SHARE
SCB EIC ARTICLE
08 มกราคม 2018

จีนประกาศเดินหน้าขยายอิทธิพลในเวทีโลกผ่านโครงการ Belt and Road Initiatives

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 iStock-671524674.jpg

 

 

เศรษฐกิจจีนทวีความสำคัญในเวทีโลกมากขึ้นด้วยการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 และเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับ 2 ของโลก ตั้งแต่ปี 2015 และจีนได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่จะเป็นผู้สนับสนุนการค้าแบบเสรีสวนทางกับสหรัฐฯ ที่ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้า นอกจากนี้ ในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 19 ที่ปิดฉากลงในวันที่ 24 ตุลาคม 2017 นายสี จิ้นผิงยังได้กล่าวถึงเป้าหมายการเป็นประเทศทรงอิทธิพลของโลกภายในปี 2050 ทั้งในด้านการค้า การลงทุน และการสนับสนุนการสร้างอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติ ซึ่งเป็นนัยสำคัญว่าจีนจะดำเนินนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบในระยะข้างหน้า

โครงการ Belt and Road Initiatives (BRI) หรือเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 เป็นยุทธศาสตร์หลักในการเดินหน้าเปิดประเทศและขยายอิทธิพลของจีนในเวทีโลก BRI จะเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งและเศรษฐกิจจีนกับ 65 ประเทศ ใน 3 ทวีป ซึ่งจะครอบคลุมราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกและส่งเสริมการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการราว 25% ของการค้าโลกทั้งหมด โดยในระยะแรกของโครงการจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมทางบก Silk Road Economic Belt และทางน้ำ Maritime Silk Road และการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษบนเส้นทาง BRI การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแผนยุทธศาสตร์ BRI อาจต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ6 ซึ่งจีนเป็นผู้นำในการระดมทุนผ่านธนาคารของรัฐ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asia’s Infrastructure Investment Bank: AIIB) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) รวมมูลค่าราว 2.92 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2016 และอีก 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

การเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและประเทศบนเส้นทางสายไหมก่อให้เกิดโอกาสด้านการค้าและการลงทุนจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าและการลงทุนอย่างเสรี จีนเตรียมปรับแก้กฎหมายส่งเสริมการแข่งขันอย่างเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนชาวต่างชาติและชาวจีนและปฏิรูประบบภาษีเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจมากขึ้น พร้อมทั้งการประกาศใช้ Negative list approach หรือการระบุรายการที่ไม่เปิดเสรีทั่วประเทศในปี 2018 นี้

ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งชาติจีนเริ่มเปิดเสรีภาคการเงินเพื่อสนับสนุนโครงการ BRI โดยมีโครงการสำคัญคือ Bond Connect ที่เปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติมีส่วนร่วมในตลาดพันธบัตรหยวนในฮ่องกงและส่งผลให้ฮ่องกงกลายเป็นตลาดสำคัญในการระดมทุนสำหรับโครงการ BRI ในอนาคต นอกจากนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจะส่งเสริมการใช้เงินหยวนในประเทศต่างๆ บนเส้นทางสายไหม สอดคล้องกับความพยามยามของธนาคารแห่งชาติจีนที่ต้องการให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลและจะยืดหยุ่นค่าเงินหยวนให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น

แม้โครงการ BRI จะถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่เริ่มชะลอตัวลงและการหาตลาดใหม่เพื่อระบายสินค้าจากการผลิตส่วนเกินในประเทศ แต่จีนเน้นย้ำว่าโครงการ BRI จะมอบประโยชน์ให้แก่ทุกฝ่าย ซึ่งมีประเทศบนเส้นทางสายไหมใหม่จำนวนมากให้ความสนใจและเข้าร่วมในโครงการ อีไอซีมองว่าอาเซียนและไทยจะได้รับประโยชน์จากการเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์และเศรษฐกิจนี้ด้วยเช่นกัน โดยคาดการณ์ว่าเม็ดเงินลงทุนภายใต้โครงการ BRI ราว 7.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี จะไหลเข้าสู่ในทวีปเอเชีย และราว 60% ของเงินลงทุนดังกล่าวจะไหลเข้ามาที่ภูมิภาคอาเซียน การลงทุนโดยตรงจากจีนและต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและที่ตั้งของไทยที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในหลายด้าน ทั้งการค้า การลงทุน และการเป็นศูนย์กลางด้านต่างๆ ของภูมิภาค อาทิ การเงิน การท่องเที่ยวและโลจิสติกส์ ทั้งนี้ ในเดือนกันยายน 2017 ไทยได้ลงนามความร่วมมือกับจีนในโครงการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 มูลค่า 5,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางเชื่อมต่อภายใต้โครงการ BRI นอกจากนี้ รัฐบาลไทยมีความพยายามที่จะดึงดูดการลงทุนด้านเทคโนโลยีจากจีนเข้ามาในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้ก้าวทันจีนและโลก ดังนั้น หากจีนสามารถผลักดันให้เกิดความร่วมทางเศรษฐกิจอย่างเหนียวแน่นกับนานาประเทศภายใต้ BRI ได้สำเร็จ อิทธิพลของจีนในเวทีโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองจะแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

 

 

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ