SHARE
SCB EIC ARTICLE
08 มกราคม 2018

เศรษฐกิจ CLMV: เวียดนามมุ่งสู่การเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตดีอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2017 เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัว 6.8%YOY ด้วยแรงส่งจากภาคการเกษตรซึ่งฟื้นตัวจากภัยแล้ง บวกกับภาคการผลิตและการส่งออกที่ขยายตัว 14%YOY และ 21%YOY ตามลำดับ นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามยังอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 5% ทำให้ธนาคารกลางตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนกรกฎาคม เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตถึงเป้าหมายของรัฐบาล

อีไอซีคาดว่าในปี 2018 เศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวที่ระดับ 6.3% โดยมีภาคการผลิต โดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก และการลงทุนเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก รัฐบาลเวียดนามได้ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจและการลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ผ่านการให้สิทธิพิเศษทางการลงทุนต่างๆ โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษทั่วประเทศ รวมถึงข้อกฎหมายที่อำนวยความสะดวกกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น อนุญาตให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจเกือบทุกประเภทได้ 100% นอกจากนี้ ในเดือนกันยายนปี 2017 ธนาคารกลางเวียดนามได้ขยายกรอบการเติบโตของสินเชื่อ (credit growth limit) ของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งขึ้นราว 2-8% เพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจ

ความเสี่ยงหลักของเวียดนามมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสินเชื่อ ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2017 อัตราการเติบโตของสินเชื่อภาคธนาคารในเวียดนามอยู่ที่ 13.5%YOY โดยภาครัฐตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อในปี 2017 ที่ 21% เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การเติบโตที่รวดเร็วของสินเชื่อถือเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของเวียดนาม เนื่องจากมีระดับหนี้สาธารณะค่อนข้างสูง คืออยู่ที่ราว 60% ของ GDP ในปี 2016 ถือว่าสูงเป็นอันดับสองในกลุ่มประเทศ CLMV รองจากลาว ภาครัฐจึงอาจต้องแบกรับภาระหนี้เพิ่มขึ้นในการเข้าช่วยเหลือภาคธนาคาร หากเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคการเงิน (credit bubble)

เวียดนามเตรียมผลักดันประเทศสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีแห่งภูมิภาค ทั้งในแง่ของการเป็นฐานการผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยี และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ เวียดนามวางแผนพัฒนา 3 เมืองใหญ่อย่าง ฮานอย นครโฮจิมินห์ และดานัง ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (smart city) และนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับระบบต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่พลเมือง กับภาคธุรกิจในประเทศ เช่น ระบบการจ่ายภาษีออนไลน์ (e-tax payment) โครงการรัฐบาลดิจิทัล รวมถึงโครงการติดตั้งเครื่องอ่านบัตร (card reader) ณ จุดขายทั่วประเทศเพื่อส่งเสริมสังคมไร้เงินสด โดยธนาคารกลางเวียดนามตั้งเป้าลดอัตราการใช้จ่ายผ่านเงินสดต่อการใช้จ่ายทั้งหมดให้ต่ำกว่า 10% ภายในปี 2020

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2017 ค่าเงินดองอ่อนค่าลงเล็กน้อยราว 1.2%YTD ค่าเงินดองมีแนวโน้มการผันผวนไม่สูงนักในปี 2018 เนื่องจากอยู่ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางเวียดนาม

  • การส่งออกไทยไปเวียดนามขยายตัว 24%YOY ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2017 โดยสินค้าที่มูลค่าการส่งออกเติบโตสูง ได้แก่ ผลไม้สด ผลไม้แปรรูป น้ำมันสำเร็จรูป และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การส่งออกไทยไปเวียดนามจะเติบโตต่อเนื่องในปี 2018 จากการขยายตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่เพิ่มสูงขึ้นของชาวเวียดนาม

  • เวียดนามมีนโยบายที่เปิดกว้างต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งภาครัฐเวียดนามกำลังให้การสนับสนุนเพื่อต่อยอด
    สู่การเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยี นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังส่งเสริมการลงทุนในภาคกลางของประเทศ
    ซึ่งยังมีนักลงทุนเข้าไปน้อย การแข่งขันทางธุรกิจยังไม่สูง จึงถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทย โดยเฉพาะในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้าง และการท่องเที่ยว

 

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_25.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ