินสดได้ง่ายผ่านเครือข่ายตู้ ATM ที่มีอยู่อย่างมากมาย เช่นเดียวกับรายงานของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ระบุว่า จำนวนตู้ ATM ในประเทศได้เพิ่มขึ้นถึง 65% ภายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงตู้ ATM ภายในระยะ 500 เมตรจากบ้านของตน นอกจากนี้ ร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศก็ให้บริการถอนเงินสด (cashback) ปัจจัยเหล่าเองนี้เป็นเหตุให้ชาวสิงคโปร์ยังคงนิยมการทำธุรกรรมด้วยเงินสดมากกว่า

 

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในสิงคโปร์ยังนิยมรับชำระเงินด้วยเงินสด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในการนำระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับผู้พัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์และผู้ออกบัตรเครดิต เช่นเดียวกับเครื่องรูดบัตรที่ผู้ค้าต้องเสียค่าบริการเอง นอกจากนี้ การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบต่างๆ ยังมีระบบการทำงานที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้บริโภคต้องสมัครเข้าใช้งานในหลายระบบ และผู้ประกอบการต้องติดตั้งอุปกรณ์เพื่อรองรับการชำระเงินในรูปแบบต่างๆ

 

บทเรียนจากหลายประเทศข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้เทคโนโลยีการชำระเงินจะมีความก้าวหน้าอย่างมาก แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าและผู้ประกอบการทุกรายได้ ดังนั้น ความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจคือ ทำอย่างไรที่จะดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายเหล่านี้หันมาใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยอีไอซีมองว่าการพัฒนาระบบที่เอื้อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย รวมไปถึงการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ในการใช้งาน จะเป็นพลังขับเคลื่อนให้เกิดสังคมไร้เงินสด อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับเทคโนโลยีการชำระเงินในอนาคตที่มีการคาดการณ์ว่า blockchain และ hashgraph จะเข้ามาเป็นคลื่นลูกใหม่ของวงการการชำระเงินต่อไป

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ