SHARE
SCB EIC ARTICLE
08 มกราคม 2018

เศรษฐกิจญี่ปุ่น: เติบโตต่อเนื่องจากการส่งออก และการฟื้นตัวของภาคบริโภคครัวเรือน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2018 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2017 ขยายตัว 2.5%QOQ SAAR4 หรือ 2.1%YOY ด้วยแรงส่งหลักจากภาคการส่งออกซึ่งเติบโต 1.5%QOQ SA5 ในขณะที่
การบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งเป็นแรงส่งหลักของเศรษฐกิจในไตรมาสก่อนกลับหดตัว -0.5%QOQ SA อย่างไรก็ดี ภาพรวมของการบริโภคภาคเอกชนไม่ได้เป็นที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากตัวเลขบ่งชี้อื่นๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและมูลค่าค้าปลีกยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อีไอซีมองว่าการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งปี 2017 เติบโต 1.5%

 

ในปี 2018 อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวต่อเนื่องราว 1.2% จากอุปสงค์ภายในประเทศ นำโดยการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีแนวโน้มเติบโตดี รัฐบาลอาเบะที่ได้รับเลือกให้บริหารประเทศต่อไปเป็นสมัยที่ 3 ได้ชูนโยบายเน้นสนับสนุนสวัสดิการทางสังคม เช่น ขยายการเข้าถึงการศึกษาและการเข้าถึงสถานรับเลี้ยงเด็กสำหรับครอบครัวรายได้น้อย ซึ่งน่าจะส่งผลบวกโดยตรงต่อการบริโภคครัวเรือน นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังมีแนวโน้มคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปในปี 2018 เพื่อผลักดันเงินเฟ้อให้ถึงระดับเป้าหมายที่ 2% ภายในปีงบประมาณ 2019

 

ความเสี่ยงของญี่ปุ่นในระยะต่อไปมาจากค่าจ้างแรงงานที่ยังฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจกดดันการบริโภคภาคครัวเรือน แม้ค่าจ้างรวมจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวแต่ก็เป็นไปอย่างเชื่องช้า ตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นยังมาจากการจ้างพนักงานเงินเดือนต่ำเป็นส่วนใหญ่ เช่น นักศึกษาจบใหม่ เป็นผลให้ค่าจ้างยิ่งขยายตัวได้ช้า อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีอาเบะได้เรียกร้องให้บริษัทในญี่ปุ่นปรับค่าจ้างขึ้น 3% ในปี 2018 และอาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่บริษัทที่ตัดสินใจปรับขึ้น
ค่าจ้าง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการบริโภคครัวเรือน รวมถึงอัตราเงินเฟ้อต่อไปในอนาคต

 

จับตาความคืบหน้าข้อตกลงทางการค้า CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) หรือข้อตกลง TPP (Trans-Pacific Partnership) ในชื่อใหม่ที่มีญี่ปุ่นขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่ หลังสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงไปเมื่อต้นปี 2017 สมาชิก 11 ประเทศที่เหลือเห็นชอบที่จะคงเนื้อหาข้อตกลงเช่นเดียวกับ TPP แต่ระงับข้อตกลงบางประการที่ผลักดันโดยสหรัฐฯ เช่น การขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิทางปัญญา และอื่นๆ โดยข้อตกลง CPTPP จะมีผลบังคับใช้ภายใน 60 วันหลังจากประเทศสมาชิกอย่างน้อย 6 ประเทศลงนามยอมรับ ทั้งนี้ CPTPP จะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันทั้งในแง่ของการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและการส่งออก เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นสมาชิก CPTPP จึงไม่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีการค้าระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก โดยมูลค่าส่งออกจากไทยไปยังประเทศสมาชิก CPTPP คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการส่งออกปี 2016

 

 

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

  • แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวดี แต่อีไอซีมองว่าค่าเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงสู่ระดับ 116 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสแรกของปี 2018 จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10 ปีระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น

  • การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นขยายตัว 8.6%YOY ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2017 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะส่งผลดีต่อการส่งออกไทยอย่างต่อเนื่องในปี 2018 โดยเฉพาะในสินค้าหมวดโทรศัพท์และส่วนประกอบที่มูลค่าส่งออกกำลังเติบโตได้ดี

  • การลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตขึ้นในปี 2018 จากการผลักดันโครงการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยในเดือนพฤศจิกายน 2017 ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ได้นำคณะนักธุรกิจเยี่ยมประเทศไทย และวางแผนดึง SME ของจังหวัดมาลงทุนที่ EEC ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาคธุรกิจของจังหวัดมีความเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางเกษตร และการแพทย์ เป็นต้น

 

Outlook_TH_Q1_2018s_Page_16.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ